วันไหว้พระจันทร์

ดูโคม ชมจันทร์ งานศิลป์ : วันไหว้พระจันทร์กับความทรงจำของชาวเยาวราชที่เปลี่ยนไป

ดูโคม ชมจันทร์ งานศิลป์ : วันไหว้พระจันทร์ กับความทรงจำของชาวเยาวราชที่เปลี่ยนไป

วันไหว้พระจันทร์ เป็นวันที่ชาวจีนจะจัดเครื่องไหว้บูชาดวงจันทร์ ซีเคร็ตเชื่อว่ามีหลายคนที่รู้จักวันนี้ แต่คงไม่ทราบที่มาของวันและขั้นตอนการไหว้ว่าทำกันอย่างไร นับว่าเป็นความโชคดีที่ทางมหาวิทยาลัยศิลปากร ชุมชนเจริญไชย ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้ง กงษี และ บริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด ได้จัดกิจกรรม “ดูโคม ชมจันทร์ งานศิลป์” ขึ้นเพื่อมอบความรู้แก่ผู้สนใจศึกษาประเพณีไหว้พระจันทร์ โดยมีการจัดเสวนา และนิทรรศการจัดแสดงผลงานนักศึกษากับคณาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีนในย่านเยาวราช-เจริญกรุง ซึ่งเป็นกิจกรรมทางวิชาการส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยชื่อว่า “การพัฒนาเมืองวัฒนธรรมอัจฉริยะ : กรณีศึกษาย่านเยาวราช-เจริญกรุง”

 

 

ผลงานของนักศึกษาที่น่าสนใจ ได้แก่ ประติมากรรมต้นแบบ ชุด “วิถีเยาวราช” โดยคมสัน เพ็ชรสิทธิ์ เครื่องแขวนดอกเบญจมาศ เครื่องแขวนดอกโป๊ยเซียน และ ก่งประยุกต์โดย วิริน เชาวนะ และผลงานของนักศึกษาจากสาขาวิชาต่าง ๆ นิทรรศการของคณาจารย์ ได้แก่ แบบจำลองการออกแบบพื้นที่เพื่อการพัฒนาพื้นที่เมืองเก่าบริเวณย่านเยาวราช-เจริญกรุง และภาพแผ่นหินแสดงการเก็บค่าเช่าของชุมชนในสมัยก่อน นิทรรศการนี้จัดไปจนถึงวันที่ 22 กันยายน 2562 ที่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้ง กงษี

 

 

ดูโคม ชมจันทร์ งานศิลป์ นอกจากจะมีการจัดแสดงผลงานของนักศึกษาและคณาจารย์แล้ว ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “ไหว้เจ้า ไหว้พระจันทร์ วิถีชุมชนจีนเจริญกรุงเยาวราช” โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระวัฒน์ สิริเวสมาศ  เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีผู้ร่วมเสวนาอีก 3 ท่าน คือ อาจารย์ ดร.วุฒิชัย อารักษ์โพชฌงค์ ผู้มีภูมิความรู้ด้านศาลเจ้าจีน คุณบดินทร์ เดชะวัฒนไพศาล ทายาทรุ่นที่ 4 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้ง กงษี  และคุณสุวรรณา คงศักดิ์ไพศาล จากบริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด ผู้คุ้นเคยกับประเพณีจีนมาตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้การเสวนาครั้งนี้ได้รับความรู้เชิงวิชาการแล้ว ยังได้รู้จักพิธีไหว้พระจันทร์ในอดีตจากความทรงจำของคุณบดินทร์และคุณสุวรรณาอีกด้วย

 

วันไหว้พระจันทร์

 

อาจารย์ ดร.วุฒิชัย อารักษ์โพชฌงค์ ได้กล่าวถึงที่มาของการไหว้พระจันทร์ของคนจีนว่า พิธีนี้จะจัดขึ้นหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและขอบคุณธรรมชาติที่ได้มอบความอุดมสมบูรณ์ให้ ที่มาของประเพณีไหว้พระจันทร์มีอยู่หลายตำนาน แต่ตำนานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ ตำนานที่เกี่ยวกับเทพธิดาฉางเอ๋อ โดยตำนานมีอยู่ว่า มีชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อว่า “โฮวอี้” รับอาสายิงดวงอาทิตย์จากสิบดวงให้เหลือดวงเดียว เพื่อความสุขของมนุษยชาติ เจ้าแม่สวรรค์เห็นคุณงามความดีของเขาจึงประทานยาอายุวัฒนะแก่โฮวอี้

