การเจริญเทวตานุสติ

ปาฏิหาริย์แห่งการเจริญเทวตานุสติ

เวลาประมาณห้าโมงเย็นของวันหนึ่งในปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว ผู้เขียนและเพื่อนเดินทางไปกราบสักการะพระอนุสาวรีย์พระราชชายา เจ้าดารารัศมี พระมเหสีองค์หนึ่งในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระตําหนักดาราภิรมย์ ค่ายดารารัศมี อําเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ การเจริญเทวตานุสติ

เมื่อผู้เขียนจุดธูปเทียนบูชาเรียบร้อยแล้วก็นั่งพับเพียบ ยกมือไหว้ พร้อมทั้งครุ่นคิดถึงพระกรณียกิจนานัปการที่พระองค์ทรงมีต่อนครเชียงใหม่ ตั้งแต่ทรงเสียสละอย่างใหญ่หลวงด้วยการจากนครเชียงใหม่ไปถวายตัวรับราชการฝ่ายใน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่มีพระชันษาเพียง 13 ปี ในฐานะองค์สายสัมพันธ์ของสองแผ่นดิน คือ สยามกับนครเชียงใหม่ และประทับ ณ พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 23 ปีเศษ พร้อมทั้งคิดคํานึงถึงพระกรณียกิจทั้งทางด้านศาสนา การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และการพัฒนาการเกษตรที่มีต่อนครเชียงใหม่

และแล้วผู้เขียนก็สะดุดตาเมื่อมองเห็นผ้าสไบแบบภาคกลางมีตัวอักษรปักชื่อนายทหารคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้นํามาถวายและห่มพระอนุสาวรีย์ไว้ ผู้เขียนรู้สึกทันทีว่าไม่สมควรและพระองค์จะต้องไม่โปรด เพราะถ้าจะทรงห่มสไบแบบภาคกลางก็คงทรงห่มมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว จากการศึกษาพระประวัติพบว่า พระราชชายาทรงอนุรักษ์การแต่งกายแบบชาวเหนือไว้ตลอดพระชนมชีพ วัฒนธรรมกรุงเทพฯไม่สามารถกลืนความเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือผู้ทรงอนุรักษนิยมล้านนาไปได้

ผู้เขียนใคร่ครวญแล้วจึงตัดสินใจขอประทานพระอนุญาตนําสไบออกจากพระอนุสาวรีย์ แล้วนํามาพับวางไว้ใกล้ ๆ กับพระบาท ในตอนนั้นเอง ท่ามกลางแสงแดดอ่อน ๆ เกิดมีสายฝนเป็นละอองฝอยโปรยลงมาเบา ๆ ผู้เขียนและเพื่อนหันมามองหน้ากันและเกิดอาการขนลุกน้ำตาไหลคลอที่เบ้าตา ต่างรีบก้มลงกราบแทบพระบาทของพระอนุสาวรีย์ ผู้เขียนรับรู้ด้วยจิตว่า พระองค์ทรงสื่อสารมาถึงเราว่าทําถูกต้องแล้ว และละอองฝนเป็นเสมือนการพรมน้ำมนต์ให้นั่นเอง

ที่ผู้เขียนรู้สึกอัศจรรย์ใจมากยิ่งขึ้นก็คือ ขณะนั่งอยู่ที่ลานพระอนุสาวรีย์นั้น ผู้เขียนได้ระลึกถึงคนที่เคยรู้จักเมื่อประมาณสามเดือนที่ผ่านมา ยังรู้สึกประทับใจในตัวเขา ผู้เขียนต้องการที่จะพูดคุยกับเขา แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ขณะที่กราบพระอนุสาวรีย์เพื่อจะลากลับจึงได้ขอบารมีของพระราชชายาช่วย ทันใดนั้นเสียงโทรศัพท์ติดตามตัวก็ดังขึ้น เมื่อรับสายปรากฏว่าคือคนที่ผู้เขียนระลึกถึงนั่นเอง

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือผู้เขียนได้เจริญสมถกรรมฐานที่เรียกว่าเทวตานุสติ

