เที่ยวได้สุขภาพ กิน อาหารเป็นยา เรียนรู้วิถีชีวิต

กิน อาหารเป็นยา รักษาด้วยแพทย์แผนไทย

เชียงใหม่อีกหนึ่งจังหวัดที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ จนสามารถพัฒนาให้การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นำเสนอวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละกลุ่ม ที่แฝงมาด้วยการดูแลรักษาสุขภาพด้วยสมุนไพรจากธรรมชาติ ผ่านอาหารการกิน และการดูแลตัวเองของผู้สูงอายุ อย่างในครั้งนี้ที่ชีวจิตจะพาผู้อ่านไปสัมผัสคือ ชุมชนไทยอง และชุมชนไทลื้อ ที่ต่างก็มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง พร้อมกับมีกิจกรรมที่แตกต่างกัน รวมถึงได้รับรางวัล อาหารเป็นยา

ชุมชนไตยอง วัดป่าตาล สันกำแพง

ชุมชนไตยอง หรือคนยอง พื้นเพดั้งเดิมอพยพมาจากเมืองเชียงตุง ประเทศพม่าตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 มาปักหลักที่จังหวัดลำพูนในปัจจุบัน และสืบเนื่องจากปัญหาความแห้งแล้ง ทำให้เกิดการอพยพอีกครั้ง และหนึ่งในกลุ่มชาวไตยองเลือกปักหมุดสร้างบ้างแปงเมือง ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

ปัจจุบันศูนย์กลางของชุมชนไตยอง ในอำเภอสันกำแพง คือที่วัดป่าตาล สันกำแพง โดยมีท่านพระครูถิรบุญวัฒน์ (มงคล ฐิตมงฺคโล) ท่านเจ้าอาวาสเป็นผู้รวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย จนเกิดเป็นลานกิจกรรมที่เหล่าพ่อเฒ่าแม่เฒ่าของชุมชน จัดแสดงกิจกรรมให้เหล่านักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ในทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็น การทอผ้าอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวไตยองที่ปลายผ้านุ่งจะต้องเป็นสีเขียว การทำตุงใยแมงมุม แห่งเดียวของเชียงใหม่

อาหารเป็นยา

นอกจากการจำลองวิถีชีวิตแล้วภายในวัดป่าตาล สันกำแพง ยังเต็มไปด้วยศิลปะดั้งเดิมอันอ่อนช้อยของชาวไตยอง ไม่ว่าพระประธานที่มีพุทธศิลป์แบบชาวไตยองโบราณ และสถาปัตยกรรมงดงามแปลกตาที่หาชมได้ยาก นอกจากนี้ยังมีภาพวาดศิลปะ 3 มิติ ที่จำลองวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวยองให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปเช็คอิน

อาหารเป็นยา

นอกจากเรื่องวิถีชีวิตอันสวยงามของชาวยองแล้ว อีกสถานที่ที่ชาวชีวจิต โดยเฉพาะท่านที่สนใจเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย และสมุนไพรไทยไม่ควรพลาดคือ  ชมรมสมุนไพรชาวยองวัดป่าตาล ที่ไม่เพียงรวบรวมสมุนไพรไทยไว้มากมาย แต่ ยังมีคณะหมอเมืองจิตอาสา ทำการตรวจรักษาผู้คนด้วยภูมิปัญญาตามตำราแพทย์แผนไทย ไม่ว่าจะเป็น นวดจับเส้น ตอกเส้น ย่ำข่าง และอื่นๆ มากมาย รวมถึงการใช้สมุนไพรทำการรักษาแก้อาการ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สามารถบริจาคได้ตามกำลังศรัทธา เพื่อหวังสืบต่อภูมิปัญญาและตำราการแพทย์แผนไทยให้สืบต่อไม่หายไป และช่วยเหลือผู้คนที่เจ็บไข้ได้ป่วย

มหัศจรรย์แพทย์แผนไทย

ในวันที่ทีมชีวจิตเดินทางไปถ่ายทำ ได้มีโอกาสเจอกับผู้ที่มารักษาจากอาการเส้นเลือดในสมองตีบ ทำให้ไม่สามารถควบคุมร่างกายซีกซ้ายได้ หมอยาได้ตรวจโดยใช้หลักแพทย์แผนไทยจนพบว่า เกิดจากลมด้านบน และล่างไม่สอดคล้องกัน จึงทำการรักษาด้วยการพอกยาสมุนไพรเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง จนอาการดีขึ้น พูดได้ชัดมากขึ้น ควบคุมร่างกายได้ดีจนเดินได้สะดวกกว่าเดิม

