ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์

ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ : พระมหากรุณาธิคุณ

พระมหากรุณาธิคุณด้านเทคโนโลยีและการพัฒนา

ตลอดเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติ 70 ปี พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายในการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้ปวงชนชาวไทยได้อยู่ดีกินดี

แก้มลิง แนวทางขจัดทุกข์ภัยน้ำท่วม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงวางระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งน้ำท่วม และน้ำเสียมานานหลายสิบปี โดยทรงเน้นการดูแลและพัฒนาทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

โครงการพัฒนาสระเก็บน้ำพระราม 9 (แก้มลิง) ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงริเริ่มเพื่อจัดการกับปัญหาน้ำในกรุงเทพมหานคร

ฝนหลวง หยาดน้ำพระราชหฤทัยจากฟ้าสู่ผืนดิน

ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน ที่มีพระปรีชาในการเปลี่ยนผืนดินแห้งแตกระแหงให้กลับมาชุ่มชื้นและมีชีวิต จากโครงการพระราชดำริ “ฝนหลวง” ที่สืบเนื่องยาวนานนับครึ่งศตวรรษ

นาวาอากาศเอก มนูญ รู้กิจนา รองผู้อำนวยการสำนักยุทธการและการฝึกกรมยุทธการทหารอากาศ เล่าว่า

“โครงการพระราชดำริฝนหลวง เกิดขึ้นจากน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมุ่งมั่นจะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและความยากจนของประชาชนอันเกิดจากความแห้งแล้ง โดยมีพระราชดำรัสภายหลังจากที่เสด็จฯเยี่ยมเยียนราษฎรภาคอีสานในปี พ.ศ. 2498 ว่า

‘ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งภาคเป็นที่รู้กันว่าเป็นภาคที่แห้งแล้ง ขณะนั้นข้าพเจ้าได้แหงนดูท้องฟ้าและเห็นว่ามีเมฆจำนวนมาก แต่เมฆเหล่านั้นถูกลมพัดผ่านไป

‘วิธีแก้จึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้เมฆเหล่านั้นตกลงมาเป็นฝนในท้องถิ่นนั้น ความคิดนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการฝนเทียม’”

ในปี พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสาธิตการทำฝนเทียมแก่คณะผู้แทนนักวิทยาศาสตร์จากประเทศสิงคโปร์ที่มาขอเยี่ยมชม ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยทรงบัญชาการด้วยพระองค์เอง ผลการสาธิตคือ สามารถบังคับให้ฝนตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายอย่าง อ่างเก็บน้ำได้อย่างแม่นยำ

นับเป็นผลจากพระปรีชาสามารถ พระวิริยอุตสาหะ และน้ำพระราชหฤทัยที่มีต่อพสกนิกรของพระองค์โดยแท้

ฝนหลวง

ไบโอดีเซล พลังแห่งพระปรีชาญาณ

นับเป็นความโชคดีอย่างยิ่งของประชาชนชาวไทย ที่มีพระมหากษัตริย์ ที่ทรงมีพระวิสัยทัศน์ด้านพลังงานทดแทนเนื่องด้วยทรงตระหนัก ถึงปัญหาขาดแคลนพลังงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ด้วยพระปรีชาสามารถและพระวิริยอุตสาหะ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ คุณอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ยื่นจดสิทธิบัตร “การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล” เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2544

และการร่วมแสดงในงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ “Brussels Eureka 2001”  ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในปีเดียวกัน ส่งผลให้โครงการน้ำมันไบโอดีเซล สูตรสกัดจากน้ำมันปาล์มได้รับประกาศนียบัตรเหรียญทองสดุดีเทิดพระเกียรติพร้อมถ้วยรางวัล

กังหันน้ำชัยพัฒนา เพื่อคุณภาพชีวิตปวงประชา

โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นจากอัตราการเกิดมลภาวะทางน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นจนยากแก่การแก้ไข ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดรอบนอก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตระหนักถึงเรื่องนี้และทรงห่วงใยคุณภาพชีวิตของพสกนิกร จึงได้มีพระราชดำริเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาน้ำเสียขึ้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531

โดยรับสั่งให้สร้างเครื่องกลเพื่อช่วยเติมอากาศ โดยใช้รูปแบบที่เรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียสูงในนาม “กังหันน้ำชัยพัฒนา” เริ่มต้นใช้งานครั้งแรกในกิจกรรมบำบัดน้ำเสียที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2532

การปรับปรุงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการบำบัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกต่อการใช้งาน ประหยัดค่าใช้จ่ายและบำรุงรักษาได้ง่าย ตลอดจนมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ทำให้กังหันน้ำชัยพัฒนาผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

ทำให้เครื่องกลเติมอากาศ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ได้รับการพิจารณาทูลเกล้าฯถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย นับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 และนับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรับจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้แก่ พระบรมราชวงศ์ด้วย จึงนับได้ว่าเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรก ในประวัติศาสตร์ชาติไทยและเป็นครั้งแรกของโลก

ยังมีโครงการในพระราชดําริอีกมากมาย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงทําเพื่อประชาชนคนไทย ซึ่งเราควรน้อมนําแนวทางที่พระองค์ได้ทรงวางไว้นี้ไปปฏิบัติ เพื่อประโยชน์สุขแก่ตัวเราเองและประเทศชาติ

 

จาก คอลัมน์ตามรอยพ่อหลวง นิตยสารชีวจิต ฉบับ 435 (16 พศจิกายน 2559)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ : พระมหากรุณาธิคุณด้านสาธารณสุข

พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวง ที่ ๑ (ฝาง) จากมหันตภัยสู่ “ป่าในใจคน”

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ความเกื้อกูลของพระราชาและประชาชน

โครงการ พระดาบส “โอกาส” ทางการศึกษาแก่ “ผู้ด้อยโอกาส”

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.