พจนานุกรมภาษาบาลีดี ๆ

ความฝันที่อยากทำพจนานุกรมภาษาบาลีดี ๆ ให้คนเรียนบาลีได้ใช้ : พระราชญาณกวี

ความฝันที่อยากทำ พจนานุกรมภาษาบาลีดี ๆ ให้คนเรียนบาลีได้ใช้ : พระราชญาณกวี

เมื่อพูดถึงภาษาบาลีแล้ว หลายคนอาจมองเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับฆราวาส แต่วันนี้ซีเคร็ตมีโอกาสได้สนทนากับพระราชญาณกวี แห่งวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก จึงได้ทราบว่าที่จริงแล้ว ภาษาบาลีมีความสำคัญและอยู่ใกล้ตัวคนไทยมากกว่าที่หลายคนคิด จนท่านเองมีความฝันในตอนที่เรียนจบเปรียญ 9 ประโยคว่า อยากทำ พจนานุกรมภาษาบาลีดี ๆ สักเล่มให้คนเรียนบาลีได้ใช้กัน

 

ภาษาบาลี ภาษาที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย

“ ประเทศไทยนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งจารึกพระไตรปิฎกด้วยภาษาบาลี จึงจำเป็นต้องศึกษาภาษาบาลีเพื่อเข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ความจริงภาษาบาลีก็ไม่ได้เป็นภาษาต่างประเทศสำหรับคนไทยเลย เป็นภาษาที่คนไทยคุ้นเคย ใช้ตั้งชื่อถนนหนทาง ชื่อลูกหลาน ชื่ออาคารสถานที่ ตลอดจนถึงเวลาพูดก็พูดด้วยภาษาบาลีกันเป็นประจำ เช่น คำว่า “สามัคคี” , “เมตตา” , “กรุณา” , “มุทิตา” , “อุเบกขา” คำเหล่านี้เป็นภาษาบาลีที่พูดกันในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจภาษาบาลี เราจะเข้าใจคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น เช่น คำว่า “ฌาน” , “ญาณ” , “วิปัสสนาญาณ” ถ้าเราแค่ฟังเฉย ๆ อาจเข้าใจไม่ลึกซึ้ง การเรียนภาษาบาลีจึงมีความจำเป็นมาก หรือภาษาบาลีในคำพูดบางคำก็มีความหมายที่เปลี่ยนแปลงไป  เช่น คำว่า สงสาร เราเข้าใจว่า น่าสงสาร น่าเวทนา เป็นความเข้าใจแบบเห็นอกเห็นใจ แต่ในทางพระพุทธศาสนา สงสารแปลว่า สังสาระ หรืออีกคำว่า สังสารวัฏ มีความหมายว่า การเวียนว่ายตายเกิด การเดินทางของจิตวิญญาณ หรือคำว่า เวทนา หมายถึง การรับรู้อารมณ์ เห็นไหมว่าบางครั้งมันก็ไม่ตรงกับที่เราเข้าใจเสียทีเดียว ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ เพื่อให้เข้าใจภาษาคนและภาษาธรรม

 “ การเรียนภาษาบาลีจะทำให้เข้าใจรากศัพท์อย่างลึกซึ้ง ตัวอย่าง เช่น โพชฌงค์ มาจากคำสองคำคือ โพช กับ อังค คำว่า โพช แปลว่า ตรัสรู้ อังค แปลว่า องค์ประกอบ ก็ยังมีการแยกออกไปอีก คำว่า โพช มาจากรากศัพท์ที่เรียกว่า พุทธ-ธาตุ แปลว่า รู้ โพชฌงค์ จึงมีความหมายโดยรวมว่า องค์คุณของผู้ที่ตรัสรู้แล้ว อย่างนี้เป็นต้น  หรือคำว่า กรณีย มาจากคำว่า กร เป็นกร-ธาตุ แปลว่า กระทำ บวกกับคำว่า อนีย แปลว่า ควร หรือ พึ่ง แปลโดยรวมว่า สิ่งที่ควรกระทำ กรณีย บวกกับคำว่า กิจ แปลว่า งานที่พึงกระทำ เป็นต้น เราก็จะรู้ที่มาของศัพท์ นี่คือความยิ่งใหญ่ของการได้รู้ภาษาบาลี ”

