“คุณค่าของเป้าหมาย ยิ่งใหญ่กว่าจะยอมแพ้ ” หมออีม – ทพญ.นภัสพร ชำนาญสิทธิ์ หญิงไทยคนแรกที่พิชิตยอดเขา เอเวอเรสต์
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 หลายคนคงได้เห็นภาพของ หมออีม – ทพญ.นภัสพร ชำนาญสิทธิ์ หญิงไทยคนแรกที่พาธงชาติไทย และพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปโบกสะบัดอยู่บนยอดเขา เอเวอเรสต์ ได้สำเร็จ จนกลายเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้กับคนอีกมากมาย
หมออีม…ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่มีหัวใจและความมุ่งมั่นอันยิ่งใหญ่ ผู้ที่สามารถทลายข้อจำกัดของคำว่า “สตรี” ในความคิดของคนทั่วไป เล่าถึงเรื่องราวของการเดินทางสู่การสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับประเทศไทยว่า
“สมัยเรียนอีมไม่ค่อยได้ไปเที่ยวที่ไหน เรียนอย่างเดียว จนกระทั่งเรียนจบ มีเวลาว่างมากขึ้น จึงอยากลองทำอะไรที่เราเคยอยากทำ
“เมื่อ 7 ปีที่แล้ว อีมเริ่มต้นจากการเดินเขาที่พูนฮิลล์ในประเทศเนปาลก่อน ตอนนั้นไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย ทั้งเหนื่อย ทั้งทรมาน แต่มีความสุข เพราะได้เห็นความสวยงามของทิวทัศน์และรายละเอียดต่าง ๆ ระหว่างทางที่ไม่สามารถบันทึกได้ด้วยภาพถ่าย ตอนนั้นเหมือนเป็นการเปิดโลกใหม่ให้กับอีมเลยค่ะ มันเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่เราได้อยู่กับตัวเอง และต่อสู้กับตัวเอง ทำให้อีมรู้สึกมีความสุขมาก
“หลังจากนั้นมาอีมก็เริ่มหาข้อมูลทริปเดินป่าปีนเขา เพราะอยากไปปีนเขากีนาบาลูในประเทศมาเลเซีย ที่สูง 4,101 เมตร และภูเขาที่นักปีนเขามือใหม่ส่วนใหญ่จะไปเริ่มต้นที่นี่ ทริปนี้เองทำให้อีมได้พบกับ ป๋าคมรัฐ พิชิตเดช ผู้อยู่เบื้องหลังการเดินทางสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ในเวลาต่อมา”
หลังจากการปีนเขาที่แสนท้าทายในครั้งแรก หมออีมก็ได้ปีนเขาพิชิตความสูงที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกมากมายหลายลูก ด้วยหลงรักในเสน่ห์ของกิจกรรมที่ทำให้เธอได้กลับสู่ธรรมชาติที่เรียบง่าย
“อีมรู้สึกว่าตัวเราคือธรรมชาติ การปีนเขาทำให้เราได้กลับสู่ธรรมชาติ กลับไปหารากเหง้าดั้งเดิมซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเรา เพราะมนุษย์ก็คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่การใช้ชีวิตประจำวันทำให้เราออกห่างจากจุดเริ่มต้นนี้ หลังจากปีนเขาทำให้อีมเรียนรู้ที่จะมีความสุขได้ง่าย ๆ เพราะเราใช้ชีวิตโดยอาศัยเพียงปัจจัย 4 แค่กินอิ่ม นอนหลับ เพียงเท่านี้ก็มีความสุขแล้ว
“ในทางกลับกัน พอเรากลับมาใช้ชีวิตในเมือง ซึ่งเป็นชีวิตที่มีอะไรเข้ามาปรุงแต่งมากมาย เรากลับไม่มีความสุข หาความสุขได้ยาก เพราะความต้องการของเราก็จะเพิ่มมากขึ้นไปด้วย
“อีมไม่เคยคิดว่าการปีนเขาเป็นการไปเพื่อพิชิตธรรมชาติ เพราะเราไม่มีทางพิชิตธรรมชาติได้ แต่มันเป็นการสู้กับจิตใจของตัวเอง และทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น อีมค่อย ๆ เปลี่ยนตัวเองไปทีละนิด จากเดิมเป็นคนไม่ออกกำลังกาย ก็ต้องเริ่มออกกำลังกายมากขึ้น กลายเป็นคนที่มีระเบียบวินัย และมองสิ่งต่าง ๆ อย่างปล่อยวาง เข้าใจและยอมรับอะไรได้ง่ายขึ้น ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เพราะอีมรู้สึกว่าเราเป็นแค่ส่วนหนึ่งของระบบอันยิ่งใหญ่เท่านั้น”
