เนื้อผัดเหล้าลำไย

“เนื้อผัดเหล้าลำไย” เมนูบำรุงอวัยวะทั้ง 5 เสริมสร้างพลังภายใน

“เนื้อผัดเหล้าลำไย” เมนูบำรุงอวัยวะทั้ง 5 เสริมสร้างพลังภายใน จานเอกของบ้านและขาดไม่ได้ในเทศกาล

เนื้อผัดเหล้าลำไย

ช่วงเวลาปีใหม่ของชาวจีนอย่างเดือนกุมภาพันธ์เช่นปีนี้ ลูกหลานเชื้อสายมังกรจะแสดงออกถึงความกตัญญูที่มีต่อบรรพบุรุษ โดยการเซ่นไหว้อาหารตามประเพณี ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้มีโอกาสมาพบปะสังสรรค์เพื่อรับประทานอาหารและอวยพรให้แก่กัน

ดิฉันจำได้เสมอว่า เมื่อใกล้ถึงวันสำคัญนี้ อาม่าและคุณแม่จะจัดเตรียมอาหารมากมายหลายเมนู โดยมีดิฉันและน้อง ๆ เป็นลูกมือ

ยกตัวอย่างเมนูประจำวันไหว้ เช่น ผัดมี่สั้วทรงเครื่อง ปลิงทะเลผัด หรือตุ๋นน้ำแดง ผัดโหงวก๊วย ผัดกระเพาะปลา รวมมิตรตุ๋น (กระเพาะปลา ปลิงทะเล สาหร่าย เนื้อปู กุ้ง ไก่) ฯลฯ แต่ที่เห็นว่าเป็นจานเอกของบ้านและขาดไม่ได้ในเทศกาล ก็คือ “เนื้อผัดเหล้าลำไย” ค่ะ

ใจความสำคัญของจานนี้อยู่ที่เป็นเมนูโปรดของทุกคน แถมยังมีสรรพคุณบำรุงอวัยวะศูนย์รวมพลังสำคัญทั้ง 5 ได้แก่ ปอด ตับ ม้าม กระเพาะ และไต ซึ่งแพทย์แผนจีนมีแนวคิดว่า หากอวัยวะดังกล่าวแข็งแรง ร่างกายก็จะทรงพลังไม่เจ็บป่วย

ซึ่งอานิสงค์ดังกล่าวนี้ได้จากส่วนผสมสมุนไพรต่างๆ แถมยังได้สรรพคุณอบอุ่นร่างกายจากเนื้อวัวและเหล้าลำไยที่ใช้เป็นส่วนผสม กลายเป็นอาหารต้านลมเย็นได้เป็นอย่างดี

พูดถึงเหล้าลำไย สมัยเป็นเด็กพอถึงฤดูหนาว อากงจะใช้ให้คุณพ่อไปซื้อลำไยจากตลาดมหานาคมาดองเหล้าขาวใส่ไหดินเคลือบ หมักไว้เป็นปีจึงนำมาใช้ หากหมักด้วยลำไยสดจะมีฤทธิ์อุ่นไปจนถึงร้อน แต่ถ้าใช้ลำไยอบแห้ง ฤทธิ์ของความร้อนจะลดลง แต่จะได้กลิ่นหอม
กลมกล่อมมากขึ้น เหล้าชนิดนี้ไม่เหมาะกับการดื่มเพียว ๆ แต่เหมาะกับการใช้ปรุงอาหาร โดยเฉพาะอาหารเข้าเครื่องยาที่หวังผลให้มีฤทธิ์ร้อน หรือใช้ดับกลิ่นสาบของเนื้อสัตว์บางชนิด เช่น เนื้อแพะ เป็นต้น

กุมภาพันธ์ปีนี้ไม่มีอาม่าแล้ว และคุณแม่ของดิฉันท่านก็สูงอายุเต็มที ตำแหน่งก้นครัวยาจีนจึงตกเป็นของดิฉันไปโดยปริยาย กลายเป็นโอกาสให้ได้เชิญชวนคุณผู้รักสุขภาพมาลงครัวปรุงเนื้อผัดเหล้าลำไยไว้บำรุงพลังและต้านลมหนาวไปพร้อม ๆ กัน หรือหากใครจะปรุง
ไว้ใช้เซ่นไหว้บรรพบุรุษ ดิฉันก็ไม่หวงแต่อย่างใดค่ะ

“เมนูนี้มีข้อห้ามเล็กน้อย สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับ โรคความดันสูงและโรคเกี่ยวกับตับไม่ควรรับประทานค่ะ”

เนื้อผัดเหล้าลำไย

ส่วนผสม (สำหรับ 1 ที่)
เตรียม 50 นาที ปรุง 15 นาที

เนื้อสันในวัว (หั่นเป็นชิ้นใหญ่แต่บาง) 200 กรัม
พริกหวานสีแดง เขียว เหลือง หั่นเต๋าอย่างละ 2 ช้อนโต๊ะ
หอมหัวใหญ่ สับหยาบ 2 ช้อนโต๊ะ
แปะก๊วยต้มสุก 20 เม็ด
เกาลัด ต้มสุกหรือคั่วสุก 10 เม็ด
ห่วยซั วต้มหรือแช่น้ำร้อนจนนิ่ม หั่นเป็นชิ้นพอคำ 60 กรัม
ต้นหอม หั่นเป็นท่อน 60 กรัม
พริกไทยดำบดหยาบ 10 เม็ด
พริกหอม (ชวนเจียว) บดหยาบ 5 เม็ด
กระเทียมสับ 1 ช้อนโต๊ะ
เหล้าลำไย 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำมันงา 1 ช้อนชา
น้ำมัน สำหรับผัด 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา
แป้งมันสำปะหลัง 1 ช้อนชา
ซีอิ๊วขาว 3 ช้อนโต๊ะ
น้ำเปล่า 1/4 ถ้วย
ข้าวสวยหรือเส้นหมี่ขาวลวก ตามชอบ
เนื้อลำไยดองเหล้า (ไม่ใส่ก็ได้) 2 – 3 เม็ด

