การเติมบุญ ใช่ว่าจะต้องจ่ายทรัพย์เท่านั้น การให้ทาน การให้อภัย ให้ธรรมะ สนทนาธรรมะ รักษาศีล 5 ศีล 8 ก็เป็น การเติมบุญ พยายามที่จะเจริญภาวนา หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้ เจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้กายเนือง ๆ เวทนาเนือง ๆ จิตเนือง ๆ ธรรมในธรรมเนือง ๆ เรียกว่าต้องเจริญสติปัฏฐาน เจริญสัมมัปปธาน 4 ต้องเพียร เพียรในการละบาป วันนี้บาปเกิดขึ้นในใจเรา โกรธบ้าง โลภบ้าง ก็เพียรที่จะละออกไป เพียรมากก็ละออกไปได้มาก แล้วก็เพียรระวังไว้อย่าให้บาปมันกลับมาเกิดขึ้นอีก เพียรให้เกิดกุศล สติ สมาธิ ปัญญา พอเกิดสติขึ้นมาก็เพียรรักษาไว้ให้มันเจริญไว้
ต้องมีอิทธิบาท ฉันทะ พอใจในการปฏิบัติธรรม ถ้าเราไม่มีฉันทะ ปฏิบัติไปก็ง่วง ปฏิบัติไปก็เบื่อหน่าย ท้อแท้ ท้อถอย เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างฉันทะให้เห็นว่าการปฏิบัติเป็นเรื่องดี นั่งกรรมฐาน เจริญภาวนา เจริญสติ เพียรปฏิบัติ เดินจงกรม เป็นเรื่องดี และต้องมีจิตตะ คือฝักใฝ่อยู่ในเรื่องธรรมะไว้ ถ้าเราไปฝักใฝ่แต่เรื่องอกุศลก็ขาดทุน ไปฝักใฝ่แต่เรื่องโลกียะ เรื่องกาม ใจก็ตกต่ำ ต้องรู้ทันว่ากิเลสจะพาให้เราไปฝักใฝ่อยู่ในเรื่องของอกุศล เราต้องพิจารณาว่าสิ่งใดที่เราฝักใฝ่แล้วทำให้ใจเราเศร้าหมอง เร่าร้อน กิเลสหนาขึ้น แสดงว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราก็ไม่เอาด้วย ถ้าสิ่งใดที่เราฝักใฝ่สนใจอยู่ทำให้เราดี มีความสงบ จิตใจดีงาม ก็ใช้ปัญญาในการพิจารณาให้เห็นทุกข์เห็นโทษของกิเลส
การปฏิบัติธรรมเป็นคุณเป็นประโยชน์ พิจารณาให้เห็นประโยชน์ พิจารณาให้เห็นโทษของกิเลส แล้วเราก็จะได้สอดส่องพิจารณาลึกซึ้งลงไปจนเห็นรูป นาม เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต้องมีอินทรีย์ 5 พละ 5 คือต้องมีศรัทธาความเชื่อ สัทธินทรีย์ ศรัทธาพละ, วิริยินทรีย์ วิริยพละ (ความเพียร), สตินทรีย์ สติพละ (ความระลึกได้), สมาธินทรีย์จนถึงเป็นสมาธิพละ ตั้งมั่นยิ่งขึ้นไปจนเป็นปัญญินทรีย์ จนเป็นปัญญาพละ ความรู้เห็นตามความเป็นจริงมันมีกำลังมากขึ้น มีพละ 5 เกิดขึ้น อินทรีย์ 5 มีกำลังก็เป็นพละ 5 จนถึงโพชฌงค์ 7 และมรรคมีองค์ 8
สติสัมโพชฌงค์ ระลึกรู้อยู่ในสติปัฏฐาน สติมั่นคงเท่าทันต่อรูปนาม ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ สอดส่องพิจารณาเห็นรูปนามว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดูในตัว พิจารณาให้เห็นว่ามันเปลี่ยนแปลง เกิดดับ เห็นแล้วดับไป ได้ยินแล้วดับไป รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัสคิดนึกหมดไปดับไป เวลาที่สติระลึกรู้ต้องมีการพิจารณาไตรลักษณ์ ตั้งข้อสังเกตไว้ ว่ามันเปลี่ยนแปลงไหม เกิดดับไหม สอดส่องพิจารณาว่าเรามีความเพียรเข้าประกอบหรือไม่