ต่อมาโฮวอี้ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำ เขากลายเป็นคนที่โหดเหี้ยมหลงในอำนาจ ฉางเอ๋อซึ่งเป็นภรรยาเห็นว่าถ้าสามีมีชีวิตเป็นอมตะต้องเกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า นางจึงกินยาวิเศษเข้าไปเสียเอง จากนั้นนางก็เหาะไปอยู่บนดวงจันทร์

คุณบดินทร์เล่าว่าในตอนเด็กคุณทวดผู้หญิงจะไหว้พระจันทร์ด้วยเผือกที่หั่นเป็นก้อนใหญ่ด้วย อุปมาเป็นหัวของชาวมองโกลที่ถูกสังหารในวันไหว้พระจันทร์ หากย้อนกลับไปในสมัยราชวงศ์หยวน ชาวจีนคิดต่อต้านราชวงศ์หยวนซึ่งเป็นชาวมองโกล จึงนัดกันกำจัดชาวมองโกลด้วยการสอดจดหมายลับไว้ในขนมไหว้พระจันทร์ แล้วแจกจ่ายขนมไปให้ทุกบ้าน ชาวจีนทุกคนพร้อมใจกันโค่นล้มราชวงศ์หยวนได้สำเร็จ สะท้อนให้เห็นถึงการรำลึกถึงคุณของบรรพชนที่ได้กู้ชาติบ้านเมืองไว้

ประเพณีไหว้พระจันทร์อาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ตามความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับดวงจันทร์ เช่น การขอพรด้านความรักจากเฒ่าจันทรา กามเทพในคติจีน ซึ่งอาศัยอยู่บนดวงจันทร์ ท่านมีหน้าที่ผูกด้ายแดงให้กับหนุ่ม-สาวที่เป็นคู่กัน เป็นต้น

 

 

ทำไมพอถึงวันไหว้พระจันทร์แล้วต้องนึกถึงเยาวราช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระวัฒน์ สิริเวสมาศ และอาจารย์ ดร.วุฒิชัย อารักษ์โพชฌงค์ได้ให้คำตอบว่า เพราะเยาวราชเป็นแหล่งผลิตเครื่องไหว้กระดาษที่ใหญ่ที่สุด พอถึงเทศกาลไหว้เจ้าหรือประเพณีของคนจีน ต้องมาสั่งซื้อเครื่องไหว้กระดาษที่นี่ เวลาคนจีนจะทำขนมใช้ในงานพิธีต่าง ๆ ต้องมาซื้อและสั่งทำแม่พิมพ์ที่เยาวราช รวมทั้งเป็นแหล่งขายวัตถุดิบในการทำขนมที่สำคัญ คุณบดินทร์เล่าว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้ง กงษี  เป็นร้านโชห่วยที่เปิดทำการค้ามานานร่วม 100 ปี จนเป็นที่เชื่อถือของบรรดาพ่อค้าแม่ค้า บางเจ้ามาอุดหนุนสินค้าของร้านตั้งแต่รุ่นแรกจนตอนนี้เปลี่ยนเป็นรุ่นหลานแล้วก็ยังมาอุดหนุนอยู่

 

 

คุณสุวรรณา เล่าถึงวิธีการไหว้พระจันทร์ในความทรงจำของตน ทำให้เห็นภาพบรรยากาศในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี เช่น การนิยมไหว้พระจันทร์ด้วยเครื่องสำอาง ได้แก่ แป้ง สบู่ น้ำหอม แล้วนำมาใช้ต่อ เพราะมีความเชื่อว่า ของไหว้เหล่านี้ได้ผ่านการอาบแสงจันทร์มาแล้ว ถ้านำมาใช้จะเป็นการเสริมเสน่ห์ให้ตนเอง เมื่อก่อนร้านทองจะตั้งโต๊ะไหว้พระจันทร์ไว้หน้าร้าน แล้วใช้ให้ลูกสาวเป็นคนนั่งเฝ้าเครื่องไหว้จนถึงเที่ยงคืนจึงจะเก็บได้ หนุ่ม ๆ ในตอนนั้นก็พากันมานั่งดูลูกสาวร้านทอง กลายเป็นวันที่คนหนุ่มสาวในสมัยนั้นมาพบปะกันอีกด้วย