ปรากฏการณ์ดังกล่าว ถ้าอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ ก็เป็นไปได้ว่าฝนโปรยลงมาในช่วงปลายฝนต้นหนาวนั้นเกิดจากร่องความกดอากาศต่ำหรือมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในเวลาใดก็ได้ และการที่ผู้เขียนได้รับโทรศัพท์จากคนที่ระลึกถึงก็อาจเป็นความบังเอิญ แต่ถ้าอธิบายในระดับอภิปรัชญา (วิชาที่ไม่สามารถสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส) หรือตามหลักพุทธปรัชญา ซึ่งเทพหรือเทวดาเป็นธรรมชาติที่มีอยู่จริงและสามารถสื่อสารถึงมนุษย์ได้หลายรูปแบบ ความบังเอิญก็จะไม่มี มีแต่สิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยต่อกันทั้งสิ้น เพียงแต่คงต้องตั้งข้อสังเกตหาความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยแห่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างละเอียด แยบยล ซึ่งแต่ละคนอาจรับรู้ได้ต่างกัน

ผู้คนจํานวนหนึ่งมักจะบ่นว่า เมื่อไปขออะไรจากองค์เทพต่าง ๆ แล้ว ไม่เห็นได้อะไรเลย ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะการขอเต็มไปด้วยความอยากหรือเป็นกิเลสที่พลุ่งพล่าน เป็นจิตฝ่ายอกุศล จึงไม่ส่งผลดีอะไรต่อผู้ขอ แต่การขอที่มีประสิทธิผลนั้น ต้องเป็นการขอที่อยู่ในการเจริญเทวตานุสติด้วยวิธีการปฏิบัติดังต่อไปนี้

ต้องสักการะด้วยความนอบน้อมจากจิตใจและใคร่ครวญตระหนักรู้ในคุณงามความดี สํานึกในคุณค่านานัปการขององค์เทพที่เรากราบไหว้ เพราะขณะที่เรากราบไหว้และใคร่ครวญสํานึกในคุณค่าขององค์เทพนั้น ความรู้สึกชื่นชมและปีติยินดีจะเกิดขึ้น และจะต้องมีจิตนิ่ง มีสติอยู่กับการใคร่ครวญคุณค่าหรือคุณงามความดีขององค์เทพเท่านั้น บางคนอาจเกิดความปีติจนน้ำตาไหลหรือขนลุก นั่นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้จริง แต่ต้องเริ่มจากการใคร่ครวญคุณค่าก่อน

ภาษาบาลีเรียกการกระทําเช่นนี้ว่า “วิตกและวิจารณ์” คือการหยิบยกเอาคุณงามความดีขององค์เทพที่เราเคารพมาเป็นอารมณ์สมถกรรมฐาน เมื่อใคร่ครวญสํานึกในคุณค่าครั้งแล้วครั้งเล่าจะเกิด ปีติ คือ ความรู้สึกอิ่มใจ จากนั้นจะเกิด ความสุข ที่สงบ เมื่อไรที่รู้สึก ปึติและสงบสุข แล้ว เมื่อนั้นสารเอนดอร์ฟิน สารเคมีแห่งความสุขในสมองก็จะหลั่งออกมามาก ความสุขสบายทั้งกายและใจก็เกิดขึ้น ภาวะนี้ในอภิปรัชญาเป็นภาวะที่เปิดรับการสื่อสารกับสรรพสิ่งรายล้อมต่างมิติได้ดี โดยเฉพาะสัญญาณจิตจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทวยเทพเทวาต่าง ๆ พร้อมด้วยเทวตานุภาพ จึงดลบันดาลให้คลื่นความถี่จากจิตที่สักการะรวมถึงการวิงวอนขอสิ่งต่าง ๆ เกิดประสิทธิผลได้จริง ยิ่งกว่านั้น หากบุคคลผู้นั้นมีคุณงามความดีสั่งสมมาด้วย ก็จะยิ่งเป็นพลานุภาพที่เป็นทิพย์เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ และนี่คือ การเจริญเทวตานุสติ ซึ่งเป็นหนึ่งในการเจริญอนุสติ 10 และเป็นหนึ่งใน 40 วิธีของการเจริญสมถกรรมฐานที่ทําให้จิตสงบและเกิดพลัง

ดังนั้นไม่ว่าท่านจะสักการะพระราชานุสาวรีย์ใด ๆ นั่นคือท่านกําลังเจริญสมถกรรมฐานที่เรียกว่าเทวตานุสตินั่นเอง เพราะพระราชาเหล่านั้นถือเป็นสมมุติเทพขณะยังมีพระชนมชีพ และเมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้วก็ถือเป็นอุปัตติเทพนั่นเอง

ในพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงเทพหรือเทวดาไว้ 3 กลุ่ม ดังนี้ สมมุติเทพ คือ พระราชา พระราชินี พระราชโอรส และพระราชธิดา อุปัตติเทพ คือ เทพหรือเทวดาที่สถิตอยู่ในสรวงสวรรค์ชั้นต่าง ๆ และวิสุทธิเทพ คือ พระอรหันต์นั่นเอง ดังนั้นเมื่อใคร่ครวญในคุณงามความดีของสมมุติเทพและอุปัตติเทพที่ท่านนับถือแล้ว ควรประกอบคุณงามความดีเช่นเทพที่ท่านสักการะด้วย เพราะการเชื่ออะไรบางอย่างแล้วไม่นํามาปฏิบัติในชีวิต นั่นเป็นการคดโกงอย่างหนึ่ง ดังคํากล่าวของมหาตมะคานธี ส่วนปาฏิหาริย์อันสัมพันธ์จากจิตขณะที่ปีติและสงบสุขนั้น เป็นสิ่งที่ท่านต้องใช้ความเพียรพยายามจึงจะได้ผล และต้องเป็นการสร้างเหตุโดยไม่หวังผล เพราะการหวังผลเป็นกิเลส เป็นจิตฝ่ายอกุศล เราควรมุ่งสร้างเหตุดีไปเรื่อย ๆ แล้วผลดีในขณะจิตสงบพร้อมการอธิษฐานที่แน่วแน่จะเกิดขึ้นเอง ถึงตอนนั้นก็จะพบความอัศจรรย์จากการเจริญเทวตานุสติ

การเจริญเทวตานุสติเป็นหนึ่งใน 10 วิธีของการเจริญอนุสติ หมายถึง การตามระลึกถึง ซึ่งก็คือการระลึกถึงคุณงามความดีหรือคุณค่าของสิ่งที่นํามาเป็นอารมณ์กรรมฐานนั่นเอง สมถกรรมฐานกลุ่มนี้ก่อให้เกิดกําลังสมาธิไม่เสมอกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจริตหรืออุปนิสัยพื้นฐานจิตใจของแต่ละบุคคลและความเพียรพยายามที่แตกต่างกัน

การเจริญอนุสติประเภทที่เหมาะสมมากที่สุดสําหรับผู้ที่มีจริตแบบ ศรัทธาจริต คือมีอุปนิสัยที่มีความชื่นชมศรัทธาอย่างแรงกล้าเป็นที่ตั้ง มี 6 วิธีคือ การเจริญพุทธานุสติ ซึ่งก็คือ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ธัมมานุสติ คือ การระลึกถึงคุณของพระธรรม สังฆานุสติ คือ การระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ สีลานุสติ คือ การระลึกถึงคุณของการรักษาศีล จาคานุสติ คือ การระลึกถึงคุณของการบริจาคทาน และเทวตานุสติ คือ การระลึกถึงคุณความดีของเทพเทวดา เช่นเดียวกับที่ประชาชนระลึกถึงคุณความดีในพระปิยมหาราช และผู้เขียนระลึกถึงคุณความดีของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ดังที่ได้เล่าให้ฟังมาข้างต้น

อนึ่ง การเจริญสมถกรรมฐานทั้งหกวิธีดังกล่าวสามารถทําให้เกิดกําลังสมาธิสูงถึงขั้นอุปจารสมาธิ และสูงเป็นพิเศษจนอาจถึงขั้นปฐมฌานได้หากมีความเพียรพยายามอย่างสูง แต่ต้องอย่าลืมว่าเป้าหมายสูงสุดและแท้จริงของการเจริญอนุสติ คือ การทําให้มีจิตใจสงบสุข มิใช่อิทธิปาฏิหาริย์ หากเข้าใจและปฏิบัติได้ถูกต้องจะช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตได้เป็นอย่างดี

 

หมายเหตุ: ตําแหน่งพระมเหสีในรัชกาลที่ 5 มี 5 ตําแหน่ง คือ 1. พระบรมราชินีนาถ 2. พระบรมราชเทวี 3. พระราชเทวี 4. พระอัครชายา 5. พระราชชายา
นอกนั้นเป็นตําแหน่งเจ้าจอมมารดาและเจ้าจอมทั้งหมด

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

Photo by Tim Easley on Unsplash

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

เทวดานุสสติ การระลึกถึงผลบุญของเทวดา ทำไมต้องระลึกถึง และมีผลานิสงส์อย่างไร

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.