ท้าให้กิน เมนูแคลเซียม เพิ่มมวลกระดูก
อาหาร เพิ่มมวลกระดูก หากใครคิดว่าโรคกระดูกพรุนเป็นเรื่องไกลตัว รออายุขึ้นเลข 5 ค่อยกังวล ค่อยกินแคลเซียมเสริมก็ยังทัน เห็นทีต้องบอกว่า ชะล่าใจเกินไปแล้วค่ะ
แม้เด็กและหนุ่มสาว มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนต่ำกว่าผู้สูงวัย แต่หากไม่ได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ ก็เรียกว่าพลาด โอกาสทองที่จะสะสมแคลเซียมในช่วงที่ร่างกายสามารถดูดซึมและสร้างมวลกระดูกได้ดี เมื่ออายุมากขึ้น ถึงวัยที่ร่างกายสลายกระดูก มากกว่าการสร้าง ถึงเวลานั้นการเสริมแคลเซียมอาจไม่ทันกาล ลงท้ายด้วยกระดูกบาง หนีไม่พ้นโรคกระดูกพรุน
แคลเซียม…สำคัญกว่าแค่สร้างกระดูก
แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีอยู่ในร่างกายมากกว่าแร่ธาตุชนิดอื่นๆ โดยแคลเซียมและฟอสฟอรัสจะทำงานร่วมกันเพื่อช่วยให้กระดูก และฟันแข็งแรง นอกจากนี้แคลเซียมจะทำงานร่วมกับแมกนีเซียม เพื่อสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด
แคลเซียมในร่างกายเกือบทั้งหมดจะสะสมอยู่ในกระดูกและฟัน โดยที่ร่างกายต้องมีวิตามินดีปริมาณเพียงพอจึงสามารถดูดซึม แคลเซียมได้
นอกจากหน้าที่ช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรงแล้ว แคลเซียมยังมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกเสื่อม และกระดูกหัก ลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีส่วนช่วยให้ จังหวะการเต้นของหัวใจเป็นปกติ บรรเทาอาการนอนไม่หลับ ช่วย ในการเผาผลาญธาตุเหล็กในร่างกาย ช่วยให้ระบบประสาททำงาน เป็นปกติ และช่วยในการควบคุมน้ำหนักตัว
กรณีที่ร่างกายขาดแคลเซียมจะส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคกระดูกอ่อนในเด็ก โรคกระดูกน่วม ภาวะกระดูกพรุนหรือ กระดูกหักง่ายในผู้สูงอายุ
ตักตวงแคลเซียมจากอาหารธรรมชาติ
ร่างกายไม่สามารถสร้างแคลเซียมเองได้ จึงจำเป็นต้องได้รับจาก อาหารอย่างเพียงพอ โดยข้อมูลจากปริมาณสารอ้างอิงที่ควรได้รับ ประจำวันสำหรับคนไทย แนะนำให้คนไทยแต่ละช่วงวัยได้รับแคลเซียม จากอาหารดังนี้
อายุ ปริมาณแคลเซียมที่แนะนำต่อวัน (มิลลิกรัม)
6 – 11 เดือน 270
1 – 3 ปี 500
4 – 8 ปี และ 19 – 50 ปี 800
9 – 18 ปี และ 51 ปีขึ้นไป 1,000
เพื่อให้ร่างกายได้รับแคลเซียมจากอาหารอย่างเพียงพอ แนะนำให้ กินอาหารที่มีแคลเซียมสูงเป็นประจำ เช่น อาหารที่ปรุงโดยใช้ปลาเล็ก ปลาน้อยเป็นส่วนประกอบ กินโยเกิร์ตและดื่มนมถั่วเหลืองเสริม แคลเซียมเป็นมื้อว่าง หรือเพิ่มแคลเซียมในมื้ออาหารได้ง่ายๆ โดย โรยงาดำลงในอาหาร 3 มื้อ หรือผสมกับเครื่องดื่มประจำวัน