เมนูบรรเทาอาการปวดประจำเดือน

แจก 2 สูตร เมนูบรรเทาอาการ “ปวดประจำเดือน”!!

เมนูบรรเทาอาการ “ปวดประจำเดือน” จำได้ว่า เมื่อครั้งวัยรุ่น แอดมินเคยมี อาการปวดประจำเดือน บ่อยๆ ซึ่ง คุณย่าคุณยายหรือคุณแม่ก็มักเตือนเสมอว่า อย่าไปกินนำ้เย็น น้ำแข็งนะ เดี๋ยวจะยิ่งปวด หรือเลือดจะออกมาไม่ดี ทำให้ปวดท้องมากขึ้น

ไก่ตุ๋นยาจีน

ข้อห้ามที่ว่านั้นสามารถอธิบายตามหลักแพทย์แผนตะวันออกได้ว่า ขณะมีประจำเดือน ร่างกายต้องใช้ความร้อนจากไฟธาตุเพื่อขับเลือดเสียและสร้างเลือดดี อาหารที่มีธาตุเย็น เช่น แตงโม มะระ ฟักน้ำเย็นฯลฯ จะรบกวนการทำงานของไฟธาตุ ประจำเดือนจึงขับออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควรและจะทำให้ปวดท้องหากต้องการแก้อาการนี้ก็ควรรับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่มรสร้อนหรืออุ่น เช่น ขิง ข่า กะเพรา หรือพวกเครื่องเทศ เพื่อช่วยเสริมไฟธาตุในกายให้ทำงานได้ดีขึ้น

ด้วยเห็นทุกข์ของลูกผู้หญิงด้วยกัน ฉบับนี้ดิฉันจึงขอแนะนำอาหารที่ช่วย บรรเทาอาการปวดประจำเดือน และช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ ทั้งยังช่วยบำรุงโลหิตของหญิงทั่วไปและคุณแม่หลังคลอดที่มีปัญหาเกี่ยวกับรอบเดือน อย่างไก่ตุ๋นยาจีน ( และน้ำดื่มเพื่อสุขภาพสตรี รับรองว่าทำง่ายและได้ผลดีค่ะ

แต่อย่างไรเสีย หากคุณมีอาการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรงจนผิดปกติ ก็ขอแนะว่าให้รีบปรึกษาแพทย์ดีกว่านะคะ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า อาจมีเนื้องอกหรือเนื้อร้ายเกิดขึ้น จะได้รักษาอย่างทันท่วงทีค่ะ

ไก่ตุ๋นยาจีน (ตำรับอาม่า)

ส่วนผสม (สำหรับ 1 ท่าน โดยแบ่งรับประทานเป็น 3 มื้อ) เตรียม 20 นาที ปรุง 50 นาที

  • ไก่บ้าน (ไก่ไทย) หรือจะใช้ไก่ดำก็ได้ ขนาด 1.6 – 1.8 กิโลกรัม
  • ตังกุย (โกษฐ์เชียง) 9 กรัม
  • ชวนเกียง (โกษฐ์หัวบัว) 5 กรัม
  • อึ้งคี้ 5 กรัม
  • ลำไยแห้ง 5 กรัม
  • เหล้าจีนหรือเหล้าลำไย 2 ช้อนโต๊ะ
  • ขิงแก่ฝานเป็นแผ่นบาง 3 แผ่น
  • เกลือ 2 ช้อนชา
  • น้ำเปล่าสำหรับลวกไก่ 6 ถ้วย
  • เกลือเล็กน้อยสำหรับลวกไก่ 1 ช้อนชา
  • น้ำเปล่าสำหรับเคี่ยว 8 – 10 ถ้วย

วิธีทำ

1. ล้างไก่ให้สะอาดและสับเป็นชิ้นขนาด 4 × 4 นิ้ว (ไม่ใช้ส่วนหัวและก้น) และล้างให้สะอาดอีกครั้ง พักใส่ภาชนะไว้
2. ต้มน้ำจนเดือด ใส่เกลือ แล้วเทลงไปลวกไก่และพักทิ้งไว้สักครู่
3. จัดเรียงเครื่องยาจีนไว้ก้นหม้อ วางเนื้อไก่ลวกเรียงทับลงไปจนหมด
4. วางแผ่นขิงบนไก่ ใส่เกลือและโรยเหล้าจีนให้ทั่ว ใส่นำ้ลงไปให้ท่วมเนื้อไก่ ปิดฝาและตุ๋นจนกว่าเนื้อไก่จะสุกนิ่ม รับประทานขณะร้อนหรืออุ่นจึงจะได้ประโยชน์ โดยแบ่งรับประทาน 3 มื้อ เน้นซดน้ำมากกว่าการบริโภคเนื้อไก่

