พลาสมา รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ยิ่งให้เร็ว ยิ่งรอด

พลาสมา รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ยิ่งให้เร็ว ยิ่งรอด

พลาสมา จากผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเสริมการรักษาที่ใช้ได้ผล โดยงานนี้มีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศแรกที่ทำการทดลอง

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอไขข้อข้องใจเกี่ยวกับพลาสมาเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19

ยิ่งให้พลาสมาเร็ว ยิ่งได้ผล และยิ่งเพิ่มอัตรารอดชีวิต

จากการทดลองใช้พลาสมาในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในระยะแรกเป็นการรักษาแบบเปรียบเทียบคือ การให้พลาสมาและกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ให้ในผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้ผลไม่ต่างกัน ต่อมาได้มีการศึกษาเปรียบเทียบอีกโดยทำการทดลองให้พลาสมาแก่ผู้ป่วยสูงอายุวัย 70 ปีขึ้นไปและมีความเสี่ยงสูงโดยให้เร็ว ปรากฏว่าผลจากการทดลองพิสูจน์แล้วว่า การรักษาจะได้ผลดีที่สุดก็ต่อเมื่อผู้ป่วยได้รับพลาสมาหลังจากรับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยเร็วที่สุด เนื่องจากหากได้รับพลาสมาช้า ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานโรคขึ้นเองและทำให้การรักษาด้วยพลาสมาไม่เกิดผลดีเท่าที่ควรหรือไม่เกิดผลเลย ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ยิ่งให้พลาสมาแก่ผู้ป่วยเร็วมากเท่าใด ก็จะสามารถเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายและลดอัตราการเสียชีวิตลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 กับผลต่อการรักษาด้วยพลาสมา

หลายคนมีข้อสงสัยว่าการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ 2019 ในครั้งนี้ที่มีความแตกต่างจากระลอกแรกจะมีผลต่อการรักษาด้วยพลาสมาหรือไม่ ศ.นพ.ยง ระบุว่าการกลายพันธุ์ของไวรัสขณะนี้ไม่ส่งผลกับการรักษาด้วยพลาสมาแต่อย่างใด เพราะนับตั้งแต่มีการระบาดระลอกใหม่เมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่หายแล้วหลายรายมาบริจาค และเมื่อนำพลาสมาไปรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายอื่นก็ยังได้ผลลัพธ์ที่ดี ขณะนี้ได้ให้การรักษาไปแล้ว 10 รายอยู่ระหว่างการติดตามตามผล ทั้งนี้การกลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้และบราซิลที่อาจมีผลต่อการศึกษา ก็ยังไม่ได้พบในประเทศไทย ศ.นพ.ยง ยังเน้นย้ำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในแนวทางการรักษาด้วยพลาสมาว่า ขณะนี้หลายหน่วยงานทางสาธารณสุขของไทยยังเดินหน้าในการค้นคว้าและศึกษากระบวนการรักษาด้วยพลาสมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าพลาสมายังคงสามารถใช้รักษาได้อย่างแน่นอน

แม้วิธีการรักษาจะได้ผลลัพธ์ที่ดีเพียงใด แต่หากขาดพลาสมาจากผู้บริจาคก็ไม่สามารถรักษาได้เช่นกัน ดังนั้นผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 สามารถติดต่อขอบริจาคพลาสมาได้ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับบริจาคมาตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกแรกโดย ศ.นพ.ยง กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้บริจาคพลาสมาด้วยว่า นอกจากจะต้องรักษาโรคโควิด-19 จนหายดีแล้ว ยังยึดหลักเกณฑ์อื่นๆ ตามแนวทางเดียวกับคุณสมบัติของผู้ประสงค์บริจาคโลหิตแก่สภากาชาดไทย ดังนี้

  • มีน้ำหนักอย่างน้อย 50 กิโลกรัมขึ้นไป
  • มีอายุระหว่าง 18-60 ปี เนื่องจากหากอายุมากเกินไปจะเกิดภาวะเสี่ยงต่อผู้บริจาค
  • ไม่มีประวัติเคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ตับอักเสบบี หรือโรคเอดส์
  • หายจากโรคโควิด-19 แล้วอย่างน้อย 28 วัน
  • ร่างกายมีภูมิคุ้มกันในระดับสูง (สูงกว่าหรือเท่ากับ 1:320)

ทั้งนี้ผู้บริจาคพลาสมาสามารถบริจาคได้ทุกๆ 2 สัปดาห์ โดยบริจาคได้ 500–600 ซีซีต่อครั้ง ซึ่งจะสามารถนำไปรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้อย่างน้อย 2 ราย นอกจากนี้ ในกรณีที่มีพลาสมาเพียงพอต่อการรักษา ศ.นพ.ยง เผยว่า ยังมีแนวทางในการนำพลาสมาไปผลิตเป็นเซรุ่ม (Antibodies) เพื่อเก็บไว้ใช้รักษาได้อีกด้วย เนื่องจากเซรุ่มจะมีอายุการเก็บรักษา 2-3 ปี ซึ่งยาวนานกว่าพลาสมาที่เก็บได้เพียง 1 ปี ดังนั้นพลาสมาจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่รักษาหายแล้วถือว่าเป็นวิธีเสริมอีกทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยเหลือให้เพื่อนมนุษย์รอดพ้นจากโรคอุบัติใหม่นี้ได้

ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

บทความอื่นที่น่าสนใจ

น้ำใจในยามยาก อดีตผู้ป่วยโควิด-19 บริจาคพลาสมา เพื่อช่วยชีวิตเพื่อนผู้ป่วย

วิจัยใหม่ชี้ ตรวจเลือด สามารถระบุโรคมะเร็งได้ก่อนแสดงอาการถึง 4 ปี

พระวัดราษฎร์ฯ ตัดเย็บหน้ากากอนามัยแจกญาติโยม ป้องกันโควิด-19

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.