จากหญิงสาวที่หลงใหลในเสน่ห์ของการปีนเขา สู่หญิงไทยคนแรกที่สามารถพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ที่สูงที่สุดในโลก หมออีมเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเดินทางเหนือฝันในครั้งนั้นว่า
“หลังจากกลับมาจากปีนเขาที่เมราพีค ประเทศเนปาล อีมก็ศึกษาหาข้อมูลการปีนเขาไปเรื่อย ๆ กระทั่งไปเจอคลิปวิดีโอของ พี่หนึ่ง – วิทิตนันท์ โรจนพานิช คนไทยคนแรกที่สามารถพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้ ตอนนั้นอีมไม่รู้มาก่อนว่าเคยมีคนไทยเดินทางไปถึงยอดเขาเอเวอเรสต์แล้ว
“ในคลิปวิดีโอที่เปิดดู เป็นตอนที่พี่หนึ่งอยู่บนยอดเขาพร้อมกับร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีและชูภาพพระบรมฉายาลักษณ์ อีมดูซ้ำไปมาหลายรอบ ดูไปก็ร้องไห้ไป อีมรู้สึกทึ่งและชื่นชมในสิ่งที่พี่หนึ่งทำมาก ไม่ใช่เพียงเพราะความเก่ง แต่เพราะพี่หนึ่งไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น พี่หนึ่งทำเพื่อในหลวงรัชกาลที่ 9
“ตอนนั้นอีมไม่กล้าบอกใครว่าฝันอยากจะไปพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ เพราะรู้สึกว่าเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราจะทำได้ แต่หลังจากนั้นในปี 2556 อีมก็คุยกับป๋าคมรัฐว่าอยากจะปีนเขาเอเวอเรสต์ ป๋าก็สนับสนุนเพราะเห็นถึงความตั้งใจและศักยภาพทางกายของเราที่น่าจะทำได้ จึงไปช่วยระดมทุนจากภาคส่วนต่าง ๆ เพราะการปีนเขาเอเวอเรสต์ต้องใช้เงินทุนค่อนข้างมาก เราได้รับการช่วยเหลือจากภาคส่วนต่าง ๆ มากมาย แต่ก็ยังไม่เพียงพอ อีมจึงเปิดเพจ Thai Everest 2016 เพื่อช่วยระดมทุนผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อีกทางหนึ่ง
“อีมมีกำหนดการเดินทางในเดือนมีนาคม ปี 2559 จึงต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม จากที่เป็นคนไม่เคยวิ่งก็ต้องเริ่มวิ่งให้มากขึ้น ต้องวิ่งให้ได้ 100 กิโลเมตรอย่างต่อเนื่อง ปกติเป็นคนนอนดึกตื่นสาย ก็ต้องนอนตั้งแต่ 4 ทุ่มเพื่อที่จะตื่นตี 4 ทุกวัน เพื่อมาวิ่งในตอนเช้า และกลับไปเวตเทรนนิ่งหลังเลิกงาน เป็นแบบนี้แทบทุกวัน เสาร์อาทิตย์ก็ไปวิ่งตามงานต่าง ๆ หรือฝึกแบกเป้เข้าป่า
“เป้าหมายที่ตั้งไว้ทำให้อีมรู้สึกมีพลัง ยอมทำทุกอย่าง ยอมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองและทำในสิ่งที่เราไม่ชอบ เช่น การออกกำลังกายและการใช้ชีวิตตามตาราง เพราะอีมคิดเสมอว่ากว่าจะได้โอกาสนี้มาไม่ง่าย ถ้าเราปล่อยให้โอกาสนี้หลุดลอยไป อาจจะไม่มีโอกาสอีก เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด และทุกครั้งเวลารู้สึกท้อก็จะเปิดคลิปของพี่หนึ่งดูเสมอ
“การเดินทางสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ในครั้งนี้ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 2 เดือน โดยในช่วงแรกเป็นการปรับตัวด้วยการเดินขึ้นเขาที่ไม่สูงมาก จากนั้นก็เป็นการเดินทางไปสู่เอเวอเรสต์เบสแคมป์ ซึ่งเราต้องขึ้นลงอยู่สามรอบ เพื่อให้ร่างกายปรับตัว