“ นอกจากจะมีความเข้าใจในหลักธรรมของพระพุทธศาสนามากขึ้นแล้ว ยังทำให้เราใช้ภาษาในเชิงกวีได้มากขึ้น เช่น คำว่า สายน้ำ เราก็ใช้คำบาลีแทนได้ว่า ธารา คำว่า ตาย ใช้คำว่า มรณะ ถ้าเราจะใช้คำว่า ดอกไม้ ก็ใช้ บุปผชาติ ถ้าจะบอกว่าหัวใจ ใช้คำว่า หฤทัย หรือ ดวงกมล ทำให้การใช้ภาษามีความเป็นศิลปะมากขึ้น มีความสละสลวยไพเราะ คนไทยจึงนิยมตั้งชื่อลูกหลานด้วยภาษาบาลี เพราะภาษามันไพเราะ เช่น ระหว่างเด็กหญิงดอกไม้กับเด็กหญิงกมลา อันไหนจะไพเราะกว่ากัน กมลา แปลว่า ดอกบัว หรือ เด็กหญิงปทุมา เป็นต้น ชื่อจังหวัดในประเทศไทยก็มาจากภาษาบาลี เช่น สิงห์บุรี หรือชื่อประเทศก็สิงคโปร์ มาจากคำว่า สิงหปุระ แปลว่าเมืองสิงห์ หรือเพชรบุรี ก็แปลว่าเมืองเพชร เพราะบุรี แปลว่าเมือง ” 

 

พจนานุกรมภาษาบาลีดี ๆ

 

ภาษาบาลี ภาษารักษาคำสอนของพระพุทธเจ้า

“ พระพุทธเจ้าตรัสสอนเป็นภาษาบาลีจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่นักวิชาการตะวันตกและตะวันออกถกเถียงกันมานานว่า อาตมาขออธิบายให้ฟังว่า พระพุทธเจ้าของเราตอนทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะได้เรียนศิลปศาสตร์ 18 ศาสตร์ ซึ่ง 1 ในนั้นมีวิชานิรุกติศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาเกี่ยวกับภาษาด้วย พระองค์ย่อมเข้าใจและรู้ภาษามากมาย พระพุทธเจ้าประสูติที่ประเทศเนปาล ภาษาที่พระองค์ตรัสก็ต้องเป็นภาษาของคนในพื้นที่แถวนั้น เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วเสด็จเผยแผ่พระศาสนามาถึงแคว้นมคธ ที่นั่นเขาพูดภาษามาคธี ซึ่งภาษานี้มีรากศัพท์เดียวกับภาษาฮินดีที่คนอินเดียใช้กันในปัจจุบัน ถ้าสังเกตให้ดีภาษาฮินดีในปัจจุบันมีรากศัพท์เดียวกับภาษาบาลีด้วย  

“ เราจะเห็นว่า “บาลี” อาจจะไม่ใช่ภาษาพูด อาจจะเป็นคำพูด หรือภาษาที่ใช้จารึกคำสอน เพราะบาลีแปลว่า “รักษา” รักษาอะไรก็คือรักษาคำสอน หรือสิ่งที่ต้องการจารึกไว้เพราะมันไม่เปลี่ยนแปลง และที่อาตมาคิดว่าพระพุทธเจ้าตรัสภาษาบาลี เพราะพระไตรปิฎกเป็นการจารึกที่ผ่านการสวด , สาธยาย หรือสังคายนา การสาธยายมาจากการจดจำจากสิ่งที่พระอานนท์พูด ส่วนเรื่องพระวินัยเป็นพระอุบาลีจำ

“ ถามว่าพระอานนท์จดจำคำสอนของพระพุทธเจ้าตอนไหน ก็เป็นตอนที่ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปที่นั่นที่นี่ เมื่อพระองค์แสดงธรรมพระอานนท์ก็จำเอาไว้ หรือถ้าพระอานนท์ไม่ได้ตามเสด็จ ท่านได้ขอพรพระพุทธเจ้าไว้ข้อหนึ่งว่า ถ้าหากพระองค์เสด็จไปแสดงธรรมที่ใดโดยข้าพเจ้าไม่ได้ติดตามไป ขอให้พระองค์แสดงธรรมนั้นอีกครั้งหนึ่งแก่ข้าพเจ้า เพื่อข้าพเจ้าจะได้จำไว้

