หัวไต้ซาน

หัวไต้ซาน องครักษ์พิทักษ์แม่น้ำหวาย ช่วยชุมชนให้ฟื้นคืนชีวิตอีกครั้ง

แม‹่น้ำหวาย (Huai River) เปš็นแม่‹น้ำขนาดใหญ่‹อันดับสามของจีน ไหลพาดผ่านสี่มณฑลใหญ่เป็นšระยะทาง 1,000 กิโลเมตร หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนริมสองฝั่งแม่น‹้ำกว่า‹ 150 ล้านคน

หัวไต้ซาน (Huo Daishan) ยังจำได้ดีว่า สมัยเด็ก ๆ แม่น้ำหวายมีขนาดกว้างมากและมีคลื่นลูกโต ๆ ด้วย ยามลมพัดแรง สายลมจะหอบกลิ่นหอมของข้าวที่กำลังออกรวง มองเห็นนาข้าวอยู่บนฝั่งไกลลิบ ๆ

แต่เมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่ ภาพดังกล่าวได้หายไปอย่างสิ้นเชิง

ปี 1994 หัวไต้ซานซึ่งขณะนั้นทำงานเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ได้ไปทำข่าวที่โรงเรียนแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำหวาย เขาตกใจสุดขีดเมื่อเห็นว่าเด็กนักเรียนทุกคนต้องสวมผ้าปิดปากและสวมแว่นตาสำหรับป้องกันก๊าซพิษตลอดเวลาที่นั่งเรียนหนังสือ

หัวไต้ซาน

ไม่เพียงเท่านั้น หัวไต้ซานยังพบข้อมูลที่น่ากลัวมากมาย เช่น จำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้นถึงขั้นที่ว่าบางครอบครัวพี่น้องเสียชีวิตห่างกันเพียงหนึ่งเดือน ชาวบ้านส่วนใหญ่จะไปหาหมอก็ต่อเมื่อป่วยถึงขั้นสุดท้าย เพราะอย่างไรเสียก็ไม่มีเงินค่ารักษาอยู่ดี บางหมู่บ้านเด็กเกิดใหม่มีอาการผิดปกติ เช่น เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด

ส่วนแม่น้ำหวายที่เคยเป็นสวรรค์บนดิน ก็เปลี่ยนเป็น แม่น้ำแห่งความตาย โดยสมบูรณ์ เพราะน้ำกลายเป็นสีดำสนิท ฟองลอยฟ่อง ส่งกลิ่นเน่าเหม็น และแทบไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่

หัวไต้ซาน

อันที่จริงหัวไต้ซานผูกพันกับแม่น้ำหวายมาเกือบชั่วชีวิต เพราะหมู่บ้านเสิ่นชิ่ว (Shenqiu) ที่เขาเกิดก็ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหวาย เมื่อรู้ปัญหานี้ หัวไต้ซานจึงตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อช่วยแม่น้ำหวายที่กำลังใกล้ตาย แม้ว่าเขาจะมีเครื่องมือเพียงกล้องถ่ายรูปราคาไม่ถึง 300 ดอลลาร์ ปากกาและสมุดจด แต่หัวไต้ซานก็มีแนวทางการทำงานที่ชัดเจน เขาเดินทางไปยังหมู่บ้านราว 70 หมู่บ้านเพื่อถ่ายรูปแม่น้ำหวายที่กำลังเน่าเสีย ถ่ายภาพเด็ก ๆ ที่ต้องรับเคราะห์จากความมักง่ายของผู้ใหญ่

ภาพถ่ายกว่า 15,000 ภาพได้รับการจัดแสดงในงานนิทรรศการชุมชนหลายครั้ง และช่วยกระตุ้นจิตสำนึกของคนทั่วไปได้ทีละเล็กทีละน้อย

นอกจากนั้นเขาได้ก่อตั้งกลุ่ม ผู้พิทักษ์แม่น้ำหวาย ขึ้นสมาชิกส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน หัวไต้ซานสอนให้อาสาสมัครเหล่านี้ช่วยกันเฝ้าระวังหากมีการทิ้งของเสียหรือน้ำเสียลงในแม่น้ำ เป็นการปลูกจิตสำนึกและความผูกพันกับสิ่งแวดล้อมให้คนรุ่นต่อไปอย่างยั่งยืน

หัวไต้ซาน

หัวไต้ซานยังเสนอตัวไปพูดคุยกับเจ้าของโรงงานให้จัดสร้างระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ และพูดคุยกับชาวบ้านให้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น เขาเป็นคนริเริ่มให้มีการขุดบ่อน้ำบาดาลเพื่อใช้ในหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจนไม่อาจใช้น้ำในแม่น้ำได้

สิบปีต่อมา การทำงานของหัวไต้ซานก็ปรากฏผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ชนชั้นกลางชาวจีนหันมาตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมแทนที่จะสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว องค์กรเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทั้งในจีนและต่างประเทศยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือโครงการของเขา ที่สำคัญที่สุด โรงงานอุตสาหกรรมหลาย ๆ แห่ง รวมทั้งโรงงานผลิตผงชูรสขนาดใหญ่ที่สุดของจีน ได้ร่วมมือกับหัวไต้ซานอย่างเต็มตัวในการสร้างเครื่องมือควบคุมการปล่อยน้ำเสียและมลพิษ

แม่น้ำหวายในวันนี้อาจยังไม่ฟื้นตัวเหมือนเก่า แต่ก็ได้รับการดูแลที่ดีขึ้นและเป็นความหวังว่า วันหนึ่งข้างหน้าแม่น้ำหวายจะสามารถกลับมาสวยงามเหมือนสมัยที่หัวไต้ซานยังเด็ก

ในปี 2010 คณะกรรมการรางวัลแมกไซไซตัดสินใจมอบรางวัลให้กับหัวไต้ซานในฐานะที่เขาได้อุทิศตัวอย่างเสียสละและจริงใจในการพิทักษ์แม่น้ำหวาย อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนตัวเล็ก ๆ ไม่ลังเลใจในการทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่

 

รางวัลแมกไซไซก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีรามอน แมกไซไซ ของฟิลิปปินส์ที่เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุเครื่องบินตก แมกไซไซเปรียบเหมือนรางวัลโนเบลของชาวเอเชีย

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  Violet

ภาพ  china.org.cn, Huo Daishan, internationalreporting.org, rmaward.asia

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

หวง ต้าฟา 36 ปีกับโครงการขุดภูเขาสามลูก นำน้ำเข้าหมู่บ้าน

Patrick Kilonzo Mwalua วีรบุรุษแห่งป่าใหญ่พ่อพระของ เคนยา

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.