ความกำหนัด

ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากความกำหนัดแห่งกามคุณได้ : ท่านพุทธทาสภิกขุ

ทำอย่างไรจึงจะพ้นจาก ความกำหนัด แห่งกามคุณได้ : ท่านพุทธทาสภิกขุ

ความกำหนัด ในทางภาษาบาลีจึงมีใจความกว้างหมายถึง ความมีจิตใจแนบแน่นถอนไม่ได้ในสิ่งต่าง ๆ ที่ตนพอใจ เพราะฉะนั้นผู้ที่จะปฏิบัติจึงจำเป็นที่จะต้องถอนจิตใจออกมาจากสิ่งที่จะปฏิบัติจึงจำเป็นที่จะต้องถอนจิตใจออกมาจากสิ่งที่จิตใจหลงติด จะเป็นสมบัติพัสถานแก้วแหวนเงินทอง หรือจะเป็นยศศักดิ์บริวาร กับสังขารอันเป็นที่รักเหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ตาม พึงถอนความติดแน่นออกมาเสียเป็นผู้ก้าวล่วงอำนาจของความติดแน่นนั้นเสีย ไม่มีอะไรเป็นที่ตั้งแห่งความหลงใหลกำหนัดอีกต่อไป จิตใจก็จะมีความสงบสุขขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งโดยแน่นอน

 

ภาพจาก www.pexels.com

 

แต่พอเราพิจารณาดูคนในโลกในสมัยนี้ จะเห็นว่าเขายิ่งฝังใจให้กำหนัดติดแน่นในสิ่งต่าง ๆ เขาฝังใจอยู่แต่ที่จะได้ความสุขทางวัตถุ หรือปัจจัยเกื้อกูลความสุขทางวัตถุไม่มีสร่าง ประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาให้มากสำหรับให้จิตใจมัวเมาหลงใหล ในทางประดับตกแต่งร่างกายก็ประดิษฐ์ประดอยกันขึ้นมาอย่างไม่สิ้นสุด ในการกินการบริโภคก็ประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ขึ้นมา อย่าให้รู้จักเบื่อในการเล่นเพื่อความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ในการดู ในการฟัง และการเป็นอยู่อย่างอื่น ๆ ก็ยิ่งประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ขึ้นมา ไปเป็นเครื่องจับจิตใจฝังแน่นขึ้นไป ไม่มีที่สิ้นสุด

 

 

ภาพจาก www.pexels.com

 

คนในโลกจึงตกอยู่ใต้อำนาจของกามคุณไม่มีที่สิ้นสุด คือยิ่งกว่าที่ตนจะรู้สึกได้ไ ม่มีเวลาอิ่ม ไม่มีเวลาเบื่อ ไม่มีเวลาหน่าย ไม่มีเวลาที่จะพินิจพิจารณา ให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของสิ่งใดเลย ก็แต่มีเวลาจะประกอบความสนุกสนานเอร็ดอร่อยทางเนื้อทางหนังที่เกิดขึ้นจากสิ่งเหล่านั้น ที่ตนติดใจหลงใหลผูกพันอยู่ตลอดเวลา เหนียวแน่นแนบสนิทอยู่กับสิ่งเหล่านั้น แล้วจะมีโอกาสปลีกตัวออกมาได้อย่างไร จะมีจิตใจที่เป็นจิตใจบริสุทธิ์ หรือว่าจะมีจิตใจที่เป็นอิสระ เพียงแต่จะมาพิจารณาให้เห็นความจริงว่า สิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังนีั ก็ไม่มีเสียแล้ว

 

ภาพจาก www.pexels.com

 

เหมือนกับคนเมาเหล้าตลอดเวลา ย่อมไม่มีขณะใดเลยที่จะรู้สึกสำนึกตัวว่าตนเมา เห็นเป็นตนไม่เมาไปได้เสมอผู้ที่มึนเมาในกามคุณในโลกนี้ก็เป็นอย่างเดียวกัน ย่อมไม่มีแม้แต่ขณะเดียวที่จะรู้สึกว่าเรากำลังมึนเมาในกามคุณในโลกนี้ เพราะฉะนั้นจึงกล้าเสี่ยงชีวิต กล้าสละชีวิต กล้ากระทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้ได้มาในสิ่งนั้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะผิดจะถูกอย่างไร จึงได้ตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาเครื่องมือที่จะทำลายล้างศัตรูซึ่งแข่งขันในการแสวงหา่กามคุณด้วยกัน เลยมีความทุกข์สองซ้อน

 

 

ภาพจาก www.pexels.com

 

ตัวเองก็ทุกข์ในภายในเพราะกิเลสตัณหาที่ตนสร้างขึ้น เผาตัวเองนี้ประการหนึ่งแล้ว แล้วก็ยังมีความทุกข์ความร้อนที่ต้องเบียดเบียนแข่งขันแย่งชิงกันในระหว่างผู้อื่นอีกต่อหนึ่ง จึงเป็นความระส่ำระสาย เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความกระวนกระวาย เป็นปัญหาที่พวกเราทั้งหลายจะต้องช่วยกันขบคิดเพื่อขจัดปัดเป่าให้สูญสิ้นไป แต่คำตอบก็มีอยู่ง่าย ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วตามพุทธภาษิตที่ว่า เป็นผู้ที่ทำตนให้ก้าวล่วงเสีย ซึ่งอำนาจของกามคุณเท่านั้น ก็จะกำจัดปัญหาความเดือดร้อนความยุ่งยากข้อนี้ ให้สูญสิ้นไปได้โดยไม่ต้องสงสัย

 

ที่มา : ความสุข ธรรมบรรยาย โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ

ภาพ : www.pexels.com


บทความน่าสนใจ 

โรคทางกายเกิดขึ้นเพราะจิตที่พิรุธ : ท่านพุทธทาสภิกขุ

ความโกรธมีเสน่ห์ เพราะเป็นความอร่อยของคนโง่ : ท่านพุทธทาสภิกขุ

ปัญหามีทั้งแก้ไขได้และแก้ไม่ได้ ธรรมะโดย ท่านพุทธทาสภิกขุ

สูตรยาระงับสรรพทุกข์ สร้างสรรค์สูตรโดย ท่านพุทธทาสภิกขุ

ทำไม ท่านพุทธทาสภิกขุสอนเรื่องการทำบุญ เปรียบเหมือนเลี้ยงไก่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.