วิธีทำ

  1. ขยำเนื้อกับน้ำมันงาและเหล้าลำไยเบา ๆ ในชาม แล้วใส่แป้งมันลงคลุกเคล้าให้เข้ากัน
    หมักเนื้อทิ้งไว้ 1-2 ชั่วโมง
  2. รินน้ำมันลงกระทะ ตักพริกไทยกับพริกหอมรวมกันในถ้วย คนพอเข้ากันแล้วใส่ลงผัด
    ให้หอม ตามด้วยกระเทียม หอมหัวใหญ่พริกหวาน แปะก๊วย และเกาลัดตามลำดับ
  3. ใส่เนื้อที่หมักไว้ลงผัด ตามด้วยห่วยซัว เหล้าลำไย (หากต้องการใส่เนื้อลำไยดองเหล้า ให้ใส่ในขั้นตอนนี้) แล้วปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว น้ำตาลทราย เติมน้ำผัดต่อพอสุก โรยต้นหอม ผัดเร็ว ๆ
  4. ปิดไฟ แล้วตักรับประทานกับข้าวสวยหรือรับประทานกับเส้นหมี่ขาวลวกก็อร่อยดีเช่นกัน

แปะก๊วย : บำรุงกระเพาะ ม้าม ไต ทำให้เลือดหมุนเวียนดี
เกาลัด : บำรุงกระเพาะ ม้าม ไต ทำให้เลือดไหลเวียนดี แก้อ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย
เนื้อวัว : บำรุงเลือด เสริมพลัง บำรุงม้าม บำรุงกระเพาะ
ห่วยซัว : บำบัดอาการพร่อง บำรุงม้าม ปอด ไต บำรุงชี่ (พลัง) แก้ไอมีเสมหะมาก เนื่องจากโรคปอด ช่วยกระตุ้นและเสริมภูมิคุ้มกัน
พริกหอม (ชวนเจียว) : ออกฤทธิ์ต่อปอด ม้าม ไต กระจายลมเย็นในร่างกาย ขับความชื้น แก้ปวดเมื่อยเหน็บชาจากลมชื้น ขับลม แก้จุกแน่นอก อาหารไม่ย่อย
พริกไทยดำ : อุ่นอวัยวะภายใน ช่วยย่อย แก้ปวดท้องอันเกิดจากความเย็น
เหล้าลำไย : บำรุงม้าม ช่วยขับความหนาวเย็น อบอุ่นร่างกาย

เอกสารอ้างอิง : 1. หนังสือ “อาหารเครื่องยาจีน หลักโภชนาการ พร้อมสูตรอาหารอายุวัฒนะ” โดยบริษัทรีดเดอร์ส
ไดเจสท์ (ประเทศไทย จำกัด) 2. “A Coloured Atlas of The Chinese Materia Medica Specified in Pharmacopoeia
of The People’s Republic of China, Commonly Used Chinese Prescriptions in Thailand”“สารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน” โดยวิทยา บุญวรพัฒน์ 4. “คู่มือสมุนไพรไทย-จีน” โดยสันติ แซ่หลิว

Tips

  • เหล้าลำไยทำได้โดย แกะเนื้อลำไยสด คว้านเมล็ดออก ใส่ลงในโหลแก้วมีฝาปิด เติมน้ำตาลกรวดเล็กน้อย แล้วรินเหล้าโรงใส่ลงไปจนท่วมเนื้อลำไยประมาณ 1 ข้อนิ้วมือปิดฝา หมักไว้ 3 เดือนจึงนำมาใช้ ทั้งนี้ขนาดของโหลควรพอดีกับปริมาณเหล้า กล่าวคือระดับของเหล้าควรอยู่ที่คอของขวดโหลเพื่อป้องกันเชื้อราในอากาศ
  • หากไม่มีเหล้าลำไย ให้นำเนื้อลำไยสดประมาณ 6 – 7 ผลมาบดด้วยช้อนพอให้น้ำหวานในลำไยละลายออกมา แล้วรินบรั่นดีหรือเหล้าขาวใส่ลงไป 2 ช้อนโต๊ะ หมักทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีจึงนำไปหมักเนื้อ

เเรื่องและสูตรอาหาร : อาจารย์วันทนี ธัญญา เจตนธรรมจักร เรียบเรียง : สิทธิโชค ศรีโช ภาพ : อัศวิน นรินท์ชัยรังษี สไตล์ : พิชญา ศิริวงศ์รังสรร เขียนลงเว็บ : เนื้อทอง ทรงสละบุญ

นิตยสาร Health & Cuisine ปี 2555 ฉบับที่ 133 หน้า 68-69

#ACuisine #เอควิซีน #CherryKitCook #Recipes
https://unitus.synergy-e.com/custom/inread/sf/src/html/r.html?ox_ver=8.6อยากกิน อยากฟิน อยากทำ อย่าลืมติดตาม A Cuisine (เอควิซีน)

📌Website: https://goodlifeupdate.com/healthy-food
📌Messenger : http://m.me/AcuisineTH
📌Instagram : www.instagram.com/acuisine.th/
📌Pinterest : www.pinterest.com/AcuisineTH/

สูตรอาหารอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.