แผลในกระเพาะอาหาร

ดูแลสุขภาพอย่างไร? ให้ห่างไกล แผลในกระเพาะอาหาร

แผลในกระเพาะอาหาร เป็นได้ ก็ดูแลได้

แผลในกระเพาะอาหาร หรือโรคกระเพาะอาหาร โรคปวดท้องทรมานของหลายคน และมักเป็นๆ หายๆ แต่จริงๆ แล้วหลายครั้งโรคนี้รักษาให้หายขาดได้ สำหรับผู้มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาความเสี่ยง หรือโรคที่อาจซ่อนอยู่เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี

สาเหตุของการเกิด แผลในกระเพาะอาหาร เกิดจากกรดและน้ำย่อย ที่หลั่งออกมาทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร ส่วนปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ ยาแอสไพริน ยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ การสูบบุหรี่ ความเครียด อาหารเผ็ด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์

อาการของ แผลในกระเพาะอาหาร มีอะไรบ้าง ?

  • พบบ่อยที่สุดคือ ปวดท้อง หรือจุกแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือท้องช่วงบน มักเป็นเวลาท้องว่างหรือเวลาหิว หรือปวดแน่นท้องกลางดึกหลังจากหลับไปแล้ว
  • อาการปวดจะเป็นมากขึ้นหลังทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
  • อาการปวดมักเป็นๆ หายๆ เช่น ปวดอยู่ 1-2 สัปดาห์ และหายไปหลายเดือนจึงกลับมาปวดอีก
  • บางรายไม่ปวดท้อง แต่จะมีอาการอืดแน่นท้อง หรือรู้สึกไม่สบายในท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือกลางท้องรอบสะดือ ท้องอืดหลังกินอาหาร มีลมมาก ท้องร้องโครกคราก
  • อาจมีคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยหลังอาหาร หรือช่วงเช้ามืด
  • อาจมีน้ำหนักลด ซีดลง

ภาวะแทรกซ้อนของแผลในกระเพาะอาหารมีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อนเมื่อเกิดแผลขึ้นในกระเพาะอาหาร พบได้ประมาณร้อยละ 25-30 ซึ่งทั้งหมดเป็นอาการที่เกิดในกระเพาะ และค่อนข้างอันตราย ไม่ว่าจะเป็น

  • เลือดออกในกระเพาะอาหาร พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำเหลว จึงทำให้คุณหมอแนะนำผู้ป่วยว่า ต้องหมั่นตรวจสอบอุจจาระ ปัสสาวะตัวเองสม่ำเสมอ เพราะหากมีความผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์ทันที หรือหน้ามืด หรือมาด้วยภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก เกิดจากเสียเลือดจากแผลเปปติกทีละน้อยอย่างเรื้อรัง
  • กระเพาะอาหารทะลุ มีอาการปวดท้องช่วงบนเฉียบพลันรุนแรง หน้าท้องแข็งตึง กดเจ็บมาก
  • กระเพาะอาหารอุดตัน ผู้ป่วยจะอิ่มเร็ว อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้อย่างไร?

  • หลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการติดเชื้อเอช ไพโลไร ซึ่งติดต่อผ่านการบริโภคอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ ป้องกันโดยการกินอาหารที่สะอาดปรุงสุก ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือให้สะอาด
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด เพราะมีผลให้เยื่อบุกระเพาะอ่อนแอ ทำให้แผลหายช้า และเกิดแผลกลับเป็นซ้ำได้บ่อยมาก
  • งดการใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ – NSAID
  • ผ่อนคลายความเครียดและวิตกกังวล พักผ่อนให้เพียงพอ
  • กินยาลดกรด หรือยารักษาแผลกระเพาะอาหารติดต่อกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ รวมทั้งให้ยากำจัดเชื้อ เอช ไพโลไรด้วย
  • ถ้ามีอาการของภาวะแทรกซ้อน ปวดท้องรุนแรง หรือเบื่ออาหารน้ำหนักลดลงมาก ควรรีบไปพบแพทย์

ควรกินอาหารชนิดไหนในผู้ป่วยแผลในกระเพาะอาหาร?

