สารปรุงแต่งอาหาร
• ผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต อาหารแทบทุกชนิดมักจะมีการเติมผงชูรสเข้าไปเพื่อเพิ่มความอร่อย เช่น มันฝรั่งทอด ซอส ซุป ขนมกรุบกรอบ อาหารฟาสต์ฟู้ด นักวิจัยเชื่อว่า สารโมโนโซเดียมกลูตาเมตทำให้สารสื่อประสาทที่ชื่อว่าเซโรโทนินในสมองเกิดการเปลี่ยนแปลง
และมีรายงานวิจัยพบว่าหนูทดลองที่ได้กินอาหารที่มีผงชูรสจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและเป็นโรคอ้วน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดจึงมีผลกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะได้
อาหารทางเลือก ผงนัว ผักเชียงดา ผักหวาน
• สีผสมอาหาร พบว่าในบางครั้งการเติมสีในอาหารก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดไมเกรนมากกว่าการเติมรสชาติด้วยซ้ำ เช่น สาร FD&C yellow #5 หรือเรียกว่า ทาร์ทราซีนดาย (Tartrazine Dye) เป็นสีสังเคราะห์ที่ให้สีเหลืองมะนาว สามารถพบได้ในเครื่องดื่มและลูกกวาด สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนได้
อาหารทางเลือก สีธรรมชาติที่ให้สีเหลือง เช่น ขมิ้น อ้อย ดอกโสน ฟักทอง ดอกคำฝอย ดอกกรรณิการ์

• น้ำตาลและสารให้ความหวาน โดยปกติแล้วเมื่อเรากินน้ำตาลจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นเป็นตัวกระตุ้นให้อาการไมเกรนกำเริบ แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไฮโปไกลซีเมียก็อาจส่งผลให้เกิดอาการไมเกรนได้เช่นกัน โดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่น
ดังนั้นควรระวังการกินน้ำตาลที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปจนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ องค์การอนามัยโลกระบุว่า ไม่ควรกินน้ำตาล (หมายถึงน้ำตาลที่เติมในอาหาร) เกินร้อยละ 5 ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน ซึ่งเท่ากับวันละ 6 ช้อนชา หรือ 25 กรัม
• แอสปาร์แตม คือสารเคมีให้ความหวานที่มักเติมเข้าไปในอาหาร เกิดจากการรวมตัวกันของกรดแอมิโน 2 ชนิด คือ แอสปาร์ติกและฟีนิลอะลานีน มักใส่ในอาหารที่ระบุว่าปราศจากน้ำตาล (Sugar -Free) อาหารแคลอรีต่ำ (Low – Calorie) และเครื่องดื่มต่างๆ
มีหลายรายงานการวิจัยระบุว่า สารแอสปาร์แตมทำให้ระดับของสารสื่อประสาทเซโรโทนินในร่างกายลดลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนและทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ
อาหารทางเลือก หญ้าหวาน ชะเอมเทศ