“ การที่พระภิกษุสาธยายหรือสวดพระไตรปิฎกนั้น ท่านสวดเป็นภาษาบาลี ตรงนี้คือสิ่งที่อาตมามั่นใจว่าพระพุทธเจ้าตรัสภาษาบาลี แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเวลาที่พระองค์ไปแสดงธรรมให้ชาวบ้านฟัง ใช่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสภาษาถิ่น หรือภาษาเผ่าไม่ได้ พระองค์ตรัสได้

“ อาตมามานั่งนึกดูแล้วยังมีความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสได้หลายภาษา ทรงเป็นนักนิรุกติศาสตร์ และภาษาบาลีนั้นก็เดินทางมาจากการสวดหรือสาธยายคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างพร้อมกันของพระภิกษุ อันนี้คือข้อสังเกตที่ตั้งไว้ ”   

 

พจนานุกรมภาษาบาลีดี ๆ 

 

ลมหายใจของภาษาบาลี  

“ ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ตายไปแล้วจริงหรือไม่ อาตมาว่าภาษาบาลีเป็นภาษาที่ไม่ใช้พูด การที่ไม่ใช้พูดไม่ได้หมายความว่าภาษานั้นเป็นภาษาที่ตายไปแล้ว เช่น แพทย์ในยุโรปใช้ภาษาลาตินบัญญัติศัพท์ทางการแพทย์ ซึ่งภาษาลาตินเป็นศัพท์ที่มีความเกี่ยวโยงกับภาษาบาลีเยอะมาก ถ้าอย่างนั้นแสดงว่าภาษาลาตินก็ต้องตายไปแล้วเช่นกัน แต่ทำไมเขายังใช้ในวงการแพทย์ แม้กระทั้งคำศัพท์ทางสถาปัตยกรรม วิศวกรรม เกษตรกรรม หรือในภาษาไทย เช่น คำเรียกหน่วยงานของภาครัฐ อย่างกระทรวงคมนาคม  กระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงสาธารณสุข เป็นภาษาบาลีหมดเลย แล้วทำไมเราจะไปกลัว ที่แท้คนไทยพูดภาษาบาลีบางคำจนรู้สึกว่ามันกลายเป็นภาษาไทยไปแล้ว พอเราจะหาความหมายของคำ ๆ นั้นกลับไปเปิดดูพจนานุกรมภาษาไทย  ทั้งที่เป็นภาษาบาลี ”

 

ฆราวาสเรียนภาษาบาลีช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนา  

“ ช่วงที่ผ่านมา การเรียนภาษาบาลีกำหนดไว้สำหรับพระภิกษุ-สามเณรเท่านั้น แต่ตอนนี้ฆราวาสสามารถเรียนภาษาบาลีได้  ในมหาวิทยาลัยก็เปิดหลักสูตรภาษาบาลี อย่างเช่น คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น แม้ในโลกตะวันตกก็มีการเรียนภาษาบาลี เช่น มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด มีสมาคมบาลีปกรณ์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยโซแอสก็เป็นสอนภาษาบาลี ภาษาสันสกฤตก็มีเปิดสอนเช่นกัน

“ ปัจจุบันมีวัดหลายแห่งเปิดสอนภาษาบาลีและฆราวาสสามารถร่วมเรียนด้วยได้ เช่น  คณะ 25 วัดมหาธาตุฯ , วัดจากแดง , วัดโมลีโลกยาราม , วัดอาวุธวิกสิตาราม หรือแม้กระทั่งการเรียนแบบออนไลน์ก็มี ฆราวาสที่เป็นผู้หญิง หรือแม่ชีก็เรียนกัน และเดี๋ยวนี้สามารถสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคกันเป็นจำนวนมาก การเรียนบาลีในไทยใช้เวลา 10 ปี แต่สำหรับของต่างประเทศอย่างที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เขาสอนไวยากรณ์บาลีอยู่ 7 เดือน และที่เหลือให้คนเรียนฝึกแปลพระสูตรด้วยการเปิดพจนานุกรมเอง  