ในผู้ที่มีปัญหาเรื่องแผลในกระเพาะอาหาร ควรจะเลือกทานอาหารรสอ่อนๆ ลด ละอาหารรสจัด โดยมีคำแนะนำคือ

  • กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย กินอาหารจำนวนน้อยๆ แต่กินบ่อยมื้อ ไม่ควรกินจนอิ่มมากในแต่ละมื้อ
  • ดื่มนมได้ถ้าดื่มแล้วท้องไม่อืด
  • หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของดอง เพราะทำให้ระคายเคืองแผลมากและปวดมากขึ้น
  • อาหารทอด หรือไขมันสูงเพราะย่อยยากจะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารขยายตัวมากทำให้ปวดมากขึ้น
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ ช็อกโกแลต และงดน้ำอัดลมเพราะมีแก๊สมากกระเพาะขยายตัวทำให้ปวดมากขึ้นและกระตุ้นให้หลั่งกรดเพิ่มขึ้นด้วย
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มร้อนหรือเย็นจัด
  • ควรรับประทานอาหารชนิดใดเมื่อมีอาการปวดแน่นท้อง ?
  • ในรายที่ปวดรุนแรง อาจต้องกินเป็นอาหารเหลวทุกชั่วโมง เช่น น้ำข้าว น้ำซุป น้ำเต้าหู้
  • เมื่อดีขึ้น เริ่มกินโจ๊กได้
  • เมื่อทุเลามากขึ้น จึงเปลี่ยนเป็นข้าวต้มและข้าวสวยได้ตามลำดับ
  • ถ้ามีอาการแน่นท้องมาก ควรกินวันละ 6 มื้อ โดยแบ่งปริมาณมาจากมื้ออาหารปกติครึ่งหนึ่ง คือมื้อเช้าแบ่งเป็นเช้าและสาย มื้อกลางวันแบ่งเป็นกลางวันและบ่าย และมื้อเย็นแบ่งเป็นเย็นและค่ำ รวมเป็น 6 มื้อ (แต่ละมื้อให้กินปริมาณอาหารน้อยลง แต่กินให้บ่อยขึ้น)

แผลในกระเพาะอาหารจะกลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่?

สำหรับคำถามยอดฮิต และคำถามที่หลายคนกังวล ว่าการเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารจะกลายเป็นมะเร็งหรือไม่นั้น คำตอบก็คือ ไม่ค่ะ นอกจากจะเป็นแผลชนิดที่เกิดจากมะเร็งของกระเพาะอาหารเองตั้งแต่เริ่มแรกโดยตรง

อาการที่บ่งชี้ว่าอาจมีโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ได้แก่ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก ซีดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ถ่ายอุจจาระดำหรืออาเจียนเป็นเลือด อาเจียนมาก และเป็นติดต่อกันเป็นวันในคนสูงอายุ หรืออายุมากกว่า 45 ปี ที่เริ่มมีอาการครั้งแรกของโรคกระเพาะอาหาร หรือผู้ที่มีอาการมานานแล้วมีการเปลี่ยนแปลงของอาการ เช่น ปวดท้องรุนแรงขึ้น ในภาวะต่างๆ เหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์

แผลในกระเพาะอาหารจะหายขาดหรือไม่?

หายได้ แต่กลับเป็นใหม่ได้ ถ้าไม่ระวังเรื่องการปฏิบัติตัวและการใช้ยาบางอย่าง

สำหรับผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหารที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อ H. pylori วิธีบรรเทาอาการของโรคคือ ปฏิบัติตัวตามหลักการที่ได้กล่าวไว้แล้ว บางรายอาจต้องใช้ยาติดต่อเป็นระยะเวลาหลายเดือนเพื่อควบคุมไม่ให้มีอาการ

สำหรับผู้ที่มีการติดเชื้อ H. pylori ร่วมด้วย พบว่าหลังจากที่กำจัดเชื้อได้แล้ว มีโอกาสหายขาดได้ ยกเว้นจะรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายใหม่ หรือมีเหตุอื่นที่ทำให้เกิดแผลอีก

แผลในกระเพาะอาหาร เมื่อรักษาแผลหายแล้วยังมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก หากมีอาการควรไปพบแพทย์ อาจต้องทำการส่องกล้องทางเดินอาหารเพื่อหาสาเหตุและวางแผนการรักษาต่อไป และควรตรวจเช็คร่างกายประจำปี เพื่อหาความผิดปกติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อีก

ข้อมูลโดย: พญ.ศรัญญา จันดาศักดิ์ โรงพยาบาลขอนแก่น ราม

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

10 สูตรยาและอาหารจีน แก้โรคระบบทางเดินอาหาร

ชีวจิตขอตอบ ” กลืนกล้อง ” ส่องลำไส้ ข้อดี ข้อจำกัด มีอะไรบ้าง

ถ่ายเป็นเลือด สัญญาณผิดปกติในลำไส้ใหญ่

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia

Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.