สิ่งสําคัญไม่ใช่รางวัล แต่คือ…“ความสุข” ไก่-เทพสิน ผ่องแก้ว
ไก่-เทพสิน ผ่องแก้ว หนุ่มใต้ที่หลงใหลในหนังตะลุงและโนรา สู่การคิดสร้างสรรค์หนังตะลุงที่พากย์ด้วยภาษาต่างประเทศ ทำให้เป็นที่สนใจจากชาวต่างชาติที่แวะเวียนมาชมการแสดง ไม่เท่านั้นคุณไก่ยังถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมภาคใต้นี้ให้กับเยาวชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย ส่งเด็ก ๆ ไปถึงใฝ่ฝันก็มาก สิ่งที่คุณไก่ทำไม่ได้ทำเพื่อหวังรางวัล แต่เป็นความสุขที่เขาได้รับต่างหาก
Good morning everybody Sun sand sea we can show When you are going many places in district interesting You seeing Surat Thani we can show
” น้อมสวัสดีวันทาอภิวาท มาสุราษฎร์ธานีด้วยคาดหวัง ทั้งหาดทรายชายเลเราเด่นดัง ชื่อเสียงยังเลื่องลือระบือไกล ”
เสียงการแสดงหนังตะลุงเปิดตัวด้วยบทกลอนภาษาอังกฤษแบบกระท่อนกระแท่น ก่อนจะตามมาด้วยภาษาไทยสําเนียงใต้ของคุณไก่-เทพสิน ผ่องแก้ว เจ้าของฉายา“หนังตะลุง 3 ภาษา” คือ ภาษาอังกฤษจีน และมลายู ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักท่องเที่ยว จังหวัดสุราฎร์ธานีเป็นอย่างดี
คือผู้ริเริ่มนําศิลปะพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมอย่างหนังตะลุงและมโนราห์มาประยุกต์ให้อินเทรนด์มากขึ้น เพื่อให้คนดูเข้าใจหนังตะลุงอย่างลึกซึ้ง โดยไม่ลืมที่จะสอดแทรกเนื้อหาเรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นของภาคใต้เข้าไปด้วย เบื้องหลังของชายผู้พูดได้หลายภาษาคนนี้คือ การฝึกสอนเยาวชนไทยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่รักที่จะเรียนรู้การเล่นหนังตะลุงโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้นอีกด้วย
“สมัยก่อนพ่อแม่เป็นชาวสวนชาวนา แต่มีใจกุศล พ่อมีความรู้เรื่องสมุนไพรและแพทย์แผนไทย ก็ช่วยรักษาคนที่เจ็บป่วยฟรี ตอนแรกผมก็สงสัยว่าทําไมเราต้องไปช่วยเหลือคนอื่น แต่พอได้เห็นได้ช่วยมากเข้า ๆ เลยเข้าใจว่า บางทีเขาต้องพึ่งเรา…พอยิ่งทํายิ่งให้ก็ยิ่งรู้สึกอิ่มเอิบใจ”
เดิมทีครอบครัวคุณไก่ไม่มีใครสนใจศิลปะพื้นบ้านเลยแม้แต่น้อย แต่ตัวเขากลับสนใจใคร่รู้ในศิลปะพื้นบ้านเกือบทุกชนิด รวมถึงหนังตะลุง…
“ผมทํางานประจําที่สํานักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังเลิกงานก็ไปเล่นหนังตะลุงตั้งแต่ 2 ทุ่มถึงตี 2 ถึงจะไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน แต่ก็ได้ทําสิ่งที่ชอบจริง ๆ เรียกว่าได้ทําเรื่องที่รัก… แต่เรื่องหลักก็ไม่เสีย
