เมื่อพ่อแม่ ไม่เห็นด้วยที่ไปปฏิบัติธรรม
เมื่อเราต้องการไปปฏิบัติธรรม แต่พ่อแม่ ไม่เห็นด้วยที่ไปปฏิบัติธรรม พ่อแม่ไม่เข้าใจ แล้วเราควรคิดหรือทำอย่างไร พระเมธีวชิโรดม หรือ ท่าน ว.วชิรเมธี อธิบายไว้ดังนี้
ถาม:
หากพ่อแม่ไม่เห็นด้วยที่ไปปฏิบัติธรรม อธิบายอย่างไรก็เปลี่ยนความคิดท่านทั้งสองไม่ได้ ดิฉันควรจะปรับใจอย่างไรเมื่อเจอปัญหานี้คะ แล้วถ้าไปอบรมวิปัสสนากรรมฐานโดยที่พ่อแม่ไม่เห็นด้วย ถือว่าเป็นการทำผิดเพราะได้ทำความลำบากใจให้พ่อแม่หรือเปล่า
ตอบ:
ถ้าหากท่านยังไม่เข้าใจในเส้นทางที่เลือกเดิน ก็ไม่ควรเร่งด่วนหักหาญน้ำใจท่าน คุณต้องไม่ลืมว่าชีวิตของคุณนั้นเป็นของท่านพอ ๆ กับที่เป็นของคุณด้วยเช่นกัน ดังนั้นการที่คุณจะตัดสินใจทำอะไร จึงควรคำนึงถึงจิตใจของท่านตามสมควร การปฏิบัติธรรมนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องแลกมาด้วยความ “แตกหัก” กับคนในครอบครัวเสมอไป การค่อย ๆ ก้าวไปบนเส้นทางธรรม โดยพยายามทำให้ทุกฝ่ายที่เราเกี่ยวข้องยอมรับได้ ควรเป็นทางสายกลางสำหรับคุณและครอบครัว
ส่วนที่ถามว่าถ้าไปอบรมวิปัสสนากรรมฐานโดยที่พ่อแม่ไม่เห็นด้วย ถือว่าเป็นการทำผิดเพราะได้ทำความลำบากใจให้พ่อแม่หรือเปล่านั้น ขออธิบายว่า
การทำความดี แม้จะเป็นสิ่งควรทำ แต่บางครั้งการทำความดีก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ อย่างในกรณีของคุณเป็นต้น
เมื่อประมาณหลายสิบปีมาแล้ว มีฝรั่งคนหนึ่งมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้เข้ามาอุปสมบทเป็นพระภิกษุและได้ไป ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อชา สุภัทโท อยู่หลายปี จนล่วงกาลผ่านวันมานาน ท่านได้กลายเป็นพระผู้ใหญ่รูปหนึ่งในบรรดาศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อชา วันหนึ่งพ่อแม่ของท่านเดินทางมาจากต่างประเทศเพื่อมาดูสภาพความเป็นอยู่ของลูกชาย
เดิมทีพ่อแม่ของพระฝรั่งรูปนี้ไม่ได้เห็นด้วยนักที่ลูกข้ามน้ำข้ามทะเลมา บวชไกลถึงเมืองไทย แต่เมื่อได้มาพบพระลูกชาย ได้มาเห็นปฏิปทาของพระสงฆ์ โลกทัศน์ของพ่อแม่พระฝรั่งรูปนั้นก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากที่ไม่ชอบไม่ศรัทธา ไม่เห็นด้วยกับพระลูกชาย ก็กลายมาเป็นผู้พลอยโมทนาสาธุการ และจากนั้นเป็นต้นมา ความรู้สึกในเชิงต่อต้านขัดขืนก็หายไปอย่างสิ้นเชิง บัดนี้พระฝรั่งรูปนั้นก็ยังคงบวชอยู่ และเป็นพระผู้ใหญ่ระดับเพชรน้ำหนึ่งในบรรดาศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง
เมื่อราวสิบปีมาแล้ว มีปัญญาชนสตรีคนหนึ่ง ซึ่งทำงานองค์กรเอกชนระหว่างประเทศ ได้เดินทางไปทำงานที่ประเทศแห่งหนึ่งทางทวีปยุโรป วันหนึ่งมีโอกาสได้ฟังการแสดงปาฐกถาธรรมของท่านติช นัท ฮันห์ พระวิปัสสนาจารย์ชาวเวียดนาม หลังจากฟังธรรมคราวนั้นแล้ว เธอเกิดความประทับใจเป็นพิเศษ จึงติดตามไปฟังธรรมจากท่านจนถึงหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส และในที่สุดก็ตัดสินใจบวชเป็นภิกษุณี (รูปแรกของไทยในสายหมู่บ้านพลัม)
พ่อแม่ของเธอทราบข่าวนี้ด้วยความระทมทุกข์ และรู้สึกในทางต่อต้านขัดขืน จนกลายเป็นเรื่องใหญ่โตของครอบครัวขึ้นมาทันทีทันใด แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ค่อยคลี่คลายลงแล้ว ทั้งพ่อและแม่ของภิกษุณีรูปนั้นก็ได้เดินทางไปเยี่ยมเยือนภิกษุณีผู้เป็นลูกถึงประเทศฝรั่งเศส พบว่า ลูกสาวเป็นนักบวชที่มีความสุข ซ้ำยังเป็นผู้คอยปลอบโยนเพื่อนมนุษย์อีกมากมายให้คลายทุกข์โศกได้อย่างที่พ่อแม่เองไม่เคยเห็นมาก่อน
หากลูกเป็นแค่ลูกของแม่ ก็คงทำให้แม่และพ่อเท่านั้นมีความสุข
แต่หากลูกเป็นลูกของพระธรรม ลูกกลับทำให้คนทั้งโลกมีความสุขยิ่งกว่า
เทียบกันแล้วทางที่ลูกเลือกมีประโยชน์กว่าทางที่พ่อแม่อยากให้ลูกเลือก มากมายนัก พ่อแม่ของท่านคงสรุปทำนองนี้ หลังจากได้พบหน้าลูกที่เปี่ยมสุขอยู่ในสมณเพศแล้ว
จากนั้นเป็นต้นมา อคติในใจของพ่อและแม่ก็หายไป ทุกวันนี้ภิกษุณีรูปนั้นกลายเป็นธรรมาจารย์คนหนึ่งของหมู่บ้านพลัม และจากการพบกันครั้งล่าสุด ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ท่านได้รับแต่งตั้งจากท่านติช นัท ฮันห์ ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งในสังกัดของหมู่บ้านพลัมอีกด้วย
ภิกษุท่านแรก ปัจจุบันก็ยังคงเป็นพระผู้ใหญ่รูปหนึ่งในพุทธศาสนา ส่วนภิกษุณีที่กล่าวถึง ปัจจุบันคือ ท่านนิรามิสา
ว่าเฉพาะท่านหลังนั้น ผู้เขียนมีความสนิทสนมเป็นส่วนตัว ในฐานะกัลยาณมิตรบนเส้นทางธรรมคนหนึ่งมาเป็นเวลาหลายปี เคยมีโอกาสจัดงานภาวนาร่วมกันอยู่หลายครั้ง และบ่อยครั้งที่ท่านพาสังฆะจากหมู่บ้านพลัมมาพำนักที่อาศรมอิสรชนของผู้เขียนที่จังหวัดเชียงราย
เรื่องราวของท่านทั้งสองนั้นน่าจะเป็นตัวอย่างอันดีที่จะทำให้คุณมีกำลังใจในการก้าวไปบนเส้นทางธรรมด้วยความมั่นคง เป็นความมั่นคงที่แม้จะมากด้วยความแคลงใจของครอบครัว แต่ว่าเมื่อถึงเวลาหนึ่ง หากทางที่เราเลือกแล้วเป็นเส้นทางสายธรรมที่แท้ ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า ไม่เร็วก็ช้าบุพการีทั้งสองจะต้องพลอยโมทนาด้วยอย่างแน่นอน
ช้า ๆ ได้พร้าสองเล่มงามดีกว่าเร็ว ๆ แต่ลงเหวซึ่ง ๆ หน้า
ที่มา: นิตยสาร Secret
บทความน่าสนใจ
หัวใจของการปฏิบัติธรรมอยู่ที่การเจริญกุศล โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