การถนอมอาหาร

การถนอมอาหาร ประวัติศาสตร์ที่ยังคงมีลมหายใจ

การถนอมอาหาร ประวัติศาสตร์ที่ยังคงมีลมหายใจ มีหลักฐานชี้ชัดว่า มนุษย์รู้จักเก็บถนอมอาหารมาตั้งแต่ครั้ง 12,000 ปีก่อนคริสตกาล!

การถนอมอาหาร ณ จุดเริ่มต้น 12,000 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 14,000 ปีล่วงมาแล้ว ในดินแดนที่แสงแดดร้อนระอุ ภูมิประเทศล้อมรอบไปด้วยผืนทราย ชาวตะวันออกกลาง สมัยนั้นนับเป็นชนกลุ่มแรก ที่รู้จักเก็บรักษาอาหารให้กินได้ยาวนาน ด้วยการใช้ประโยชน์จากแสงแดดในการตากแห้งอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์หรือผลไม้

ถัดมาในยุคสมัยของชาวสุเมเรียน หรือราว 6,000 ปีก่อน เริ่มมีการทําของหมักดองโดยใช้ประโยชน์จากยีสต์ ทั้งน้ําส้มสายชู และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเบียร์ จนถึงสมัยอียิปต์โบราณ ชาวไอยคุปต์เริ่มรู้จักใช้ประโยชน์จากทองคําขาวแห่งโลกเก่า อย่างเกลือ ในยุคเดียวกันนี้ยังมีการทําขนมปังจากแป้งสาลีที่เพิ่มความนุ่มด้วยการเติมยีสต์ด้วย

ส่วนในดินแดนตะวันออก ชาติที่มีอารยธรรมเก่าแก่อย่างจีนก็พบว่า มีการทําเครื่องดื่มจากข้าวหรือเหล้ากันแล้ว รวมทั้งเครื่องปรุงรสประจําชาติอย่างเต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว เต้าหู้ยี้ อันเป็นผลผลิตจากถั่วเหลืองนั่นเอง

ส่วนในดินแดนขวานทองของไทย ภาพสะท้อนประวัติศาสตร์การถนอมอาหาร ยังคงฉายชัดผ่านเมนูที่พบเห็นกันในปัจจุบัน ทั้งปลาร้า ปลาจ่อม แหนม ไส้กรอก ผักดอง น้ำปลา น้ำบูดู หรือกระทั่งข้าวหมาก

2 ผู้ยิ่งใหญ่ในโลกแห่งการถนอมอาหาร

ในโลกปัจจุบัน ย้อนหลังกลับไปไม่กี่ร้อยปี มี 2 บุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ที่ทําให้หน้าประวัติศาสตร์ของการถนอมอาหารเปลี่ยนไปตลอดกาล นั่นก็คือ นโปเลียน โบนาร์ปาร์ต และหลุยส์ ปาสเตอร์

ต้นแบบอาหารกระป๋อง

เมื่อครั้งที่ นโปเลียนมหาราช แม่ทัพผู้เกรียงไกรแห่งกองทัพฝรั่งเศส โรมรันพันตูอยู่กับการศึกสงคราม เขาสังเกตเห็นความหิวโหยของเหล่าทหาร อันเกิดจากเสบียงอาหารร่อยหรอจากการรบที่ยืดเยื้อ จึงสั่งให้ลูกน้องนามว่านิโกลาส์ แอพเพิร์ท คิดหาวิธีเก็บอาหารไว้ได้นานๆ

และนายนิโกลาส์ผู้นี้ได้ใช้วิธีปรุงอาหารให้สุกก่อนบรรจุลงในขวดแก้วแล้วปิดให้สนิทแน่นด้วยจุกไม้ก๊อก ก่อนนําไปต้มฆ่าเชื้อ ด้วยวิธีนี้ ทหารหาญของนโปเลียนจึงไม่ต้องทนกับความหิวโหยในสนามรบอีกต่อไป และวิธีนี้ได้กลายมาเป็นต้นแบบของอาหารกระป๋องอย่างที่เราเห็นและกินกันในทุกวันนี้นั่นเอง

กําเนิดนมพาสเจอไรซ์

พาสเจอไรซ์ เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ หลุยส์ปาสเตอร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้ยิ่งใหญ่ ผู้คิดค้นวิธีทําลายจุลินทรีย์ในไวน์ ตั้งแต่เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา และต่อมาเกือบครึ่งศตวรรษให้หลังนักวิทยาศาสตร์นามว่า ซอกเลต (Soxhlet)ได้นําวิธีการของปาสเตอร์มาใช้กับนมเป็นครั้งแรก ทําให้เรามีนมพาสเจอไรซ์ดื่มมาจนถึงปัจจุบั

ถนอมอาหารเพื่ออะไร?

