หลวงพ่อเทียน

วิธีเจริญสติด้วยหลักสติปัฏฐาน 4 ตามแนว หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

วิธีเจริญสติด้วยหลักสติปัฏฐาน 4 ตามแนว หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ท่านใช้หลักสติปัฏฐาน ๔ ที่อาศัยการเคลื่อนไหวของกายเป็นหลัก โดยต้องลืมตาตลอดเวลาที่ฝึก เพราะไม่ต้องการให้ปฏิบัติติดสงบ หลายคนหลับตาแล้ว ก็จะติดสงบได้ง่าย พอติดสงบ การยกจิตสู่วิปัสสนาก็จะเนิ่นช้า ท่านอยากให้ผู้ปฏิบัติข้ามความสงบไปเพื่อเกิดความรู้สึกตัว และเอาความรู้สึกตัวไปใช้ในการเจริญวิปัสสนา มาดูกันว่า การเจริญสติที่ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ แนะนำมีอะไรบ้าง

 

การยกมือสร้างจังหวะ

ให้นั่งในท่า ขัดสมาธิหรือพับเพียบ หรือจะนั่งเก้าอี้ก็ได้ เปิดตา ทอดสายตา ไปข้างหน้าพอประมาณสักหนึ่งเมตร มือวางคว่ำไว้บนเข่า เริ่มต้น ด้วยการพลิกสันมือตั้งขึ้นบนเข่าขวา และยกขึ้น เอามือมาวางไว้ ที่ท้อง พลิกมือซ้ายตั้งขึ้นบนเข่า ยกขึ้นมาประกบกับมือขวา เลื่อนมือขวามาที่หน้าอก ผายออก วางลงบนเข่า แล้วคว่ำมือลง เลื่อนมือซ้ายมาที่หน้าอก ผายออก วางลงบนเข่า แล้วคว่ำมือลง

ระหว่างที่ทำ เราไม่ต้องพากย์ในใจว่ายกมือ วางมือ เรา เพียงแค่รู้สึกตัว รู้สึกเวลามือเคลื่อนไหว รู้สึกเบา ๆ ไม่ถึงกับเพ่ง แค่รู้ รู้เบา ๆ เวลาเรายกมือก็จะรู้ว่ามือยก นี้เรียกว่า รู้กาย แต่เราจะรู้กายได้ไม่ต่อเนื่อง สักพักใจก็จะเผลอคิด พอคิด ใจมันก็ลอย พอใจลอยก็ไม่รู้ว่ากำลังยกมือ มือยกอยู่แต่ใจ ไม่รู้ว่ายก อย่างนี้เรียกว่า ไม่รู้กาย ลืมสติ หรือว่าจิตไม่ได้อยู่ กับปัจจุบัน จิตไปอยู่กับความคิด

วิธีการของหลวงพ่อเทียนก็คือ เมื่อใจเผลอคิดไปก็ให้รู้ทัน ความคิดนั้น รู้แล้วไม่ต้องทำอะไรกับความคิด ให้กลับมารู้สึกว่า มือเคลื่อนไหว ตอนที่คิด ใจมันไม่รู้สึกแล้วนะว่ามือกำลัง เคลื่อนไหว มันไม่รู้สึกตัว แต่พอเรามีสติกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ก็จะรับรู้ว่ากำลังยกมือ หลวงพ่อเทียนใช้คำว่า “ให้รู้สึก ๆ” เวลา ยกมือ

 

การเดินจงกรม

 

ขณะที่เดิน ให้เก็บแขน ไว้กับตัว จะอยู่ข้างหน้าหรือว่าไขว้หลังก็ได้ เดินประมาณ 3 เมตร ทอดตาไปข้างหน้าประมาณ 1 เมตร เมื่อเดินสุดทางแล้วก็กลับตัว ทีแรกให้กลับตัวไปทางด้านขวาก่อน เมื่อเดินไปสุดทางก็กลับตัว ด้านซ้าย หรือจะกลับตัวทางซ้ายก่อนแล้วค่อยกลับทางขวาก็ได้ แต่อย่าเดินกลับตัวทางเดียวกันตลอด เพราะจะทำให้มึนหัวได้ง่าย ระหว่างที่เดินก็รู้สึกตัวกับการเดิน ใจไม่ไปจดจ่อหรือเพ่งอยู่ที่เท้า

บางคนไม่อยากให้จิตฟุ้งซ่านก็จะไปเพ่งที่เท้า นี่คือปัญหาของ นักปฏิบัติ พอเริ่มปฏิบัติก็เริ่มบังคับจิต พอบังคับจิตก็มีปัญหา เพราะจิตมันต่อต้าน ในการปฏิบัติเราจะไม่บังคับจิตให้หยุดคิด หรือห้ามคิด มันจะคิดก็ได้ แต่ถ้าคิดก็รู้ว่าคิด ถ้าไม่คิดก็รู้ว่า ไม่คิด สงบก็รู้ว่าสงบ ไม่สงบก็รู้ว่าไม่สงบ หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ท่านใช้คำว่า “คิดดีก็ช่าง คิดไม่ดีก็ช่าง” แค่รู้เฉย ๆ อย่าไปบังคับความคิด

ทั้งสองอิริยาบถนี้ถือเป็นอิริยาบถหลัก ส่วนอิริยาบถรอง เช่น เวลาเรานั่งพักก็ให้คลึงนิ้วหรือกระดิกนิ้วไปด้วย อย่าอยู่นิ่ง ๆ พยายามสร้างอิริยาบถเพื่อเป็นการฝึกสติให้ทำงาน เรียกว่าเพื่อ ให้มีที่สำหรับจิตมาเกาะก็ได้ เพราะถ้าจิตไม่มีที่เกาะ ไม่มีที่พิง มันก็จะฟุ้งไปนั่นไปนี่

วิธีนี้เอาไปใช้กับอิริยาบถอย่างอื่นก็ได้ เช่น กินข้าว อาบน้ำ ถูฟัน ล้างหน้า มีสติอยู่กับการทำกิจเหล่านั้น หากใจลอยเวลาถูฟัน รู้ตัวเมื่อไรก็ให้กลับมาอยู่กับการถูฟัน ล้างหน้าก็รู้สึกตัว แต่ไม่ต้องถึงกับเพ่ง เวลาเราเดิน เราก็รู้สึกตัว ไปด้วย ทำอะไรก็ให้มีสติ ให้รู้สึกตัว หลวงพ่อเทียนท่านสอนว่า แม้กระทั่งกะพริบตาหรือกลืนน้ำลายก็ให้รู้ รู้โดยที่ไม่ได้ไปเพ่งมัน หรือดักดูมัน มันเกิดขึ้นแล้วค่อยไปรู้ นอกจากที่ว่ามาแล้ว จะรู้ ลมหายใจก็ได้ เวลานั่งเล่นว่าง ๆ ก็รู้ลมหายใจเข้าออก จะทำให้เกิดความต่อเนื่องของสติ

 

ส่วนหนึ่งจากหนังสือ ความสุขอยู่ที่ใจหันมาเมื่อไหร่ก็เจอ

 

 

สั่งซื้อออนไลน์ คลิก


บทความน่าสนใจ

ก่อนมาเป็น หลวงพ่อเทียน โดย พระไพศาล วิสาโล

วิธีวางใจให้ไกลทุกข์ที่ได้ผลชะงัด โดย พระไพศาล วิสาโล

กำพล ทองบุญนุ่ม ลาออกจากความทุกข์…ได้เพราะธรรมะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.