ของเล่นที่นิยมเล่นกันในวันไหว้พระจันทร์คือโคมพลาสติกที่ทำเป็นรูปต่าง ๆ เช่น กระต่าย เครื่องบิน และปลา คุณสุวรรณาเล่าว่า ตอนเด็กตนอยากเล่นมาก แต่ที่บ้านไม่ยอมซื้อให้เพราะเห็นว่าสิ้นเปลือง เล่นแค่ครั้งเดียวก็ต้องทิ้ง พอถึงวันไหว้พระจันทร์ตนก็จะวิ่งตามดูแสงไฟจากโคมของเด็กที่บ้านพอมีอันจะกิน เธอว่าแค่นี้ก็มีความสุขแล้ว อาจารย์วุฒิชัย เสนอข้อมูลว่า การที่นิยมทำโคมเป็นลายรูปกระต่าย เพราะกระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงของเทพธิดาฉางเอ๋อ จึงทำให้กระต่ายกลายเป็นสัญลักษณ์ของดวงจันทร์ไปด้วย แต่ก็มีตำนานหนึ่งเล่าว่าเกิดโรคระบาดขึ้นบนโลก เทพธิดาฉางเอ๋อจึงส่งกระต่ายหยกลงมาปรุงยาช่วยเหลือมนุษย์ การทำโคมไฟลายรูปกระต่ายจึงเป็นเสมือนการตอบแทนคุณของกระต่ายหยกนั่นเอง

 

 

หลังจากได้รับความรู้เชิงวิชาการและประสบการณ์จากคำบอกเล่าจนเต็มอิ่มแล้ว กิจกรรมต่อไปคือเดินชมพิธีไหว้พระจันทร์วิถีชุมชนจีนในชุมชนเจริญไชย โดยมีอาจารย์ ดร.วุฒิชัย อารักษ์โพชฌงค์เป็นผู้นำชม อธิบายขั้นตอนการไหว้ และเครื่องไหว้ต่าง ๆ ตามด้วยการชมโคมไฟที่นิยมเล่นกันเมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์บ้านเก่าเล่าเรื่อง และจบด้วยการชมพิธีไหว้พระจันทร์ที่วัดมังกรกมลาวาส ทำให้ได้เห็นและสัมผัสกับวิถีความเชื่ออย่างใกล้ชิด ได้ยินเสียงกลองที่ตีบอกการมาของขบวนเเห่มังกร และเทพเจ้าแห่งโชคลาภ รอยยิ้มของชาวชุมชนเจริญไชยที่จัดเตรียมเครื่องไหว้ทั้งกระดาษ ผลไม้ และขนมอย่างสวยงาม เพื่อดำรงไว้ซึ่งประเพณีของบรรพบุรุษ

 

 

** ดูโคม ชมจันทร์ งานศิลป์ จัดตั้งแต่ 13-22 กันยายน 2562 ณ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้ง กงษี ใกล้วัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่)

 

เรียบเรียง : ชนินทร์ ผ่องสวัสดิ์

ภาพ : มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

สามารถส่งปัญหาธรรม และเรื่องสร้างแรงบันดาลใจมาได้ที่ Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

นิพพานในออฟฟิศ ธรรมะโดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

ฉลองเทศกาลไหว้พระจันทร์ด้วย ขนมไหว้พระจันทร์ จาก Vanilla  A Cuisine

ประเพณียกธง บ้านเบญพาด ชุมชน สามัคคี มีรอยยิ้ม

ประเพณีใส่บาตรเทียน จ.น่าน อลังการ งานเทศกาลเข้าพรรษา หนึ่งเดียวในไทย

วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต – พระราชญาณกวี (ท่านปิยโสภณ) 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.