อาหารเป็นยา

ในขณะที่ทีมชีวจิตเองนั้น ต่างก็โดนทักในปัญหาสุขภาพไม่ว่าจะเป็นในเรื่องอาการออฟฟิศซินโดรม ที่แสดงผ่านความตึงของ คอบ่าไหล่ และภูมิแพ้ ที่แสดงผ่านหว่างคิ้วที่ดูม่วง และความร้อนในร่างกายสูงผ่านทางบาดแผล 

ชุมชนไตยอง วัดป่าตาล สันกำแพง

แหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ปี 2565
ที่ตั้ง : ตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

ติดต่อสอบถาม:  วัดป่าตาล สันกำแพง โทร 080 135 2589 , ชมรมสมุนไพรชาวยองวัดป่าตาล 053 394 192

เฟสบุ๊ค: วัดป่าตาล สันกำแพง เชียงใหม่

ชุมชนไตลื้อ เมืองลวงเหนือ

อยู่ดีกิ๋นหวานเจ้า นี่คือคำต้อนคำแรกที่เราได้รับเมื่อมาเยือนชุมชนชาวไตลื้อ เป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่า ไม่ว่าผ่านไปนานเท่าไหร่ แต่พวกเขายังรักษาเอกลักษณ์ท้องถิ่นเอาไว้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน ที่ชาวไตลื้อบอกว่า กิ๋นหวาน ไม่ได้หมายถึงรสชาติหวาน แต่หมายถึง ของให้มีสุขภาพดี กินอาหารอร่อย

อาหารเป็นยา

ชาวไตลื้อ อพยพถิ่นฐานเดิมมาจากสิบสองปันนา นำพาวิถีชีวิต และความรู้ในเรื่อง อาหารเป็นยา มาด้วย จึงไม่แปลกที่เราจะประทับใจตั้งแต่ก้าวแรกที่เยือนชุมชนท่องเที่ยวแห่งนี้ ด้วยการต้อนรับแบบดั้งเดิม  ด้วยการพรมน้ำส้มป่อย เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย และทักทายกันด้วยคำน่ารักๆ อย่าง อยู่ดีกิ๋นหวานเจ้า ก่อนจะเข้าสู่กาดม๋วน ตลาดเล็กๆ ของชาวไตลื้อ ที่เต็มไปด้วยอาหารเป็นยา สมกับรางวัลอาหารเป็นยาที่ได้มา

อาหารเป็นยา

อาหารเป็นยา ภูมิปัญญาของชีวิต

อาหารเป็นยาคือแนวคิดของการกินอาหารดีๆ ที่มีสรรพคุณในการดูแลและป้องกันโรคภัยต่างๆ เพื่อไม่ให้ต้องกินยารักษาโรคโดยเฉพาะในกลุ่มของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) สำหรับอาหารเป็นยาของชาวไตลื้อนั้นส่วนใหญ่คือพืชผักในท้องถิ่นที่มีสรรพคุณเป็นสมุนไพรป้องกันโรค และแต่ละอย่างนั้นก็แสนอร่อยจนต้องกินซ้ำ

อาหารเป็นยา

แกงผักแว่น : พระเอกหลักของเมนูนี้คือ ผักแว่น ผักเล็กๆ ที่ขึ้นตามท้องนา แต่หาได้ยากในปัจจุบันเนื่องจากปัญหาการใช้สารเคมี ทำให้ชาวไตลื้อต้องทำแปลงเพาะปลูกเล็ก เพื่อเพาะผักแว่นโดยเฉพาะ นับได้ว่าเป็นหนึ่งในอาหารที่หากินยาก เพราะแม้แต่ชาวเชียงใหม่เอง น้อยคนที่ได้ทาน ผักแว่นมีฤทธิ์เย็น สรรพคุณช่วยดับความร้อนในร่างกาย ถอนพิษไข้ บำรุงธาตุ บรรเทาอาการปวดหัว และยังช่วยควบคุมน้ำตาล อาจช่วยบำรุงกระดูกได้อีกด้วย

วิธีการคือ นำผักแว่นมานวดกับเกลือเม็ดเพื่อให้เมือกออกมา จากนั้นนำไปแกงรวมกับหอมแดง เนื้อปลา และเห็ด ได้แกงรสชาติกลมกล่อมที่ซดได้อย่างคล่องคอ ทานเป็นน้ำซุปรสชาติบางๆ ไม่ต่างจากการกินซุปปลาเลยล่ะค่ะ 

