ถาม : การเวียนว่ายตายเกิด มีอยู่จริงหรือไม่
ท่าน ว. วชิรเมธี ได้ตอบปัญหาไว้ดังนี้
ตอบ : คำถามอมตะแบบนี้มีคนถามและคนตอบใน “มิลินทปัญหา” ดังนี้
1.สังสารวัฏคืออะไร
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน สังสารวัฏได้แก่อะไร
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ได้แก่ การเวียนเกิดเวียนตาย
พระเจ้ามิลินท์ : เธอจงหาตัวอย่างมาเปรียบให้ฟัง
พระนาคเสน : เหมือนชาวสวนผู้หนึ่งปลูกมะม่วงไว้ ครั้นเกิดผลก็เก็บมารับประทาน เสร็จแล้วเอาเมล็ดมะม่วงนั้นเพาะปลูกต่อไป ถึงคราวเกิดผลอีกก็เก็บมารับประทาน แล้วปลูกใหม่ต่อ ๆ ไปอีก ขอถวายพระพร ธรรมดาของชาวสวนย่อมเป็นอยู่เช่นนี้มิใช่หรือ
พระเจ้ามิลินท์ : ใช่สิเธอ ด้วยว่าปรกติชองชาวสวนย่อมหมั่นเพาะหมั่นปลูกพืชพันธุ์หมุนเวียนอยู่เช่นนี้แล
พระนาคเสน : ขอถวายพระพร สังสารวัฏก็มีอาการหมุนเวียนเช่นนั้นเหมือนกัน คือนับแต่เราเกิดมา เราก็ตั้งต้นเพาะความดีความชั่วเป็นตัวบุญ – บาปขึ้น เมื่อเราเพาะความดีความชั่วอันเป็นเหตุขึ้นแล้ว เราก็ต้องรับผลของความดีความชั่วนั้น แต่จะช้าหรือเร็ว สุดแต่อำนาจบุญ – บาป ผลนั้นแลจูงใจให้เราเพาะเหตุต่อไปอีก เหมือนผู้ที่ได้รับประทานผลมะม่วงแล้วเพาะเมล็ดมะม่วงนั้นขึ้นใหม่ต่อไปฉะนั้น
ก็ขณะเมื่อเราเพาะเหตุและรับผลอยู่นี้ เราย่อมถูกความแก่ชราพยาธิพัดผันให้ใกล้ความตายเข้าไปทุกขณะ ครั้นเราถึงวาระแห่งความตาย ความดี ความชั่ว คือบุญ – บาปที่เราได้เพาะได้ทำไว้ในชาตินี้ ก็เริ่มปั่นให้เราหมุนไปเกิด แก่ เจ็บ ตายต่อ ๆ ไปอีก วนเวียนอยู่โดยทำนองนี้เรื่อยไป จนกว่าเราจะหยุดเหตุทั้งสองประการนั้นเสีย
ขอถวายพระพร ก็เขตที่จะให้เราหยุดเฉพาะเหตุนั้นได้ ต้องต่อเมื่อเราได้พยายามทำความดีล้างความชั่วซึ่งเป็นสิ่งโสโครกจนไม่มีแปดเปื้อน หยุดกระทำการชำระล้างได้แล้ว เมื่อนั้นเป็นอันว่าเราได้เข้าเขตหยุดเพาะเหตุ คือความดี ความชั่ว ไม่ต้องเวียนเกิดเวียนตายต่อไปอีก
ขอถวายพระพร แต่ถ้าเรายังเพาะเหตุ คือยังต้องทำความดี ล้างความชั่วอยู่ตราบใด เราก็ยังจะต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่ตราบนั้น ขอถวายพระพร สังสารวัฏได้แก่อาการหมุนเวียนดังทูลมามาฉะนี้แล
พระเจ้ามิลินท์ : เธอว่านี้ชอบแล้ว
2.อะไรเป็นเหตุให้เวียนว่ายตายเกิด
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน ก็อะไรเล่าเป็นเหตุให้นามรูปต้องเกิดต่อไปอีกนาน
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร เหตุที่ทำให้นามรูปต้องไปเกิดอีกนาน ก็คือความไม่รู้แจ้งเห็นจริงว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นความดับทุกข์ อะไรเป็นทางให้ถึงความดับทุกข์