สมัยก่อนในยุคที่อารยธรรมมนุษย์ยังอยู่ห่างไกลจากคําว่าศิวิไลซ์ลองนึกภาพบรรพบุรุษของเราเมื่อครั้งยังนอนกลางดิน กินกลางทราย เก็บหาของป่า และล่าสัตว์เพื่อยังชีพ ไม่ได้นั่งทํางานในตึกสูง ไม่มีตู้เย็นเก็บอาหาร ไม่มีอาหารสําเร็จรูปให้ฉีกซองเติมน้ําร้อน

ด้วยสภาพดังกล่าว มนุษย์จึงค่อย ๆ คิดหาหนทางรอดในการยังชีพ ด้วยการเก็บถนอมอาหารด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้เก็บไว้กินได้นาน ๆ เผื่อปีใดฤดูกาลปรวนแปร ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดู หรือมีเหตุให้ต้องเร่ร่อนอ้างแรม จะได้มีเสบียงของแห้งติดตัว นี่คือเหตุผลของการถนอมอาหารตั้งแต่โบราณ ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อดํารงไว้ซึ่งความอยู่รอด มาจนปัจจุบัน

การถนอมอาหารไม่ใช่เพื่อเก็บอาหารไว้เพราะกลัวขาดแคลนเท่านั้น แต่บางครั้งเกิดจากผลผลิตที่มากเกินไป มีการบริโภคไม่ทัน การแปรรูปในรูปแบบต่างๆก็เป็นทางเลือกที่คนทั่วโลกนิยมใช้ตามแต่วัฒนธรรมของใคร รวมทั้งความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมอาหารก็มีส่วนช่วยสร้างให้เกิดการถนอมอาหารรูปแบบต่าง ๆ ขึ้นมาได้

อย่างเครื่องปรุงและเครื่องเคียงประจําชาติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • เต้าเจี้ยว ของจีน
  • โชยุและมิโซะ ของญี่ปุ่น
  • กิมจิจากเกาหลี
  • กะหล่ำปลีดองซาวร์เคราท์ของชาวเยอรมัน
  • โยเกิร์ตของบัลแกเรีย
  • ชีสจากนมจามรีของชาวมองโกล
  • รวมทั้งกะปิและน้ําปลาของไทย เป็นต้น

วิถีแห่งการถนอมอาหาร

ในเชิงสังคม อาจกล่าวได้ว่า การถนอมอาหารมีขึ้นเพื่อยังชีพ ส่วนในทางวิทยาศาสตร์ การถนอมอาหารนั้นคือ วิธีการใดก็ตามที่ช่วยยับยั้งการเติบโตของเหล่าจุลินทรีย์ตัวจิ๋ว ทั้งแบคทีเรีย ยีสต์ เชื้อรา ซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่มีฤทธิ์ร้ายทําให้อาหารบูดเน่าเสียหาย แต่ละมุมโลกก็มีหนทางการเก็บถนอมอาหารแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของทั้งวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อม

แต่โดยสรุปแล้ว ในปัจจุบัน สามารถจําแนกการถนอมอาหารได้ทั้งหมด 7 ประเภท ได้แก่

การหมักดอง เป็นการควบคุมการเติบโตของจุลินทรีย์ การหมักดองมีหลายวิธี ทั้งดองเกลือ ดองน้ําตาลหรือแช่อิ่ม ดองน้ำมัน ดองน้ำส้ม ดองเหล้า หรือกระทั่งการเติมจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายลงไปในอาหาร เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีและเพิ่มคุณค่าทางอาหาร

ในการดองด้วยเกลือและน้ำตาล ต้องใช้ความเข้มข้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ยิ่งเข้มข้นมากเท่าไร ยิ่งยืดอายุการเก็บได้นานขึ้นเท่านั้น อาหารหมักดองที่พบบ่อยในชีวิตประจําวัน เช่น ผักกาดดอง ซาวร์เคราท์ กิมจิ เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ แตงกวาดอง มะม่วงดอง ผลไม้แช่อิ่ม แยม โยเกิร์ต นมเปรี้ยว ชีส รวมทั้งปลาหมึกแช่ด่างกรุบกรอบในเย็นตาโฟก็นับเป็นของหมักดองเช่นกัน

การทําให้แห้ง มีจุดประสงค์เพื่อกําจัดของเหลวให้หมดจากเซลล์ของอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งจําเป็นในการดํารงชีวิตของจุลินทรีย์ เมื่ออาหารปราศจากของเหลว จุลินทรีย์จึงอยู่อาศัยไม่ได้อีกต่อไป การทําให้แห้งมีหลายวิธี ทั้งการหมักเกลือเพื่อให้เกลือเข้าไปออสโมซิสของเหลวออกจากเซลล์ อาหารจึงแห้ง จุลินทรีย์เติบโตไม่ได้จึงเก็บไว้ได้นาน

นอกจากนี้ การตากแห้ง อบแห้ง ก็เป็นการทําให้แห้งเช่นกัน การแช่แข็ง การแช่แข็งหรือแช่เย็นเป็นการยับยั้งการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ การที่เรามีตู้เย็นหรือตู้แช่เพื่อเก็บอาหารสดก็เพราะเหตุนี้

ปัจจุบันมีตัวช่วยการแช่เย็นหรือแช่แข็งมากขึ้น ทําให้การเก็บอาหารสดในครัวเรือนเป็นเรื่องง่าย ทั้งการใช้ถุงซิปล็อก ถุงสุญญากาศกล่องสุญญากาศ นอกจากนี้เทคโนโลยีตู้เย็นสมัยใหม่ยังช่วยรักษาความสดของอาหารได้นานขึ้นด้วย เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพช่องเก็บผักด้วยระบบสุญญากาศ การเพิ่มประสิทธิภาพไหลเวียนอากาศภายในตู้ ฯลฯ

การใช้ความร้อน คือการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ด้วยความร้อนสูงในอุณหภูมิต่าง ๆ กัน เพื่อความสะอาดและระยะเวลาในการเก็บรักษา เช่น พาสเจอไรซ์ สเตอริไรซ์ และยูเอชที ที่พบมากในอาหารประเภทนม ส่วนการรมควัน และอาหารกระป๋องประเภทต่าง ๆ ก็จัดอยู่ในประเภทนี้

  • การพาสเจอไรซ์ (Pasteurization) เป็นการถนอมอาหารชั่วคราว โดยใช้ความร้อนระหว่าง 60 – 80 องศาเซลเซียส เพื่อยับยั้งวงจรชีวิตของเชื้อจุลินทรีย์ อาหารที่ผ่านกรรมวิธีนี้ต้องเก็บในตู้เย็นเสมอ
  • การสเตอริไรซ์ (Sterilization) เป็นการทําลายเชื้อจุลินทรีย์เฉพาะในรูปของสปอร์ (จุลินทรีย์บางชนิดมี 2 รูปแบบ คือ แบบที่กําลังเติบโตและแบบที่เป็นสปอร์) ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษตรงที่ทนความร้อนได้ดี จึงต้องใช้ความร้อนสูงมากถึง 121 องศาเซลเซียสต่อเนื่องนาน 15 – 20 นาที เพื่อฆ่าเชื้อให้ตายสนิท มักใช้กับอาหารบรรจุกระป๋อง และอาหารบรรจุถุงฟอยล์
  • ยูเอชที (UHT : UltraHighTemperature) ก็เป็นการสเตอริไรซ์แบบหนึ่ง แต่ใช้ความร้อนมากถึง 135 องศาเซลเซียส ในเวลาสั้น ๆ เพียง 1 – 2 วินาที ก่อนเข้าสู่กระบวนการทําให้เย็นเฉียบพลัน ช่วยทําลายจุลินทรีย์ได้สิ้นซาก ด้วยเหตุนี้นมยูเอชทีบรรจุกล่องที่ดื่มกันทุกวันจึงไม่จําเป็นต้องเก็บในตู้เย็น

การใช้สารเคมีหรือสารกันบูด เพื่อควบคุมจุลินทรีย์ โดยเฉพาะในแถบร้อนชื้นที่อุณหภูมิเหมาะแก่การเติบโตของเชื้อโรค อาหารแปรรูปทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารกึ่งสําเร็จรูป และอาหารสําเร็จรูปในท้องตลาด เกือบร้อยทั้งร้อยล้วนมีส่วนผสมของสารกันบูด ทั้งนี้เพื่อยับยั้งแบคทีเรียและเชื้อรา รวมทั้งต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ให้อาหารคงสภาพเดิมได้ยาวนานก่อนถึงมือผู้บริโภคนั่นเอง

สารกันบูดที่ใช้กันมาก ได้แก่ กลุ่มของกรดอ่อนและเกลือของกรดอ่อนที่นิยมใส่ในผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ กลุ่มของไนเตรตและไนไตรต์ที่พบมากในไส้กรอก หมูยอ กุนเชียง กลุ่มของซัลไฟต์และซัลเฟอร์-ไดออกไซด์ ที่มักพบในผลไม้แช่อิ่ม เส้นก๋วยเตี๋ยว และไวน์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สารกันบูดจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย หากไม่รับประทานอาหารแปรรูปต่อเนื่องนานเกินไป

การฉายรังสี คือ การฆ่าเชื้อด้วยรังสีแตกตัวได้ที่มีช่วงคลื่นสั้น (IonizingRadiation) ป้องกันได้ทั้งจุลินทรีย์และเอนไซม์ รวมทั้งไข่และตัวอ่อนของแมลงที่ติดมากับอาหาร โดยไม่ทําให้ลักษณะของอาหารเปลี่ยนแปลง มักใช้กับอาหารที่ต้องหลีกเลี่ยงความร้อน เช่น ผักและผลไม้สด

“รังสีที่ใช้ในการถนอมอาหาร ได้แก่ รังสีแกมมา รังสีเอกซ์ และอิเล็กตรอนกําลังสูง”

ประโยชน์และโทษของการถนอมอาหาร

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การถนอมอาหารนั้น หากจะว่าไปก็เป็นการฝืนธรรมชาติของอาหารทางหนึ่ง และวิธีถนอมอาหารทั้งแบบธรรมชาติและการใช้สารเคมี ล้วนแล้วแต่ทําให้คุณสมบัติของอาหารเปลี่ยนแปลงไปทั้งรสชาติ สัมผัส และคุณค่าทางอาหาร ที่อาจจะมากขึ้นหรือน้อยลงได้ตามแต่ชนิดอาหารนั้นๆ

การบริโภคอาหารที่ผ่านการถนอมด้วยวิธีต่าง ๆ ให้ปลอดภัยและได้ประโยชน์ ควรเริ่มจากเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ สะอาด ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองจากหน่วยงานด้านอาหารทั้งไทยและต่างประเทศ

หากเป็นการถนอมอาหารเองที่บ้าน ต้องหมั่นควบคุมความสะอาดให้ดี เมื่อเน่าเสียหรือเก่าเกินเก็บ ไม่ควรเสียดายหรือนํามารับประทาน เพราะอาจทําให้ติดเชื้อในทางเดินอาหารได้

อาหารแปรรูปหรืออาหารสําเร็จรูป ซึ่งส่วนใหญ่สะดวกซื้อ สะดวกปรุง สะดวกกิน เพียงฉีกซอง เปิดฝา อุ่นร้อนด้วยไมโครเวฟ อาจทําให้เราเคยชินกับความรวดเร็ว จนลืมไปว่านี่คือการลดคุณค่าของอาหารที่มีอยู่น้อยให้ยิ่งน้อยลงไปโดยไม่รู้ตัว

เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ ต้องไม่ลืมรับประทานอาหารสดสม่ำเสมอ ให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่หลากหลายและครบถ้วนควบคู่ไปด้วย

เเรื่อง : ชโลทร วรวงศา ภาพ : จิรวัฒน์ มหาทรัพย์ถาวร สไตล์ : กษมา แก้วจำนง เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ

นิตยสาร HEALTH&CUISINE พฤษภาคม 2555

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.