BMI <18 ผอมเกินมาตรฐาน
เพิ่มน้ำหนักตัวให้พอดี กระดูกแข็งแรง ไม่เสี่ยงป่วย
ในอดีต คนผอมมักเกิดจากปัญหาทุพโภชนาการหรือขาดสารอาหาร แต่ในปัจจุบันหากไม่เกิดจากพฤติกรรมเลือกกินมากไป ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานมากกว่าปกติ หรือมีกิจกรรมที่ใช้พลังงานเกินพอดี ก็มักมีปัญหาหลักเกี่ยวกับโรคทางใจ โดยเฉพาะโรคกลัวอ้วน จนทำให้ไม่ยอมกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสม หรือกินแล้วมีพฤติกรรมล้วงคอให้อาเจียนหรือสวนให้ขับถ่าย เป็นต้น
พยากรณ์สุขภาพ บีเอ็มไอ <18
พันโทหญิง แพทย์หญิงสุมาภา ชัยอำนวย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่ม ประจำกองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อธิบายว่า คนที่มีค่าบีเอ็มไอต่ำกว่า 18 มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่อไปนี้
1. กลุ่มโรคทางใจ โดยเฉพาะโรคกลัวอ้วน อาทิ โรคบูลิเมีย โรคอนอเร็กเซียซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียอื่นๆ ต่อร่างกายตามมา
2. กลุ่มโรคติดเชื้อ เนื่องจากการรับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ มีโปรตีนในเลือดต่ำทำให้ร่างกายผลิตภูมิต้านทานน้อยลง ไม่พอที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ได้
3. โรคกระดูกพรุนและภาวะกระดูกเปราะหักง่าย เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ร่างกายสร้างเซลล์กระดูกเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับน้ำหนักตัว ขณะที่คนผอมเกินไปทำให้ร่างกายมีการลงน้ำหนักตัวน้อย การสร้างเซลล์กระดูกจึงน้อยลงไปด้วยทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกบางและพรุนตามมา และเสี่ยงกระดูกหักได้ในอนาคต
4. ประจำเดือนมาไม่ปกติ เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายทำงานไม่สมดุล
5. ผิวแห้งแตก กร้าน ไม่แข็งแรง เนื่องจากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
How to Fit : 3 Steps เพิ่มน้ำหนักตัว
Step1 ตั้งเป้าน้ำหนักที่ต้องการ
โดยพิจารณาจากน้ำหนักปัจจุบัน เพื่อตั้งเป้าหมายว่า ต้องเพิ่มน้ำหนักกี่กิโลกรัมเพื่อให้บีเอ็มไอได้มาตรฐานปกติ หรือ มากกว่า 18.5 ขึ้นไป
Step2 กินอาหารเพิ่ม
วันละ 500 กิโลแคลอรี คุณธิษณา จรรยาชัยเลิศนักกำหนดอาหารวิชาชีพ แนะนำวิธีเพิ่มการกิน 2 สูตร ดังนี้
สูตรที่1 กินอาหารเพิ่มขึ้นในมื้อปกติ
กินอาหารวันละ 3 มื้อเช่นเดิม แต่เพิ่มปริมาณ อาทิ จากเคยกินอาหารวันละ 1,200 - 1,500 กิโลแคลอรี ก็เพิ่มปริมาณเป็น 1,700 - 2,000 กิโลแคลอรี โดยเพิ่มปริมาณอาหารทุกกลุ่ม ทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ และไขมันไม่เน้นกินเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
สูตรที่2 เพิ่มมื้อว่าง
จากเดิมที่เคยกินเฉพาะอาหารหลัก 3 มื้อ ให้เพิ่มมื้อว่างเข้ามาอีก 2 - 3 มื้อแนะนำอาหารจำพวกขนมปังเนยถั่ว ผลไม้สด น้ำผลไม้คั้นสด เป็นต้น โดยคำนวณแคลอรีของมื้อว่างให้ได้ 500 กิโลแคลอรี
Step3 ทำอย่างต่อเนื่อง
การเพิ่มปริมาณอาหารวันละ 500 กิโลแคลอรี เป็นปริมาณที่พอดีและสามารถทำได้ต่อเนื่อง เพราะโดยธรรมชาติของคนผอม จะกินอาหารได้ครั้งละไม่มาก การเพิ่มปริมาณอาหารที่มากกว่านี้อาจทำได้ไม่ต่อเนื่อง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยเพิ่มน้ำหนักตัวได้สัปดาห์ละ ½ - 1 กิโลกรัม เมื่อได้น้ำหนักตามเป้าที่วางไว้จึงหยุดการเพิ่มปริมาณอาหาร