“ทั้งที่อีมเตรียมตัวเตรียมใจมาดีแล้วก็ยังรู้สึกทรมานมาก เพราะสิ่งที่เจอกับสิ่งที่คิดไว้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อีมรู้สึกเหนื่อยที่สุดในชีวิต เรียกว่าแค่นั่งหายใจเฉย ๆ ก็เหนื่อยแล้ว ยิ่งขึ้นสูงยิ่งนอนไม่ได้ เพราะปริมาณออกซิเจนเบาบางมาก ตอนนั้นอีมกังวลว่าจะไปถึงไหม แต่ก็คิดว่าตราบใดที่ยังสามารถทำได้ เราจะเดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ
“เมื่อไปถึงแคมป์ที่ 2 ป๋าคมรัฐที่เดินทางไปด้วยกันก็ตัดสินใจกลับลงมาก่อน เพราะร่างกายสู้ไม่ไหวเนื่องจากมีน้ำในปอด พอรู้ว่าเหลือตัวคนเดียวยิ่งรู้สึกแย่ ยิ่งกังวลว่าจะสามารถทำภารกิจในครั้งนี้สำเร็จได้หรือไม่
“กระทั่งวันสุดท้ายก่อนที่จะไปถึงยอดเขา อีมเตรียมใจไว้แล้วว่าจะต้องเป็นวันที่ยาวนานมากแน่ ๆ เพราะอากาศหนาวมาก ทั้งง่วงทั้งหิว แต่ก็ทำได้เพียงแค่เดินต่อไปเพื่อรอแสงเช้า
“เมื่อเดินไปถึงจุดหนึ่ง อีมรู้สึกตัวว่าไม่ไหวแล้วอยากกลับ ตอนนั้นคิดว่า หากอีมกำลังทำเพื่อความฝันของตัวเอง ก็ขอหยุดเพียงแค่นี้ เวลานั้นเราทิ้งความฝันของเราไปแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้อีมยังคงเดินต่อคือ ผู้อยู่เบื้องหลังมากมายที่คอยให้การสนับสนุนให้เราเดินมาถึงจุดนี้ได้
“ก่อนจะถึงแคมป์สุดท้าย อีมได้คุยกับพี่หนึ่ง ซึ่งพี่หนึ่งบอกว่า พอถึงแคมป์ที่ 4 ให้อีมเดินต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องคิดอะไรแล้ว เพราะก้าวต่อไปจากนั้น อีมจะไม่ได้เดินเพื่อตัวเอง แต่จะเดินเพื่อคนอื่น เวลานั้นไม่มีตัวเราหรือความฝันของเราแล้ว
“ตอนที่ท้อแท้ที่สุด อีมนึกถึงพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่อยู่ในกระเป๋าเป้ และบอกกับตัวเองว่า ตราบใดที่ยังก้าวได้อยู่ก็จะก้าวต่อไปเรื่อย ๆ พร้อมกับร้องเพลงต้นไม้ของพ่อไปเรื่อย ๆ
“ในที่สุดอีมก็เดินมาถึงยอดเขาเอเวอเรสต์ตอนเวลา 9.45 น. ของวันที่ 19 พฤษภาคม ที่เคยคิดว่าเมื่อขึ้นไปถึงจะต้องรู้สึกสุดยอดและยิ่งใหญ่มากแน่ ๆ แต่เอาเข้าจริงความรู้สึกแรกกลับเป็นความโล่งใจว่าเราทำภารกิจหน้าที่ของเราเสร็จแล้ว เรามาเพื่อที่จะชูพระบรมฉายาลักษณ์และธงชาติไทย และทำสำเร็จแล้ว ความรู้สึกถัดมาคือความว่างเปล่า ข้างบนนั้นไม่มีอะไรเลย สิ่งที่เคยคิดว่าเป็นเป้าหมายเป็นความหวัง สุดท้ายมีเพียงความว่างเปล่า เป็นเพียงผืนดินที่อยู่สูงขึ้นมา และเป็นเพียงจุดอ้างอิงจุดหนึ่งเท่านั้น
“อีมรู้สึกว่าเป้าหมายที่เราฝันถึงมาตลอด เมื่อไปถึงกลับไมมี่อะไรเลย ในทางกลับกัน สิ่งที่มีค่ากลับอยู่ระหว่างทาง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่อีมตัดสินใจจะเดินทางสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ รายละเอียดต่าง ๆ ผู้คนรอบข้างที่คอยช่วยเหลือเรา เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นคือสิ่งมีค่าที่สุด
“การเดินทางในครั้งนั้นทำให้อีมหันกลับมาพิจารณาว่าเรากำลังใช้ชีวิตอย่างประมาทอยู่หรือเปล่า แท้ที่จริงแล้วชีวิตของเราเปราะบางมาก เราไม่ได้อยู่เป็นอมตะ เพราะฉะนั้นในปัจจุบันเราใช้ทุกวินาทีอย่างคุ้มค่าหรือไม่ เวลาที่ล่วงเลยไปเรามัวทำอะไรกันอยู่”
ที่มา : นิตยสาร Secret ฉบับที่ 231
เรื่อง : อิศรา ราชตราชู
ภาพ : สรยุทธ พุ่มภักดี
บทความน่าสนใจ
หวง ต้าฟา 36 ปีกับโครงการขุดภูเขาสามลูก นำน้ำเข้าหมู่บ้าน
ชัยชนะที่เหนือกว่า “ ยอดเขาเอเวอเรสต์ ” ของอีริก ไวเฮนเมเยอร์