เจียวผักปั๋ง (ผัดผักปลังแบบภาคเหนือ)
พัทธปิตะ หรือดีในฝัก หมายถึงระบบ ควบคุมการทำงานของน้ำดี ตลอดจนฮอร์โมนต่างๆ หากเกิดภาวะถุงน้ำดีอุดตันหรือการผลิตน้ำดีผิดปกติไป จะทำให้เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง เป็นนิ่วในถุงน้ำดีหรือน้ำดีอักเสบได้
อพัทธปิตะ หรือดีนอกฝัก หมายถึง การทำงานของน้ำดีเมื่อออกจากถุงน้ำดีแล้ว โดยมีหน้าที่ในการย่อยอาหาร รวมไปถึงการเผาผลาญสารอาหารทั้งหมดในกาย ตามคัมภีร์โรคนิทาน กล่าวว่า หากดีชนิดนี้พิการจะทำให้ตัวเหลือง มีอาการคลุ้มคลั่ง ถ่ายเป็นสีเขียว (เนื่องจากน้ำดีส่วนเกินออกมาเจือในอุจจาระ)
กำเดา คือศูนย์กลางควบคุมความร้อนในร่างกายทั้งหมด โบราณกล่าวไว้ว่า ระบบกำเดาเป็นหัวหน้าแห่งไฟทั้งมวล สุขภาพจะสมบูรณ์หรือไม่อย่างไรขึ้นกับกำเดาเป็นสำคัญ
จากข้อมูลข้างต้นสรุปได้ว่า หากเราสามารถบำรุงน้ำดีทั้งในฝักและนอกฝักให้เป็นปกติได้ ตลอดจนสามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้คงที่ ก็จะทำให้สุขภาพดีได้ไม่ยาก โดยรสอาหารที่ใช้ปรับสมดุลไฟธาตุดังกล่าว ก็คือ รสขม ซึ่งช่วยบำรุงน้ำดี และรสเย็นจืดจะช่วยปรับลดความร้อนส่วนเกินในกาย
ฉบับนี้จึงเลือกเสนอเมนู “เจียวผักปั๋ง” หรือผัดผักปลังแบบภาคเหนือ อาหารทำง่ายแต่ช่วยบำรุงไฟธาตุ เนื่องจากผักปลังมีรสเย็นจืด อีกทั้งเมือกของผักปลังยังช่วยลดความร้อน ในร่างกายได้ดี ทั้งยังช่วยให้ขับถ่ายสะดวก เติมความอร่อยจากต้นตำรับด้วย“เห็ดหูหนู” ซึ่ง มีฤทธิ์ช่วยให้ตัวเย็นลงอีก อาหารจานนี้จึงช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายเมื่อเกิดความร้อนส่วนเกินได้อย่างดี

เจียวผักปั๋ง (ผัดผักปลังแบบภาคเหนือ)
ส่วนผสม (สำหรับ 2 ที่) เตรียม 20 นาที ปรุง 10 นาที
ดอกผักปลังสด 4 ถ้วย
เห็ดหูหนู 1 ถ้วย
พริกหวานสามสี หั่นเต๋าเล็ก 1/2 ถ้วย
ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำมะกรูด 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำมันพืช 3 ช้อนโต๊ะ
น้ำเปล่าสำหรับลวกผัก
น้ำเย็นสำหรับแช่ผัก
ส่วนผสมพริกแกง
พริกหนุ่มซอยบาง ตามขวาง 2 เม็ด
หอมเล็กปอกเปลือก 6 หัว
กระเทียมกลีบเล็ก ปอกเปลือก 16 กลีบ
วิธีทำ
1. โขลกส่วนผสมพริกแกงรวมกันหยาบๆ พักไว้
2. ลวกดอกผักปลังในน้ำเดือดแล้วตักขึ้นแช่ในน้ำเย็นทันทีเพื่อให้ผักยังกรอบและสีสวย จากนั้น เทใส่กระชอนพักให้สะเด็ดน้ำ
3. เทน้ำมันใส่กระทะ แล้วใส่พริกแกงลงผัดจนหอม ตามด้วยพริกหวานสามสี ใส่ดอกผักปลัง และเห็ดหูหนูลงผัด ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว ผัดพอเข้ากัน ปิดไฟ ใส่น้ำมะกรูดลงไป เคล้าให้เข้ากัน ตักเสิร์ฟพร้อมข้าวสวย
Tip
การใส่น้ำมะกรูดในเมนูนี้เพื่อช่วยดับกลิ่นเหม็นเขียวของผักปลัง จัดเป็นภูมิปัญญาด้าน การปรุงอาหารตามแบบภาคเหนือของไทย