แม้จะรู้โดยพิจารณาเห็นชั่วขณะหนึ่ง ๆ ก็ยังชื่อว่าไม่รู้จริง เพราะความรู้นั้นไม่ได้นอนแน่อยู่ในใจเป็นนิจ เพราะเหตุความไม่รู้จริงนั้นจึงทำให้สัตว์ทำดีบ้าง ทำชั่วบ้าง เป็นบุญเป็นบาปขึ้น บุญ – บาปนั้นแลเป็นเหตุให้เกิด “ปฏิสนธิวิญญาณ” เมื่อมีปฏิสนธิวิญญาณเป็นรากแก้วอยู่ ก็เกิดนามรูปแตกกิ่งก้านเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นประตูสำหรับรับอารมณ์ มีรูป เสียง เป็นต้น
ต่อจากนั้น ขณะเมื่อประสบสิ่งที่ชอบใจก็รู้สึกยินดี มีความสุขใจ ขณะเมื่อถูกสิ่งแสลงใจมากระทบก็รู้สึกยินร้าย เป็นทุกข์ใจ เมื่อได้ความสุขก็ดิ้นรนจะให้ความสุขนั้นยั่งยืน เมื่อได้ความทุกข์ก็ดิ้นรนจะหนีทุกข์ให้พ้น
เหตุความไม่รู้จริงนั้นแล จึงให้ยึดถือเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขาบ้าง ให้ยึดถือในอุบายต่าง ๆ เพื่อจะให้ตนได้สมประสงค์บ้าง เพราะความยึดถือนั้นแล จึงให้สัตว์ทำดีบ้าง ทำชั่วบ้าง เกิดเป็นบุญเป็นบาปต่อไปอีก ด้วยบุญ – บาปนั้น จึงให้เกิดมีนามรูปต่อ ๆ ไป จำเดิมแต่มีนามรูปเป็นฐานความทุกข์ทั้งหลายก็มีมาเป็นเจ้าเรือน
ขอถวายพระพร เมื่อยังไม่รู้จริงว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นความดับทุกข์ อะไรเป็นทางให้ถึงความดับทุกข์อยู่ตราบใด เหตุซึ่งจะให้เกิดนามรูปก็ยังคงมีอยู่ตราบนั้น ด้วยประการฉะนี้แล นามรูปจึงต้องเกิดต่อไปอีกนาน
อนึ่ง เวลาเกิดดับของนามรูปที่ล่วง ๆ มาแล้ว นานจนเบื้องต้นไม่ปรากฏ
พระเจ้ามิลินท์ : เธอว่านี้ชอบแล้ว
3.มนุษย์ต้องเวียนว่ายตายเกิดหลายชาติเหมือนกันหรือไม่
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ก็คำที่เธอว่า อันนามรูปนี้ ถ้ายังมีเหตุปัจจัยอยู่ ก็เกิดอยู่นานนั้น คือนานอย่างไร
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร คือนานทั้งที่ล่วงมาแล้ว ทั้งต่อไปข้างหน้า แม้ในบัดนี้ก็จัดว่านาน
พระเจ้ามิลินท์ : จะนานหมดด้วยกันทั้งนั้นทีเดียวหรือ
พระนาคเสน : ขอถวายพระพร บางพวกก็นาน บางพวกก็ไม่นาน
พระเจ้ามิลินท์ : พวกไหนนาน พวกไหนไม่นาน
พระนาคเสน : ผู้ที่มีกิเลส (เหตุทำให้ใจเศร้าหมอง) อยู่ ก็ยังจะต้องเวียนตายเวียนเกิดต่อไปอีกนาน จนกว่าจะชำระล้างจิตใตที่เศร้าหมองนั้นให้ใส แลเห็นเหตุปัจจัยแห่งการตายการเกิดได้อย่างแจ่มแจ้ง ขอถวายพระพร พวกนี้ต้องเกิดต่อไปอีกนาน
ส่วนท่านที่บั่นทอนกิเลสซึ่งเป็นเหตุทำให้ยืดยาวนั้นลงได้บ้างแล้ว ก็เป็นอันว่าได้ย่นเวลาเกิดเวลาตายข้างหน้าให้สั้นน้อยเข้า พวกนี้แลไม่นาน
พระเจ้ามิลินท์ : ล้ำลึกจริง
ที่มา : ธรรมะคลายใจ – ว. วชิรเมธี สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
บทความน่าสนใจ