ความเครียด, โรคกระเพาะอาหาร, กระเพาะอาหาร, คนวัยทำงาน, โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

อาการแบบนี้ โรคกระเพาะอาหาร หรือมะเร็งกระเพาะอาหารกันแน่

อาการแบบนี้ โรคกระเพาะอาหาร หรือมะเร็งกระเพาะอาหารกันแน่

โรคกระเพาะอาหาร ต้องยอมรับว่า หนุ่มสาวออฟฟิศ มีจากการทำงานกันทุกคน เพียงแต่ใครจะเครียด เครียดน้อย ซึ่งความเครียดนี่เองเป็นปัจจัยก่อโรคมากมาย

นายแพทย์ธเนศ แก่นสาร อาจารย์ประจำสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เล่าสถานการณ์ของโรคระบบทางเดินอาหารให้ฟังว่า

“พบว่า คนทั่วโลกรวมถึงคนไทยป่วยเป็นกลุ่มโรคระบบทางเดินอาหารส่วนต้นหรือดิสเปปเซีย (Dyspepsia) ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ โรคสำคัญในกลุ่มนี้คือ กระเพาะอาหาร ซึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้ชีวิต”

ไลฟ์สไตล์สำคัญที่เป็นตัวก่อโรคได้แก่ การดื่มเหล้า สูบบุหรี่และกินยาลดการอักเสบกลุ่มเอนเซด (NSAID) เป็นเวลานานกินอาหารไม่ตรงเวลาและกินรสจัด นอกจากนี้ยังเกิดจากความเครียด คุณหมอธเนศเล่าว่า

“ถ้าอยู่ในสภาวะเครียดบ่อยๆ และยาวนานจะป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารได้ เพราะความเครียดจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งกรดออกมาตลอดเวลา ซึ่งกรดนี้จะย่อยเยื่อบุกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดแผล ยิ่งถ้ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น กินยากลุ่มเอนเซดดื่มเหล้า สูบบุหรี่จัด จึงมีความเสี่ยงทำให้กระเพาะทะลุได้”

 

ความเครียด, โรคกระเพาะอาหาร, กระเพาะอาหาร, คนวัยทำงาน,  โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
ความเครียด เป็นปัจจัยก่อให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร

โรคกระเพาะจัดหนักคนทำงาน

ยิ่งทุกวันนี้ คุณหมอธเนศพบว่ามีหนุ่มสาวออฟฟิศจำนวนมากที่ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารจากความเครียด แถมมีอาการค่อนข้างรุนแรงเมื่อเทียบกับวัยอื่น ๆ คุณหมอธเนศเล่าว่า

“ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มสาว อายุเพิ่ง 20 – 30 ต้น ๆ แต่มีอาการรุนแรงมาก บางคนปวดท้องมากจนต้องฉีดยาระงับปวดและต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หมอจะให้ยารักษาโรค 2 กลุ่ม คือ ยาลดกรด เพื่อช่วยให้กรดหลั่งออกมาน้อย ทำให้แผลหายเร็วขึ้น และยากระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารซึ่งจะทำให้กระเพาะเกิดการบีบตัว คลุกเคล้าอาหารกับน้ำย่อยได้ดีขึ้น จึงไม่มีแก๊สจากอาหารหมักหมมตกค้างในกระเพาะ ซึ่งเป็นที่มาของอาการท้องอืด จุกแน่น”

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นหลังจากกินยา แต่ไม่นานก็จะกลับมาป่วยอีกเช่นเดิม เพราะไม่รู้จักจัดการต้นเหตุของปัญหา

อาการต่าง ๆ ของโรคกระเพาะอาหาร ไม่ว่าจะเป็นปวดท้องจุกแน่น แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ หรือท้องอืด ก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้คนวัยทำงานเกิดความเครียดว่า ตัวเองอาจป่วยเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ จึงร้องขอให้คุณหมอทำการส่องกล้องหรือกลืนแป้งแบเรียมซัลเฟตตรวจกระเพาะอาหารเพื่อวินิจฉัยโรค คุณหมอธเนศให้ความเห็นว่า

“เดี๋ยวนี้มีผู้ป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวมาร้องขอให้หมอส่องกล้องตรวจกระเพาะให้ แต่หมอไม่แนะนำ เพราะเป็นการตรวจสุขภาพที่เกินความจำเป็นและสิ้นเปลืองเงินทองเปล่า ๆ ซึ่งเมื่อตรวจจริง ๆ แล้วส่วนใหญ่จะไม่พบอาการผิดปกติอย่างมากจะพบแค่แผลหรือรอยแผลเล็กน้อยเท่านั้น”

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 2 >>

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.