“หลังจากเล่นหนังตะลุงอย่างจริงจังก็มีพ่อแม่ส่งลูก ๆ มาเรียน เมื่อมีเด็กมาเรียนมาก ๆ เข้าเลยเริ่มคิดว่า เราต้อง ‘สร้าง’ เขาด้วย คือเด็กมาที่นี่ต้องมีกิจกรรม ไม่ไปทําอะไรที่ไม่ดี เด็กที่มาอยู่กับผมบางคนไม่มีบ้าน ไม่มีหลักแหล่ง แต่เขามาพึ่งเรามาขออยู่อาศัย เราก็ให้ช่วยงานแต่มีเงื่อนไขว่า ต้องเรียนหนังสือโดยผมจะช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย…ไม่งั้นไม่ให้อยู่ ผมไม่สนใจเบื้องหลังของเด็กว่าเคยเป็นมาอย่างไร แต่เมื่อมาอยู่กับเราคุณต้องเลือกทางเดินที่ดี ถึงแม้ผมจะไม่ได้ห้ามทําความชั่วแบบเด็ดขาด จริงจังแต่ก็จะไม่ให้ความช่วยเหลือใด ๆ ถ้าเด็กเดินไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง”
สถานที่แห่งนี้จึงไม่มีรั้วบ้าน ไม่เคยล็อกประตู ทุกคนสามารถหยิบเงินไปใช้จ่ายได้ ตลอดเวลาแต่ต้องลงบัญชีค่าใช้จ่ายส่วนอาหารและน้ำ มีให้ไม่เคยขาด ทั้งนี้ยังไม่นับผักผลไม้ในสวนที่สามารถเก็บกินได้ทั้งวัน
“จริง ๆ ที่นี่มีของมีค่าหลายชิ้นจะขโมยไปขายก็ได้ แต่ที่นี่ไม่เคยมีอะไรหายสักชิ้น ผมคิดว่าหากเราบริสุทธิ์ใจที่จะอยู่ในสังคมนี้ ไม่คิดร้ายกับใครแล้ว ใครจะมาคิดร้ายกับเรา ถึงเราจะไม่มีรั้วเป็นคอนกรีตก็จริง… แต่เรามีรั้วเป็นชาวบ้านที่เขาฝากลูก ๆ มาเรียน ๆ เล่น ๆ กับเรา”
โดยส่วนใหญ่เด็กที่มาอยู่กับคุณไก่ เมื่อเรียนรู้การแสดงหนังตะลุงจนชํานาญ ก็จะตั้งวงเป็นหนังตะลุงชุดเล็ก เพื่อไปแสดงตามที่ต่าง ๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายทุกวันนี้ เด็กเหล่านั้นหลายคนเรียนจบแล้ว บางคนสอบได้ที่ 1 ของมหาวิทยาลัย บางคนสอบติดมหาวิทยาลัยชื่อดัง และบางคนก็เรียนจบคณะนิติศาสตร์ และสามารถสอบเนติบัณฑิตได้ จากเมื่อก่อนที่มีเด็กจรไปจรมาถึง 50 คนปัจจุบันจึงเหลือขาประจําอยู่เพียง 4–5 คนเท่านั้น
“จริง ๆ เราไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะเนรมิตทุกอย่างได้ แต่เราให้เพียงโอกาส และเป็นพี่เลี้ยงที่สอนสิ่งดี ๆ ให้เขาเท่านั้น”คุณไก่บอกด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม
นอกจากจะสั่งสอนเด็กหลายคนให้ไปจนถึงฝั่งฝันได้แล้ว เด็กที่เคยมีปัญหาคุณไก่ก็ไม่ทอดทิ้ง ให้ความรัก และเชื่อใจพวกเขาเสมอ
“เด็กบางคนเข้ามาอยู่ที่นี่เกือบ10ปี เขาบอกว่า ‘อาจารย์รู้ไหมเมื่อก่อนผมติดยานะ’ ‘เชื่อไหมผมเคยดมกาว’ แต่ตลอดเวลาที่เขาอยู่กับเราเราไม่เคยเห็นพฤติกรรมไม่ดีของเขาเลย นี่ทําให้เห็นว่าพอเราเชื่อใจเขา เขาก็จะไว้วางใจเรา และจะเล่าเรื่องราวต่างๆให้เราฟังเอง
