พระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้า ทุกพระองค์ทรงสอนเหมือนกัน โดย พระกรภพ กิตติปญฺโญ

การที่เราจะทราบว่าแนวทางปฏิบัติที่ตำราหรืออาจารย์สอนถูกต้องหรือไม่นั้น ให้ยึดหลักง่าย ๆ ว่า สิ่งที่ท่านสอนนั้นสอดคล้องหรือไม่กับธรรม 3 ข้อที่ พระพุทธเจ้า ทุกพระองค์ทรงสอน คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม และการชำระจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลส

หากแนวทางนั้นเน้นย้ำธรรม 3 ข้อนี้ อย่างน้อยก็สบายใจได้เปลาะหนึ่งว่า ตำราหรืออาจารย์ท่านนั้นพาเรามาในเส้นทางที่จะไปสู่สุคติ พาเราเข้าสู่เส้นทางแห่งพระนิพพานแล้ว

อย่างไรก็ดี ธรรม 2 ข้อแรกไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมาก ส่วนใหญ่ทุกตำรา ทุกอาจารย์จะสอนตรงกันหมด คือให้เราเลิกทำบาป และหมั่นสร้างบุญสร้าง แต่การชำระจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลสหรือธรรมข้อที่ 3 นั้น มักจะเป็นเรื่องที่แตกต่างกันไป

แม้ว่าทุกตำรา ทุกอาจารย์จะยึดหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นแนวทางการสั่งสอนก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติยังมีข้อปลีกย่อยที่ต่างกันมากมาย เช่น แบบอาณาปานสติ กำหนดลมหายใจ การบริกรรมพุทโธบ้าง สัมมาอะระหังบ้าง ยุบหนอพองหนอบ้าง หรือการเจริญสติปัฏฐาน 4 การแยกรูป แยกนาม การตามดูจิต เฝ้าดูเวทนา ตลอดจนการพิจารณาธาติ 4 ขันธ์ 5 ฯลฯ

นอกจากนี้แล้ว เรื่องที่นักปฏิบัติส่วนใหญ่คงจะสับสนปนเปกันเป็นอย่างยิ่งก็คือเรื่องสมาธิกับเรื่องปัญญา หรือเรื่องสมถะกับเรื่องวิปัสสนา ซึ่งนักปฏิบัติธรรมที่อยู่ในฐานะผู้แสวงหาจะสับสนเป็นที่สุดว่า จะเชื่อตามตำราไหน อาจารย์ไหนดี เพราะทุกตำรา ทุกอาจารย์ต่างอ้างว่า ต้องอย่างนี้เท่านั้น จึงจะถูกต้องตามแนวของพระพุทธเจ้า

 

ในเมื่อเราอยู่ในสมัยพุทธชยันตี ไม่ได้อยู่ในสมัยพุทธกาล จึงไม่มีโอกาสทราบว่าตำราหรืออาจารย์ใดสอนและพาทำตรงตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้จริง จึงเป็นเรื่องของพวกเราที่จะต้องทำความเข้าใจกับตำราหรือคำสอนนั้น ๆ ให้กระจ่าง แล้วใช้ปัญญาพิจารณาเลือกเอาสิ่งที่เหมาะกับตัวเรามาปฏิบัติ

เปรียบเสมือนเราไปในงานเลี้ยงอาหารแบบบุฟเฟต์ ที่มีอาหารน่ารับประทานทั้งนั้นวางอยู่ที่โต๊ะอาหาร ใครจะบอกว่าอาหารชนิดไหนอร่อยก็เป็นเรื่องของลิ้นแต่ละคน เราไม่จำเป็นต้องอร่อยตามคนอื่น เราเอาลิ้นของเราเป็นหลัก

อาหารชนิดไหนที่เราไม่รู้จักหรือเราไม่อยากลองกิน หรือไม่ชอบ ก็ไม่ต้องตักใส่จานเรา อาหารชนิดไหนเราชอบ เราก็ตักแต่อาหารชนิดนั้น เป็นสิทธิ์ของเรา ไม่จำเป็นต้องไปตามอย่างใคร และไม่ต้องไปยุ่งกับคนอื่น

ใครเขาจะตักอาหารชนิดไหนก็เรื่องของเขา เป็นสิทธิ์ของเขา ต่างคนต่างรับประทาน ใครกินคนนั้นก็อิ่ม ใครไม่กินคนนั้นก็อด

ฉันใดก็ฉันนั้น แนวปฏิบัติมีมากมายหลายแบบ สุดแต่ว่าแบบไหนจะเหมาะกับจริตใคร ไม่มีแบบไหนดีกว่าแบบไหน

 

อันที่จริงการจะปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุธรรมตามรอยของพระพุทธเจ้า จะต้องใช้ทั้งสองหลัก คือทั้งสมถะและวิปัสสนา เปรียบเสมือนเราจะเดินก็ต้องใช้เท้าทั้งสองข้าง เพียงแต่ว่าจะเอาเท้าซ้ายออกนำแล้วก้าวเท้าขวาตาม หรือจะเอาเท้าขวาออกนำแล้วตามด้วยซ้าย ก็สุดแต่ความถนัดของแต่ละท่าน

ที่สุดแล้วก็ต้องใช้เท้าทั้งสองข้างเดินไปด้วยกันนั่นเอง ส่วนว่าจะเดินมุ่งหน้าไปในทิศทางใดก็สุดแต่เป้าหมายที่ท่านตั้งไว้ และจะถึงจุดหมายปลายทางช้าหรือเร็ว ก็ขึ้นอยู่กับว่าท่านจะค้นพบจริตเดิมของเท่านเพื่อจะเอามาต่อยอดหรือไม่ หรือท่านจะนั่งนับหนึ่งไปเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเอาสมถะหรือสมาธินำ แล้วตามด้วยวิปัสสนาหรือปัญญา หรือจะเอาปัญญานำแล้วตามด้วยสมาธิ ก็สุดแต่จริตเดิมของแต่ละคน

แต่ต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ว่าการจะบรรลุธรรม คือรู้ธรรม เห็นธรรมนั้น จะต้องเจริญวิปัสสนา คือพิจารณาข้อธรรมด้วยปัญญาของตนเอง เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้จิตบริสุทธิ์จากกิเลสได้ ดังคำบาลีที่ว่า ปัญญายะ ปริสุชฌะติ และปัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องเจริญวิปัสสนา มิใช่ว่านั่งสมาธิไปแล้วจะเกิดปัญญาขึ้นมาอัตโนมัติดังที่เข้าใจกันผิด ๆ ตลอดมา

 

นอกจากนี้โปรดสังเกตให้ดีว่าตำราหรืออาจารย์นั้นท่านสอนให้เรารู้จักและเดินตามมรรคมีองค์ 8 หรือไม่ เพราะในพระปัจฉิมสักขิสาวกเทศนานั้น พระพุทธเจ้าตรัสกับพระสุภัททะความว่า ในธรรมวินัยใดมีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 ในธรรมวินัยนั้นมีสมณะที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 นั่นคือมีพระอริยบุคคลนั่นเอง

ดังนั้น หากตำราหรืออาจารย์ท่านใดมิได้สอนให้เราเดินตามมรรคมีองค์ 8 โอกาสที่เราจะบรรลุธรรมก็คงจะไม่มี

 

ที่มา : จะเสียอะไรถ้าได้ปฏิบัติธรรม – พระกรภพ กิตติปญฺโญ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

photo by qimono on pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

การพัฒนาจิต 2 วิธี ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน บทความธรรมะจากพระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ    

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.