2. วิตามินดี
วารสาร The British Medical Journal ทำการศึกษากับอาสาสมัคร 11,000 คนทั่วโลก โดยการเก็บข้อมูลผลของวิตามินดีกับโรคในระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด หลอดลมอักเสบ ปอดบวม พบว่า การเสริมวิตามินดีเป็นประจำอาจมีผลช่วยลดความเสี่ยงโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
ศาสตราจารย์เอเดรียน มาร์ติโน (Adrian Martineau) จากควีนแมรี มหาวิทยาลัยแห่งลอนดอน (Queen Mary University of London) อังกฤษ อธิบายว่า วิตามินดีอาจช่วยเพิ่มระดับเปปไทด์ ต้านจุลชีพ (Antimicrobial Peptides) เปปไทด์สายสั้นมีบทบาทสำคัญในกลไกการป้องกันตัวของร่างกาย (Host Defense Mechanism) ต่อการบุกรุกของเชื้อจุลชีพก่อโรค และทำหน้าที่คล้ายยาปฏิชีวนะตามธรรมชาติในการต่อต้านเชื้อก่อโรคภายในปอด
นอกจากนี้รายงานจากวารสาร European Respiratory ยังพบว่า วิตามินดี มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหืดกำเริบรุนแรงชนิดที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลหรือแผนกฉุกเฉิน รวมถึงพบว่า วิตามินดีช่วยลดอัตราการเกิดโรคหืดที่ต้องรักษาด้วยยาเม็ดสเตียรอยด์ (Steroid)

แต่ทั้งนี้นักวิจัยสรุปว่า แม้พบว่าวิตามินดีมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหืด แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าใช้ได้ผลกับทุกคน นอกจากนี้การเสริมวิตามินดีอาจให้ผลดีกับเฉพาะผู้ที่ขาดหรือมีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำเท่านั้น ดังนั้นจำเป็นต้องมีการทดลองเพื่อหาคำตอบและยืนยันผลการศึกษาต่อไป
เพื่อป้องกันการขาดวิตามินดี มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ (University of Maryland) ประเทศสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ออกกำลังกายเพื่อรับแสงแดดอ่อน ๆ ยามเช้า พร้อมสวมเสื้อผ้าที่เผยผิวเพื่อรับวิตามินดี เช่น เสื้อกล้ามเสื้อยืดแขนสั้น สำหรับคนผิวขาวแนะนำให้ตื่นมารับแสงแดดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 45 นาที ส่วนผู้ที่มีผิวคล้ำควรได้รับแสงแดดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง จึงจะได้รับวิตามินดีเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
โดยชายและหญิงที่มีอายุ 19 – 50 ปีควรได้รับวิตามินดีวันละ 5 ไมโครกรัมส่วนผู้ที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไปควรได้รับวิตามินดีวันละ 10 ไมโครกรัม
ข้อควรระวัง
วิตามินดี จากแสงแดดและอาหารนั้นปลอดภัยกว่าวิตามินดีในรูปแบบเม็ดที่หากกินมากเกินไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่น กระหายน้ำมาก เบื่ออาหาร ปวดกระดูก เหนื่อยง่าย เจ็บตา คันบริเวณผิวหนัง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก ฉะนั้น หากต้องการกินวิตามินดีในรูปอาหารเสริมควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณวิตามินดีที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล
3. สังกะสี
เมื่อไม่นานมานี้มีการศึกษาโดยวารสาร BMC Family Practiceพบว่า การเสริมสังกะสี (Zinc Acetate Lozenges) ปริมาณสูงช่วยให้หวัดหายเร็วขึ้น
นักวิจัยแนะนำให้เสริมสังกะสีวันละ 80 มิลลิกรัม โดยเริ่มกินภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากมีอาการหวัดและกินติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ พบว่าสามารถช่วยลดระยะเวลาการเกิดอาการต่าง ๆ ระหว่างเป็นหวัด เช่นน้ำมูกไหล คัดจมูก เจ็บคอ เสียงแหบ และไอ ช่วยให้อาการหายเร็วขึ้น 37 22 18 43 และ 46 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ แต่ไม่พบว่าสังกะสีมีผลลดระยะเวลาอาการปวดศีรษะและเป็นไข้
สังกะสีเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย หากกินอาหารได้ตามปกติจะไม่ขาด ยกเว้นในผู้ป่วย เช่น โรคลำไส้อักเสบ โรคเบาหวาน ผู้ที่กินอาหารไม่สมดุล ผู้ที่อดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ดื่มสุรา หรือกินยาปฏิชีวนะเป็นประจำ
ข้อมูลจากปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทยแนะนำให้ผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไปควรได้รับสังกะสีวันละ 13 มิลลิกรัมผู้หญิงควรได้รับสังกะสีวันละ 7 มิลลิกรัม สังกะสีมีอยู่ในอาหารหลายชนิด เช่น อาหารทะเล โยเกิร์ต งา ถั่ว ธัญพืชไม่ขัดสี โดยหอยนางรม 100 กรัม มีสังกะสีสูงถึง 75 กรัม ถั่วแดงสุก เต้าหู้แข็ง ถั่วลันเตาสุก โยเกิร์ตอย่างละครึ่งถ้วย มีสังกะสีประมาณ 1 มิลลิกรัม

ข้อควรระวัง
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการเสริมสังกะสี เช่น ไม่สบายท้อง คลื่นไส้อาเจียน รู้สึกขมในปาก หากเสริมปริมาณสูงเกินไปอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ ง่วงนอน เหงื่อออกมาก เห็นภาพหลอน จนถึงโรคโลหิตจาง โดยข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า การกินสังกะสีในปริมาณที่น้อยกว่า 40 มิลลิกรัมเป็นปริมาณที่ปลอดภัยนอกจากนี้มีรายงานว่า การเสริมสังกะสีวันละ 100 มิลลิกรัม หรือกินติดต่อกันนานเกิน 10 ปีอาจมีผลเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย ทั้งยังพบว่า การเสริมสังกะสีปริมาณสูง
โดยไม่ปรึกษาแพทย์อาจมีผลเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในเลือด เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด