บิงซูชาเขียวถั่วแดง

บิงซูชาเขียวถั่วแดง สูตรสุขภาพ เมนูของหวานสุดฮิต!!

บิงซูชาเขียวถั่วแดง “บิงซู” เมนูของหวานที่กำลังฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมือง ซึ่ง ชีวจิต ไม่แนะนำให้กินของเย็นและของหวานบ่อย ๆ เพราะทำให้สมดุลความร้อน – เย็น ในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป

แต่สำหรับปักษ์นี้ เราขอเอาใจคุณผู้อ่านด้วยการแปลงร่างเมนูบิงซูทั่วไป ให้กลายเป็นบิงซูสุขภาพด้วยการนำเสนอเมนู “บิงซูชาเขียวถั่วแดง”

ส่วนผสมหลักที่ดีต่อสุขภาพ คือ ชาเขียว ซึ่งมีกรดแอมิโนธีอะนีน (Theanine) ที่ช่วยให้สมองสงบ ผ่อนคลาย และยังมีรายงานวิจัยระบุว่า การดื่มชาเขียววันละ 2 – 3 แก้ว ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคซึมเศร้าได้ ถั่วชนิดต่าง ๆ เช่น ถั่วแดง ถั่วเหลือง อุดมด้วยกรดแอมิโนจำเป็นที่มีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย

กินบิงซูทำเองได้ประโยชน์ครบ แถมประหยัดเงินด้วยนะ

ส่วนผสม
นมถั่วเหลือง 2 ถ้วย
ผงชาเขียว 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทรายไม่ขัดขาว 1/4 ถ้วย
น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ
ถั่วแดงกวน ปริมาณตามชอบ
แปะก๊วย ปริมาณตามชอบ
ลูกตาล ปริมาณตามชอบ

วิธีทำ

  1. ต้มนมถั่วเหลือง 1/4 ถ้วย จนเดือด พักไว้
  2. ละลายผงชาเขียวกับนมถั่วเหลือง คนให้เข้ากัน เติมน้ำตาลทรายไม่ขัดขาว น้ำผึ้ง และนมถั่วเหลืองที่เหลือ คนให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว
  3. กรองชาเขียวด้วยกระชอน เทใส่ในภาชนะ นำเข้าช่องแช่แข็ง ทิ้งไว้ประมาณ 4 – 6 ชั่วโมงจนเป็นน้ำแข็ง หรือทิ้งไว้ข้ามคืนก็ได้
  4. ปั่นน้ำแข็งชาเขียวจนกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง ปริมาณตามต้องการตักใส่ถ้วย โรยถั่วแดงกวน แปะก๊วย และลูกตาล พร้อมเสิร์ฟ

5 ประโยชน์ของชาเขียว มัทฉะ

ชาเขียว เป็นหนึ่งในเครื่องดื่มติดเทรนด์สุขภาพอันดับต้นๆ ที่ได้รับความนิยมมาก และนอกจากสายสุขภาพแล้ว ชาเขียวมัทฉะ ยังเป็นที่รู้จักและเป็นที่ชื่นชอบของคนทุกเพศทุกวัย วันนี้เราจึงมาแจกแจง ประโยชน์ของชาเขียว มัทฉะ ที่มีดีกว่าแค่ความอร่อยกันค่ะ

ชาเขียว, ดูแลระบบย่อย, ญี่ปุ่น, อาหารญี่ปุ่น, การดูแลสุขภาพของคนญี่ปุ่น

ช่วยเพิ่มพลังได้อย่างดี

มัทฉะนั้นเป็นแหล่งอุดมคาเฟอีนโดยธรรมชาติ มัทฉะ 1 ช้อนชา ให้คาเฟอีน 60-70 มิลลิกรัม ไม่น่าเชื่อว่าเป็นปริมาณที่เทียบเท่ากับการดื่มเอสเพรสโซ่ 1 ชอต

แต่ความกะปรี้กะเปร่าจากการดื่มมัทฉะนี้ ก็ไม่ได้ทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่าง อาการกระวนกระวาย หรือ อาการน้ำตาลตก อย่างการดื่มกาแฟ เหตุผลเพราะ ในมัทฉะประกอบไปด้วย แอล-ทีอะนีน ที่ช่วยชดเชยผลข้างเคียงจากคาเฟอีนและช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ผู้ดื่มแทนที่จะเป็นความสดชื่นเพียงชั่วครู่ชั่วคราว และในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Current Pharmaceutical Design ฉบับปี 2017 ก็ยังพบว่า แอล-ทีอะนีน ช่วยให้ความจำและการจดจ่อดีขึ้นด้วย

ลดเครียด คลายกังวัล

แม้ว่าในมัทฉะจะมีคาเฟอีนก็ตาม แต่ในการศึกษาพบว่าทั้งในร่างกายมนุษย์และสัตว์ หากได้บริโภคผงมัทฉะ หรือ สารสกัดจากมัทฉะ จะช่วยลดความวิตกกังวล ตรงนี้ต้องยกผลประโยชน์ให้ แอล-ทีอะนีน และพฤกษเคมีในมัทฉะเต็มๆ

นอกจากนั้น มัทฉะยังมีคุณสมบัติลดความเครียด อ้างอิงจากการศึกษาที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Nutrients เดือนตุลาคม 2018 และอีกหนึ่งการศึกษาที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Journal of Functional Foods  ฉบับเดือนกรกฎาคม 2019 ของมหาวิทยาลัยคุมะโมโต ประเทศญี่ปุ่น พบว่า หนูที่ได้รับมัทฉะ ใช้เวลาในการทดสอบเขาวงกตน้อยกว่า บ่งบอกถึงความวิตกกังวลที่ลดลง และสมาธิและการจดจ่อที่เพิ่มขึ้น

อธิบายเพิ่มเติมคือ แอล-ทีอะนีน ที่ก่อให้เกิดความสงบควบคู่กับการเพิ่มการรับรู้และการจดจ่อ ยังกระตุ้นตัวรับสารโดพามีนและเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่มีอิทธิพลต่อความวิตกกังวลและอารมณ์

ช่วยให้ผิวสวย

สำหรับคนที่มีผิวเป็นสิวหรือมีปัญหาอื่นๆ อาจเห็นความเปลี่ยนแปลงหลังจากได้ดื่มมัทฉะเป็นประจำ เพราะมัทฉะมีส่วนประกอบของคลอโรฟิลล์ ซึ่งเป็นพฤษเคมีชนิดหนึ่ง จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ลงใน  Journal of Lifestyle Medicine ฉบับเดือนมีนาคม 2014 ระบุว่า มัทฉะช่วยลดเลือนริ้วรอยก่อนวัย ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นแก่ผิวในผู้หญิงวัย 45 ปีขึ้นไปที่บริโภคเป็นอาหารเสริมอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสารคลอโรฟิลล์ นั้นยังมีส่วนช่วยทำให้รูขุมขนดูเล็กลง

ลดน้ำหนักได้ด้วย

ในหลายการศึกษาต้องการที่จะพิสูจน์ความเชื่อมโยงระหว่างชาเขียวและการลดน้ำหนัก จนแล้วจนรอดก็มีประสิทธิภาพบางอย่างที่มีความเกี่ยวข้องกันในสองอย่างนั้น

เมื่อสารแอนติออกซิแดนท์กับคาเฟอีนผสมกัน (เช่น ชามัทฉะ) การผสมนี้ช่วยในการลดน้ำหนักและวางแผนการลดน้ำหนักได้ผลอย่างมีนัยสำคัญ อ้างอิงจากการวิเคราะห์อภิมานที่ตีพิมพ์ลงใน  International Journal of Obesity ฉบับกันยายน 2009

 ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน

สารแอนติออกซิแอนท์ในมัทฉะไม่ใช่แค่เพียงช่วยบำรุงผิวและลดน้ำหนัก มีการศึกษามากมายระบุว่าสารเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วย เพราะสามารถทำลายสารพิษและฟรีเรดิคัล ในเลือด ที่ก่อให้เกิดการอักเสบและเซลล์ถูกทำลาย เมื่อฟรีเรดิคัลกระจายไปทั่วร่างกาย ผลคือ เกิดภาวะไม่สมดุลของอนุมูลอิสระ ที่มีผลสืบเนื่องให้เกิดอาการอักเสบและโรคจากการอักเสบต่างๆ เช่น โรคข้ออักเสบ โรคขาดเลือดอย่างหลอดเลือดสมอง หรือแม้กระทั่งความผิดปกติของระบบประสาทอย่างอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสัน

แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานว่ามัทฉะจะสามารถเยียวยาหรือป้องกันโรคเหล่านี้ได้โดยตรง แต่ชาเขียวก็มีสารแอนติออกซิแดนท์ในปริมาณที่สูงเมื่อเทียบกับอาหารอื่นๆ อ้างอิงจากการศึกษาที่ตีพิมพ์ลงใน  Nutrition Journal ฉบับ 2010

เรื่อง ผกา เส็งพานิช ภาพ พีรพันธุ์ วิจิตรไกรวิน ผู้ช่วยช่างภาพ ธรรมนาถ อินทร์ปรุง สไตล์ ปรางรัตน์ ฤกษ์สง่า เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ

ชีวจิต 459 นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ 20 : 16 พฤศจิกายน 2560

– – –  – – – – –  – – – – –  – – – –  – – – –  – – –  – – –  – – –  – – –  – –  – –

บทความน่าสนใจอื่นๆ

นมข้าวโอ๊ตโฮมเมด เพิ่มเมลาโทนินธรรมชาติช่วยหลับง่าย

2 สูตร นมงาขาว และนมงาชาเชียว โฮมเมด แคลเซียมดี วิตามินอีสูง

โยเกิร์ตนมถั่วเหลืองโฮมเมด อาหารบำรุงกระดูก ปรับสมดุลฮอร์โมน

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.