อาหารสุขภาพ สำหรับ ผู้หญิง ทำงาน ตอนที่ 2
ผู้หญิง ทำงาน ระดับผู้บริหาร เครียดจัดระวังช็อกโกแลตซีสต์มะเร็งรังไข่
ด้วยภาระ หน้าที่ และความรับผิดชอบที่สูงกว่าพนักงานทั่วไป ทำให้แต่ละวัน ผู้หญิง ทำงานระดับผู้บริหารต้องเผชิญกับความเครียด คุณหมอชัญวลีอธิบายว่า
“บุคลิกของผู้บริหารหญิงจะเป็นคนมั่นใจในตัวเอง ตรงไปตรงมา เจ้าอารมณ์ เจ้าระเบียบ ไม่ยืดหยุ่น ย้ำคิดย้ำทำ ซึ่งบุคลิกเหล่านี้ส่งผลให้ผู้หญิงบางคนเป็นโสด ไม่ยอมแต่งงานเพราะชีวิตครอบครัวต้องอาศัยความยืดหยุ่นค่อนข้างสูง
“สำหรับใครก็ตามที่มีบุคลิกผู้บริหารหญิงนี้มักเสี่ยงต่อการเกิดโรคช็อกโกแลตซีสต์ ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ได้”
นอกจากนี้กิจวัตรประจำวันที่เกี่ยวข้องกับการทำงานยังอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพโดยไม่รู้ตัว เช่น นั่งประชุมนานๆ ดื่มกาแฟทุกครั้งเมื่อเข้าประชุม เข้าร่วมงานเลี้ยงบ่อย จำต้องร่วมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารไม่เป็นเวลา นอนดึกละเลยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ออกกำลังกาย
เมื่อใช้ร่างกายหนัก แต่ไม่ดูแลสุขภาพ โรคร้ายจึงตามมา โดยสัญญาณเตือนแรกคือ โรคอ้วน หากยังเพิกเฉย ไม่สนใจน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น นานวันจะเริ่มมีอาการเหนื่อยง่าย ปวดเข่า ปวดหลัง เพราะร่างกายแบกรับน้ำหนักมากเกินไป ตามมาด้วยโรคไขมันในเลือดสูง เมื่อไขมันสะสมในผนังหลอดเลือดมากขึ้นก็เสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดตีบ
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ไขมันส่วนเกิน ยังมีผลให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินทำให้ฮอร์โมนอินซูลิน ที่สร้างจากตับอ่อนไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ส่งผลให้เกิดโรคเบาหวาน ทั้งไขมันยังเร่งให้เกิดกระบวนการชราในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด
เพราะโรคอ้วนเปรียบเหมือนหัวรถไฟที่พาบรรดาโรคเรื้อรังตามมาอีกเป็นขบวน จึงต้องรีบป้องกันไม่ให้น้ำหนักเกินเกณฑ์ตั้งแต่ต้นทาง โดยเฉพาะผู้หญิงทำงานระดับบริหารยิ่งอยู่ในวัยที่ระบบเผาผลาญทำงานลดลง แถมมีกิจวัตรประจำวันที่เร่งให้เกิดโรค จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
Diet Tips
สำหรับการกินเพื่อควบคุมน้ำหนักให้มีสุขภาพแข็งแรงแนะนำให้ผู้บริหารหญิงกินให้อิ่มทุกมื้อ เพียงแต่เลือกอาหารที่มีไขมันต่ำ กินผักผลไม้มากขึ้น ดื่มน้ำเปล่าตลอดวัน ลดการดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนและแอลกอฮอล์ โดยสรุปเป็นสูตรสุขภาพสำหรับนักบริหารหญิงได้ดังนี้
- เลือกอาหารที่ใช้น้ำมันน้อยเป็นหลัก ยิ่งไม่มีเวลาทำอาหาร ต้องฝากท้องไว้กับร้านอาหารนอกบ้านแนะนำให้สั่งเมนูที่ปรุงด้วยวิธีนึ่ง อบ ต้ม ตุ๋น ปิ้ง ยำเพราะใช้น้ำมันน้อยกว่าอาหารประเภทผัดและทอด ช่วยลดพลังงานส่วนเกินและลดความเสี่ยงจากอนุมูลอิสระในน้ำมันที่ใช้ซ้ำ
เมนูแนะนำ : ไม่เฉพาะข้าวต้มหรือแกงจืดที่มีไขมันต่ำ ยังมีอาหารอีกหลายชนิดให้เลือก เช่น ต้มยำกุ้งปลากะพงนึ่งมะนาว ปลาย่าง สารพัดน้ำพริกกินคู่กับผักสด ยำวุ้นเส้น ยำหัวปลี ยำถั่วพู ห่อหมกปลาส้มตำผลไม้ เส้นหมี่ลูกชิ้น แซนด์วิชปลาทูน่า ขนมจีบ
- ตั้งเป้าในการกินผักอย่างน้อยมื้อละ 1 ทัพพี ข้อมูลจากธงโภชนาการ โดยคณะทำงานจัดทำข้อปฏิบัติการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย แนะนำให้กินผักวันละ4 - 6 ทัพพี (มื้อละ 1 - 2 ทัพพี) เพราะผักเป็นแหล่งของวิตามิน แร่ธาตุ และกลุ่มสารพฤกษเคมี (Phytochemical) ช่วยต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุความเสื่อมของร่างกาย เป็นแหล่งที่ดีของใยอาหาร ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ขับสารพิษและไขมันส่วนเกินออกจากร่างกายผักสด 1 ถ้วยตวงให้พลังงานน้อยมาก คือไม่เกิน 25 กิโลแคลอรี แถมมีใยอาหารสูง กินแล้วอยู่ท้อง กินเป็นประจำจึงช่วยควบคุมน้ำหนักอย่างได้ผล
เมนูแนะนำ : เลือกอาหารที่มีผักเป็นส่วนผสม เช่นแกงจืดผักกาดขาว ยำตะไคร้ ผัดผักบุ้ง สุกี้น้ำ ข้าวผัดน้ำพริกลงเรือกินคู่กับผักสด ข้าวยำปักษ์ใต้ ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน ส้มตำแครอต หรือหากพอมีเวลาแนะนำให้เตรียมผักสลัดใส่กล่องมากินพร้อมกับอาหารกลางวันที่ทำงาน
- เปลี่ยนมาดื่มน้ำเปล่า น้ำเปล่าคือเครื่องดื่มราคาถูก ไม่มีพลังงาน แถมดื่มตลอดวันยังช่วยเพิ่มระบบเผาผลาญและลดน้ำหนักได้ เพียงเปลี่ยนจากเครื่องดื่มแก้วโปรดรสหวานที่อุดมไปด้วยพลังงาน น้ำตาล และไขมัน (1 แก้วอาจให้พลังงานสูงถึง 200 - 300 กิโลแคลอรี) มาเป็นน้ำเปล่า อาจพบว่าน้ำหนักตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัดภายในไม่กี่สัปดาห์