Tip:

  • หากใช้หม้อตุ๋นไฟฟ้าปรุงเมนูนี้ ให้ลดปริมาณน้ำลงเหลือเพียง 5 – 6 ถ้วยเท่านั้น

พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 487.05 กิโลแคลอรี
โปรตีน 39.30 กรัม ไขมัน 28.28 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 4.64 กรัม ไฟเบอร์ 0.14 กรัม

น้ำดื่มเพื่อสุขภาพสตรี

ส่วนผสม (สำหรับ 1 ที่ แบ่งอุ่นดื่มทั้งวัน)

  • โซวบั๊ก (ฝางเสน) 30 กรัม
  • ไซอั่งฮวย (ญ่าฝรั่น) 3 กรัม
  • น้ำตาลกรวด 30 กรัม
  • น้ำเปล่า 1.5 ลิตร

วิธีทำ

ใส่โซวบั๊กลงในหม้อ เติมนำ้ ยกขึ้นตั้งไฟกลางจนเดือด 15 นาที แล้วใส่ญ่าฝรั่นลงไปต้มอีก 5 นาที เติมน้ำตาลกรวด คนให้ละลาย ปิดไฟ พักทิ้งไว้ให้อุ่นจึงตักใส่แก้วดื่ม

Tip:

  • ใช้ชะเอมเทศเพื่อให้ความหวานแทนน้ำตาลได้ หรือจะรับประทานโดยไม่ใส่สารให้ความหวานใดๆ ก็ได้

พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 38.50 กิโลแคลอรี
โปรตีน 0.00 กรัม ไขมัน 0.00 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 9.95 กรัม ไฟเบอร์ 0.00 กรัม

สรรพคุณสมุนไพรจีน

สรรพคุณและหน่วยการบริโภคต่อวัน

  • อึ้งคี้ รสหวาน มีคุณสมบัติอ่นุ สร้างภูมิต้านทานผิวหนังระบายน้ำและลดบวม ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน
  • ลำไยแห้ง รสหวาน ธาตุอุ่น บำรุงหัวใจ ม้าม เสริมพลังเลือดโลหิตจางช่วยเสริมพลังในสตรีหลังคลอดที่อ่อนแอ เพิ่มพลังชี่และเลือดช่วยให้นอนหลับ (ปริมาฯที่ใช้ไม่ควรเกิน 15 กรัม)
  • ขิง รสเผ็ดอุ่น ขับเหงื่อ ให้ความอบอุ่นแก่ส่วนกลางของร่างกาย แก้คลื่นไส้อาเจียน (ปริมาณที่ควรใช้ 3 – 9 กรัม)
  • ตังกุย รสหวานเผ็ด มีคุณสมบัติอุ่น บำรุงเลือด ช่วยให้เลือดมีการหมุนเวียน ปรับประจำเดือน ช่วยให้ลำไส้ชุ่มชื่นสำหรับสตรีประจำเดือนไม่ปกติจะช่วยขับประจำเดือนบรรเทาอาการปวดประจำเดือน (ปริมาณที่ควรใช้ 4.5 – 9 กรัม )
  • ฝางเสน รสชุ่มบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ บำรุงเลือดหลังคลอด (ปริมาณที่ควรใช้ 30 กรัม)
  • ญ่าฝรั่น รสชุ่ม บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี (ปริมาณที่ควรใช้ 3 – 9 กรัม)

เรื่องและสูตรอาหาร : อาจารย์วันทนี ธัญญา เจตนธรรมจักร
เรียบเรียง : สิทธิโชค ศรีโช ภาพ : พีระพัฒน์ พุ่มลำเจียก สไตล์ : อชิรญา เกตุหนู
เอกสารอ้างอิง
1. A Coloured Atlas of The Chinese Materia Medica Specified
in Pharmacopoeia of The People’s Republic of China
2. Commonly Used Chinese Prescriptions in Thailand
3. ตำราอ้างอิงยาสมุนไพร เล่ม 1

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.