ไข่ป่าม : อาหารพื้นเมืองที่ทำง่าย ในอดีตที่ต้องออกไปทำไร่ทำนา ไข่ป่าม เป็นอีกหนึ่งอาหารที่จะทำ ด้วยเป็นไข่ที่ย่างในกระทงใบตองจึงพกพาสะดวก อีกทั้งสามารถใส่ผักและสมุนไพรนานาชนิดที่หาได้ในท้องถิ่น จึงเป็นอาหารที่ทำง่าย ได้ประโยชน์ ที่สำคัญ รสชาติอร่อยด้วยค่ะ

ยำผักกาดเขียว : ผักกาดเขียวเป็นพืชที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น อีกทั้งสามารถนำมาทานได้ทุกช่วงอายุของผักกาด ตั้งแต่ต้นอ่อน จนถึงต้นแก่ และถนอมไว้ได้นานด้วยการทำเป็นน้ำพริกน้ำผักรสชาติเปรี้ยวจี๊ด เพื่อใช้ไปทำน้ำพริก สำหรับผักกาดมีคุณสมบัติในการช่วยเสริมแคลเซียม บำรุงกล้ามเนื้อ ควบคุมความดันโลหิต เสริมความแข็งแรงของหลอดเลือด

ยำผักกาดเขียว เป็นการใช้ผักกาดที่ผ่านการดอง 24 ชั่วโมง จึงเพิ่มคุณประโยชน์จากโพรไบโอติส์ได้อีกด้วย วิธีการก็แสนง่ายใช้ผักกาดเขียวดองมาสับใส่ขิง พริก ข่า เทียม หอมแดง เกลือ ได้รสชาติเปรี้ยวเค็มปนเผ็นนิดๆ

โซ๊ะบ่ะก้วยเต้ด : เมนูพื้นบ้านหากจะพูดให้เข้าใจง่ายคือส้มตำใส่ขิงกินกับใบพลู มีชื่อในภาษาไทยกลางว่า เมี่ยงอยู่ดีกินหวาน รสชาติคล้ายส้มตำมีความเปรี้ยวหวานเพิ่มความเผ็ดร้อนจากขิง และความฝาดของใบพลู จึงเป็นเมนูที่รวมสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดการอักเสบภายในร่างกายได้ดีเลยทีเดียว

อาหารเป็นยา

ผัดไทยไตรี้อ ข้าวแคบ : อีกหนึ่งเมนูที่ไม่ควรพลาดคือ ผัดไทยไตรื้อ ที่ใช้เส้นสดทำจากถั่วเขียว ทานคู่กับข้าวแคบ ซึ่งเป็นแผ่นคล้ายข้าวเกรียบแผ่นใหญ่ ทำจากแป้งข้าวเหนียวที่โม่ด้วยกรรมวิธีแบบโบราณ ผสมน้ำปรุงด้วยเกลือ และงาจากนั้นนำไปย่างจนกรอบ ทานคู่กันได้รสสัมผัสที่ทั้งกรอบ นุ่ม และหนึบ และยังมีประโยชน์จากทั้งถั่วเขียวที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน บำรุงสายตา ควบคุมระดับน้ำตาล และงาดำที่ช่วยลดการอักเสบ ควบคุมระดับคอเลสเตอรอล

ขนมวง : ขนมพื้นล้านนาที่เพิ่งได้รับการโหวตให้เป็น  Lost Taste หรือรสชาติที่หายไปของจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2567 โดยเป็นขนมที่เน้นเพื่อความอยู่ท้อง ส่วนประกอบหลักๆ แป้งข้าวเหนียว และกล้วยดิบ ก่อนนำไปทอดให้กรอบ มีรสชาติ หวานหนึบ 

ด้วยความหลากหลายของอาหารเหล่านี้ จึงไม่แปลกเลยที่ชุมชนไตลื้อจะได้รับรางวัลอาหารเป็นยา สมกับที่เป็นชุมชน อยู่ดีกิ๋นหวานเจ้า….

ชุมชนไตลื้อ เมืองลวงเหนือ

แหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ปี 2565, รางวัลอาหารเป็นยา
ที่ตั้ง : ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

ติดต่อสอบถาม:  โทร 0819519320

เฟสบุ๊ค: ไตลื้อเมืองลวงเหนือ

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ภูมิแพ้กินวิตามินอะไร ช่วยลดอาการ

Athita The Hidden Court Chiang Saen นอนชิว วิถีเชียงแสน

ชีวจิต ชวนรู้จัก 6 สมุนไพร ป้องกันโรค NCDs

ติดตามชีวจิตได้ที่ :

Facebook : นิตยสารชีวจิต
Instagram : Cheewajitmedia
TikTok : cheewajitmediaofficial

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.