ข้าวมธุปายาส

ชวนมาทำ “ ข้าวมธุปายาส ” อาหารวิเศษในตำนานพระพุทธศาสนา

ชวนมาทำ “ ข้าวมธุปายาส ” อาหารวิเศษในตำนานพระพุทธศาสนา

ครั้งหนึ่งนางสุชาดา ลูกสาวเศรษฐีได้บนบานศาล กล่าวขอเทพเจ้าให้ได้สามีที่เสมอกันและมีลูกที่มีบุญ เมื่อสมหวังนางจึงหุง ข้าวมธุปายาส ซึ่งเป็นอาหารมังสวิรัติเพื่อแก้บนหลังจากหุงเสร็จ หญิงรับใช้ได้รายงานให้ทราบว่า เวลานี้รุกขเทวดาได้จำแลงกายมานั่งรออยู่ที่โคนต้นไทรแล้ว นางสุชาดาจึงรีบยกถาดข้าวมธุปายาสไปน้อมถวายพระพุทธองค์เมื่อครั้งยังไม่ตรัสรู้ทั้งถาด

หลังฉันเสร็จ พระพุทธเจ้าจึงทรงนำถาดใส่ข้าวมธุปายาสไปอธิษฐาน แล้วลอยไปในแม่น้ำเนรัญชราเพื่อเสี่ยงทายว่าพระองค์จะสามารถตรัสรู้ได้หรือไม่ หากได้ก็ขอให้ถาดทองนี้ จงลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป ซึ่งถาดทองก็ได้ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปประมาณ 1 เส้น แล้วจึงจมลงตรงนาคพิภพแห่งพญากาฬนาคราช

ข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาจึงนับว่าเป็นอาหารมื้อสุดท้ายก่อนที่พระพุทธเจ้าจะได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ จึง มีความเชื่อกันว่า ข้าวมธุปายาสเป็นอาหารวิเศษ ผู้ใดมีวาสนาได้กินจะมีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัย อุดมด้วยสติปัญญา และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

LM-014
ข้าวมธุปายาส

ส่วนผสม

1. นมผง (แบบมีไขมันและละลายทันที) 1 กิโลกรัม
2. ข้าวกล้อง 3.3 ขีด
3. ถั่วทอง (หรือถั่วเขียวซีก) 5 ขีด
4. ข้าวบาร์เลย์ 2 ขีด
5. ลูกเดือย 2 ขีด
6. เม็ดบัวแห้ง 2 ขีด
7. น้ำตาลทรายแดง 5 ขีด
8. เกลือครึ่งช้อนโต๊ะ
9. น้ำกรอง 3 ลิตร
วิธีทำ

1. ล้างข้าวกล้อง ถั่วทอง ข้าวบาร์เลย์ ลูกเดือย เม็ดบัวแล้วทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ
2. ต้มน้ำจนเดือดแล้วปิดไฟ
3. นำส่วนผสมในข้อ 1 แช่น้ำเดือดที่ต้มเตรียมไว้เป็นเวลา 6 ชั่วโมง
4. นำส่วนผสมที่แช่น้ำเดือดแล้วล้างด้วยน้ำที่ต้มใหม่ โดยเฉพาะถั่วทองต้องแช่ในน้ำร้อน เพื่อลดสารเคมีตกค้าง
5. นึ่งถั่วทองจนสุก ต้มข้าวบาร์เลย์และลูกเดือยจนสุก พักไว้นำข้าวกล้องไปปั่น แล้วใส่เกลือต้มต่างหาก จากนั้นใส่เม็ดบัวลงไป
ต้มจนเม็ดบัวนิ่ม แล้วจึงรินน้ำทิ้ง
6. ต้มน้ำจนเดือด ค่อย ๆ เทนมผง ละลายให้เข้ากัน เติมน้ำตาลและส่วนผสมทั้งหมดในข้อ 5 ลงไป ตั้งไฟให้เดือดอีกครั้ง
แล้วยกลง กินร้อน ๆ
คำแนะนำ

● ตอนต้มลูกเดือยและข้าวบาร์เลย์ ใส่น้ำให้มากเป็น 2 เท่าเวลาต้มคนเป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวก้นหม้อไหม้ เมื่อ
เดือดแล้วจึงหรี่ไฟอ่อน เคี่ยวไปจนน้ำขลุกขลิกก่อนยกลง
● การต้มข้าวกล้องที่ปั่นแล้วให้ใส่น้ำมากเป็น 2 เท่า ตั้งไฟแรงคนตลอดเพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวก้นหม้อไหม้ เมื่อเดือดแล้วหรี่ไฟ
อ่อน ๆ ไม่ต้องคน ทิ้งไว้จนสุก
● หากไม่ใช้นม จะใช้น้ำเต้าหู้ข้น ๆ แทนก็ได้

หมายเหตุ ด้วยเหตุที่กาลเวลาเปลี่ยนผันมานานถึง 2,600 กว่าปี สูตรข้าวมธุปายาสจึงอาจถูกปรับปรุงสูตรให้เปลี่ยนแปลงไปบ้างตามกาลเวลาและยุคสมัย


กว่าจะได้ข้าวมธุปายาสไม่ใช่เรื่องง่าย (นะจ๊ะ)!

ในสมัยพุทธกาลนั้น การทำสิ่งต่าง ๆ เต็มไปด้วยความพิถีพิถัน แม้แต่ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบในการทำข้าวมธุปายาสเพื่อถวายพระพุทธองค์ก็เช่นกัน โดยก่อนถึงวันหุงข้าวมธุปายาสนั้น นางสุชาดาได้สั่งให้คนงานไล่ต้อนฝูงโคนมจำนวน 1,000 ตัวเข้าไปเลี้ยงในป่าชะเอมเครือ เพื่อให้แม่โคกินชะเอมเครือจนอิ่มแล้วจึงไล่ต้อนออกมา จากนั้น คนงานก็จะแบ่งแม่โคนม 1,000 ตัวออกเป็นสองฝูง ฝูงละ 500 ตัว แล้วจึงรีดนมจากแม่โคนมฝูงหนึ่งมาให้แม่โคนมอีกฝูงหนึ่งกิน เสร็จแล้วจึงนำวัว 500 ตัวที่กินนมจากอีกฝูงหนึ่งแล้วมาแบ่งครึ่งอีกครั้งเป็นสองฝูง ฝูงละ 250 ตัว จากนั้นก็รีดนมจากแม่โคนมฝูงหนึ่งมาให้แม่โคนมอีกฝูงหนึ่งกินเช่นเดิม ต้องแบ่งและคัดแม่โคนมอย่างนี้เรื่อยไป จนเหลือแม่โคนม 8 ตัวสุดท้าย จึงจะรีดน้ำนมจากแม่โคนมทั้ง 8 นั้นมาหุงข้าวมธุปายาส นมที่ออกมาจึงเป็นนมที่ข้น หวาน และอร่อยมาก ๆ …ไม่ง่ายและไม่ธรรมดาจริง ๆ!


*ขอขอบคุณ วิธีการทำข้าวมธุปายาส จากคอลัมน์เข้าครัว นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 188 (ธันวาคม 1994)

เรื่อง ผั่นพั้น สไตล์ ตั๋ง ตั๋ง ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.