มรดกธรรมจากสมเด็จโต

มรดกธรรมจากสมเด็จโต

มรดกธรรมจากสมเด็จโต

มรดกทางธรรมที่เราได้จากสมเด็จโตนั้น มีมากกว่าแค่เรื่องราวความเป็นมาและเหตุการณ์ที่แสดงถึงปัญญาอันมากของท่าน

ในทางรูปธรรมแล้ว สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้สร้างพระพุทธรูปไว้หลายที่เพื่อเป็นที่ระลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยส่วนมากท่านจะสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่โตตามชื่อของท่าน ชาวบ้านก็พากันเรียกว่า “พระโต” หรือ “หลวงพ่อโต” ดังนี้

 

มรดกธรรมจากสมเด็จโต

1. พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ที่วัดสะตือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นามว่า “พระพุทธไสยาสน์” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อโต ก่ออิฐถือปูน องค์พระยาว 1 เส้น 6 วา สูง 8 วา ส่วนฐานยาว 1 เส้น 10 วา กว้าง 4 วา 2 ศอก สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2413

เล่ากันว่า ท่านให้พวกทาสช่วยกันสร้างอยู่ราว ๆ 2 ปี เมื่อแล้วเสร็จท่านก็ช่วยให้พวกทาสเหล่านั้นพ้นจากความเป็นทาสทุกคน และว่ากันว่า ท่านสร้างพระนอนที่นี่เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าท่านเกิดที่นี่

 

มรดกธรรมจากสมเด็จโต

2. พระพุทธรูปปางสมาธิ นามว่า “พระมหาพุทธพิมพ์” หน้าตักยาว 8 วา 7 นิ้ว สูง 11 วา 1 ศอก 7 นิ้ว ประดิษฐานที่วัดไชโยวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง องค์เดิมก่อด้วยอิฐปูน ตั้งอยู่กลางแจ้ง องค์พระฉาบทาปูนขาวแต่ไม่ได้ปิดทอง (ปัจจุบันลงรักปิดทองแล้ว) ว่ากันว่า หลวงพ่อโตสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าท่านสอนนั่งได้ที่นี่

 

มรดกธรรมจากสมเด็จโต

3. พระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร ที่วัดอินทรวิหาร กรุงเทพมหานคร นามว่า “พระพุทธศรีอริยเมตไตรย” สูง 16 วา กว้าง 5 วา 2 ศอก เริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยระหว่างที่สร้างได้ 9 วาเศษ คือถือแค่ช่วงท้อง สมเด็จโตก็มรณภาพไปเสียก่อน หลังจากนั้นเจ้าอาวาสวัดอินทรวิหารรูปต่อ ๆ มาได้ดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมจนเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 7 ว่ากันว่า สมเด็จโตสร้างพระพุทธรูปที่วัดนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าท่านสอนยืนได้ที่นี่

 

มรดกธรรมจากสมเด็จโต

4. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่วัดพิตเพียน (หรือวัดกุฎีทอง) อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระก่ออิฐถือปูน หน้าตักกว้าง 4 วา 3 ศอก ความสูง 4 วา 3 ศอก

 

มรดกธรรมจากสมเด็จโต

5. พระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร ที่วัดกลาง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ก่ออิฐถือปูน สูง 6 วาเศษ เล่ากันว่า แถวนี้แต่เดิมเป็นป่ารกชัฏ ท่านเจ้าคุณสมเด็จโตเอาเงินเหรียญโปรยเข้าไปในป่า ชาวบ้านแถบนั้นก็ร่วมใจกันถางป่าหาเหรียญเงินจนราบเรียบเตียนโล่ง จึงสามารถสร้างพระพุทธรูปยืนองค์นี้ได้ ต่อมาที่นี่กลายเป็นสำนักสงฆ์ และกลายเป็นวัดในที่สุด

6. เจดีย์วัดละครทำ บางกอกน้อย ธนบุรี เป็นเจดีย์นอน 2 องค์ หันฐานเข้าหากัน ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรมมาก องค์ด้านใต้ถูกรื้อเสียหายไปหมดแล้ว ส่วนองค์ด้านเหนือก็แทบไม่เป็นรูปร่าง เนื่องจากถูกคนขุดค้นหากรุพระสมเด็จฯ

7. รูปปั้นแทนโยมตาและโยมแม่ สร้างเป็นกุฏิ 2 หลังอยู่ทางทิศใต้ของวัดอินทรวิหาร ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อง ขนาดกว้าง 1 วา ยาว 1 วาครึ่ง เท่ากัน ปั้นรูปแทนโยมตาเป็นพระสงฆ์นั่งขัดสมาธิ ขนาด 24 นิ้ว อยู่กุฏิซ้าย ส่วนรูปปั้นแทนโยมมารดาเป็นพระสงฆ์ขัดสมาธิ ขนาด 23 นิ้ว อยู่กุฏิขวา

 

นอกจากนี้ หนึ่งในมรดกของสมเด็จโตที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดก็คือ “พระสมเด็จ”

สมเด็จโตได้ปรารภไว้ว่าตัวท่านในชาติปางก่อนนั้น นิยมสร้างพระพิมพ์จำนวนมาก ๆ บรรจุลงในปูชนียสถานต่าง ๆ เพื่อเป็นการสืบอายุของพระศาสนา  นัยว่าถึงกาลใดหากมีคนขุดค้นมาพบพระพิมพ์เข้าก็จะได้รู้ว่าโลกนี้มีพระพุทธเจ้า และระลึกถึงพุทธคุณเป็นพุทธานุสติได้

ดังนั้นสมเด็จโตจึงลงมือสร้างพระพิมพ์ชุดแรก มีฐาน 3 ชั้น จำนวน 84,000 องค์ตามจำนวนพระธรรมขันธ์

ในเวลาต่อมา สมเด็จโตก็ได้สร้างพระสมเด็จรุ่นที่ 2 ขึ้นอีก แต่สร้างได้ไม่ครบ 84,000 องค์ตามที่ตั้งใจไว้ ท่านก็มรณภาพลงเสียก่อน

มรดกธรรมจากสมเด็จโต

 

ที่มา  สุดยอดสงฆ์ 1 : สมเด็จโต สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

ภาพ  วิกิพีเดีย, siamfreestyle.com, ไชโยราชบุรี, somdejsiam.com

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.