“ผมบอกเด็ก ๆ เสมอว่าทุกอย่างจะสําเร็จได้ ก็ด้วยความพยายาม ความตั้งใจ เมื่อก่อนบ้านผมก็เป็นแค่หลังคามุงจากฟากเป็นไม้ไผ่ ฝนตกทีไรต้องหาหม้อมารองน้ำฝน สิ่งที่เจอมา เราไม่เคยลืมเลยอยากสร้างโอกาสให้เด็กมีเหมือนเราบ้าง”
ด้วยเหตุนี้ เมื่อเด็ก ๆ อยากมีบ้านเป็นของตัวเองในอาณาบริเวณที่ดินของเขา เขาก็จะสละเงินส่วนตัวเป็นค่าใช้จ่ายสําหรับอุปกรณ์ทุกอย่าง หลังจากนั้นก็จะให้เด็ก ๆ ลงมือสร้างบ้านด้วยตัวเอง โดยเขาคอยช่วยเหลือ
นอกจากจะสอนให้เด็กเล่นหนังตะลุงได้แล้ว คุณไก่ยังสอนให้เด็ก ๆ หาเลี้ยงตัวเองอีกด้วย
“ถ้าเดินเข้าไปในสวนข้างในจะเห็นบ่อที่เลี้ยงกบ เด็ก ๆ เขาสนใจอยากทํา เราก็จ้างให้ทําเพื่อจะได้มีรายได้พิเศษ บางครั้งก็ให้ไปตัดหญ้า เลี้ยงหมูไก่เป็ด บางคนก็อยากทําเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง อยากทํานาทําไร่ข้าวโพด ทําสวนกล้วย และสวนยาง ผมยินดีลงทุนให้ แต่เด็กต้องสร้างเองลงมือทําเอง”
ด้วยเหตุนี้ สวนขนาด 8 ไร่ของคุณไก่ จึงกลายเป็นสวรรค์ให้เด็ก ๆ ได้ทดลองทํางาน ให้ทุกคนได้เรียนรู้ที่จะทํามาหากินอดทน และอดออม
ในแต่ละวันจะมีอุปสรรคเข้ามาให้ทดท้อบ้าง แต่คุณไก่ไม่เคยถอยพร้อมแนะนําเคล็ดลับว่า “ใช้ความดีเท่านั้นถึงจะผ่านไปได้”
“อาจารย์…กินข้าวหรือยัง”
“อาจารย์เอาขนมไหม เดี๋ยวผมซื้อไปให้”
ที่เคยช่วยเหลือเด็ก ๆ …เมื่อยามหมดกําลังใจเด็ก ๆ ก็กลายเป็นกําลังใจอันมหาศาลให้กับเขาได้เช่นกัน
” ทําลงไป ผมไม่ได้อะไร นอกจากความสุขที่ขยายผลได้ถึงจะกินไม่ได้ แต่ความอิ่มเอิบใจอะไรก็สู้ไม่ได้ ”
ทุกวันนี้คุณไก่มีรางวัลติดบ้านมากมาย อาทิ รางวัลคนดีแทนคุณแผ่นดิน ศิษย์เก่าดีเด่นจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รางวัลบุคคลแห่งปีจากมหาวิทยาลัยจันทรเกษม ฯลฯ
แน่นอนว่า รางวัลหาใช่สิ่งสําคัญ เพราะเขาได้ค้นพบสิ่งที่สําคัญกว่านั้น แล้วนั่นคือ…สิ่งที่ผู้คนพากันเรียกว่า “ความสุข” นั่นเอง
ที่มา : นิตยสาร Secret ฉบับที่ 151
เรื่อง : เทพสิน ผ่องแก้ว
เรียบเรียง : ผั่นพั้น
ภาพ : วรวุฒิ วิชาธร
บทความน่าสนใจ
เจ เจตริน ช่วยเหลือนักร้องชายตาบอด แฟนเพลงเจตัวจริง
ผมสุขใจที่ได้ช่วย นัทโอนไว มอบเงินช่วยเหลือหนุ่มใหญ่ที่ป่วยเป็น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ความสุขอันสูงสุดของคุณหมอวัยเกษียณ แพทย์หญิงศิวาพร จันทร์กระจ่าง