เมื่อเพียรปฏิบัติ เจริญภาวนา กำหนดรู้ ที่สุดจิตก็จะรวมลงไปตั้งมั่น มีปีติ สมาธิ ความสงบ เกิดความอิ่มเอิบใจและเกิดปัสสัทธิ ความสงบกายสงบใจ เกิดสมาธิตั้งมั่น เกิดอุเบกขาสัมโพชฌงค์ วางใจสม่ำเสมอ ที่สุดแล้วก็จะวางใจพอดี ๆ ไม่เพ่ง ไม่เผลอ ประคับประคองพอดี ๆ ไม่จงใจ ไม่จัดแจง ปล่อยให้สภาวะเขาแสดงของเขาเอง เราเพียงรู้ละ รู้ปล่อย รู้วาง เป็นกลางอยู่เสมอ มีความสม่ำเสมอพอดี ก็จะเห็นสภาวธรรมชัดเจนในจิตใจ เรียกว่ากำลังเจริญองค์มรรค 8 อยู่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เห็นอยู่ที่รูปนามเป็นตัวทุกขสัจจะ สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ ดำริอยู่ที่รูปที่นามที่ปรากฏ หรือว่าดำริออกจากกาม ดำริออกจากการเบียดเบียน ดำริออกจากการพยาบาท
การที่ดำริอยู่กับรูปนาม จิตจะไหลไปในกามก็กลับเข้ามา จิตจะไหลไปเรื่องโลกก็กลับเข้ามา เป็นตัวยกสัมปยุตตธรรมขึ้นสู่อารมณ์กรรมฐาน เมื่ออยู่กับรูปนามที่ปรากฏ ก็เท่ากับขณะนั้นออกจากกาม ออกจากการเบียดเบียน ออกจากการพยาบาท และมีศีลอยู่ในตัว คนที่ปฏิบัติธรรม ศีลก็บริสุทธิ์ขึ้นไปด้วย เพราะไม่กล่าวส่อเสียด หยาบคาย โกหก เพ้อเจ้อ การงานก็บริสุทธิ์ การดำเนินชีวิตก็ปราศจากโทษ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม อาชีพก็บริสุทธิ์ ไม่ได้เบียดเบียนใครเพราะมีศีล
คนปฏิบัติธรรมศีลจะบริสุทธิ์ไปในตัว สัมมาวายามะ เพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งมั่นชอบ องค์มรรคทั้ง 8 เมื่อเกิดขึ้นพร้อมเพรียงกันเมื่อใด ก็บรรลุเกิดในมรรคญาณ เกิดในโลกุตตรมรรค เข้าถึงนิพพาน
เพราะฉะนั้นองค์มรรค 8 เหล่านี้จึงเป็นมัคคสัจจะ เป็นความจริงของพระอริยเจ้า เป็นข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงความดับทุกข์ ถ้ามรรค 8 เกิดขึ้น สมบูรณ์ขึ้นเมื่อไหร่ ก็เป็นอริยบุคคล เข้าไปรู้ทุกข์ เข้าไปละเหตุให้เกิดทุกข์ เข้าไปแจ้งความดับทุกข์ องค์มรรค 8 เจริญเติมรอบ มีกำลังพร้อมเพรียงกันเป็นมัคคสมังคี ก็ได้ตรัสรู้ธรรม
เราจึงต้องพยายามขวนขวาย เร่งพากเพียรปฏิบัติให้มากยิ่ง ๆ ขึ้น เพื่อประโยชน์อันสูงสุดของชีวิต
ที่มา ตื่น รู้ เบิกบาน โดย ส.เขมรังสี สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
บทความน่าสนใจ
ท่าน ว. ชวนปรับความคิด 3 ความเข้าใจผิดๆ ของชาวพุทธเกี่ยวกับ การทำบุญ