“ ประโยชน์ที่ฆราวาสจะได้รับนอกจากการรู้ความหมายของภาษาบาลีแล้วคือ จะทำให้เข้าใจภาษาอังกฤษด้วย เพราะไวยากรณ์บาลีคล้ายกับไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ มันมีรากมาจากตระกูลเดียวกันคือ อินโด-ยูโรเปียน ศัพท์ภาษาอังกฤษที่มาจากภาษาลาตินก็จะมีความคล้ายกับภาษาบาลี เช่น คำว่า teeth ซึ่งแปลว่าฟัน คล้ายกับคำว่า ทันตะ ซึ่งเป็นคำที่แปลว่าฟันในภาษาบาลี หรือคำว่าจมูก ในภาษาบาลีเรียกว่า “นาสิก” แต่ศัพท์ทางการแพทย์ของตะวันตกเรียกว่า “nostril” คำราชาศัพท์ก็มาจากภาษาบาลี เช่น พระเนตร , พระกรรณ , พระชิวหา , พระกระยาหาร

“ ฆราวาสคือกลุ่มคนที่เรียนภาษาบาลีเพราะอยากรู้จริง ๆ เช่น บางคนเป็นหมอ พยาบาล นักกฎหมาย แต่มาเรียนภาษาบาลีแล้วรู้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น บางคนเรียนจนได้เป็นอาจารย์สอนก็มี อาตมาทราบอย่างนี้ก็รู้สึกชื่นใจ หลักสูตรพระอภิธรรมเป็นที่นิยมของฆราวาสเช่นกัน ยิ่งเรียนด้านนี้ก็เท่ากับว่าได้ช่วยรักษาพระพุทธศาสนา เมื่อก่อนอาจพูดว่า ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ เพราะมองว่าเป็นหน้าที่ของพระ ฆราวาสไม่เกี่ยว แต่ตอนนี้ฆราวาสกลับสนใจศึกษาบาลีเพื่อรู้ธรรมะมากขึ้น จึงกลายเป็นว่ามันเป็นเรื่องของชาวพุทธทุกคนไปแล้ว ”

 

พจนานุกรมภาษาบาลีดี ๆ

 

ความฝันที่อยากทำพจนานุกรมภาษาบาลีดี ๆ ให้คนเรียนได้ใช้

“ เราไม่มีพจนานุกรมที่เป็นคู่มือให้กับพระภิกษุ-สามเณร หรือผู้คนที่สนใจใช้ได้อย่างจริงจัง โดยส่วนใหญ่ต้องไปเรียนกับพระอาจารย์ เรียนกับอาจารย์ หรือเรียนแปลโดยพยัญชนะคำต่อคำที่มีคนแปลไว้ ฉะนั้นจึงมานั่งนึกไปว่ามันน่าจะเหมือนกับเราเรียนภาษาอังกฤษ แล้วเปิดพจนานุกรมภาษาอังกฤษไปด้วย ติดศัพท์ตรงไหนก็เปิดหาความหมายทันที หรือเวลาที่เราสวดมนต์ จะได้เปิดหาความหมายของบทสวดได้เลย ช่วยให้สวดมนต์เข้าใจยิ่งขึ้น

“ สมัยที่อาตมาเรียนบาลีก็คิดสงสัยว่า ไม่ว่าเราจะเรียนภาษาอะไร ก็มีพจนานุกรมภาษานั้น ๆ แต่ทำไมเรียนภาษาบาลีแล้วกลับไม่มีพจนานุกรมไว้ใช้ เมื่อเรียนจบเปรียญ 9 ก็อยากจะทำพจนานุกรมบาลี-ไทยขึ้นมา แต่ตอนนั้นได้แต่คิดยังไม่ได้ลงมือทำสักที จนผ่านมา 30 ปี จึงคิดว่าต้องทำแล้ว พอดีไปเจออาจารย์ท่านหนึ่งชื่อ บุญสืบ อินสาร เป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลี เขียนตำราเรียนภาษาบาลีไว้มากมาย อาตมาจึงชวนอาจารย์บุญสืบมาช่วยทำพจนานุกรมเล่มนี้

“ พจนานุกรมบาลี-ไทย ธรรมบทมี 2 เล่มด้วยกัน คือ พจนานุกรมบาลี-ไทย ธรรมบทภาค1-4 และ ธรรมบทภาค 5-8 พจนานุกรมบาลี-ไทยนี้มีความพิเศษที่เราจะแจกแจงศัพท์ ให้ผู้ใช้รู้ที่มาของคำนั้น ๆ ว่ากว่าจะมาเป็นคำนี้ต้องเกิดจากคำอะไรกับคำอะไรบ้าง ควบคู่ไปกับการเรียนภาษาบาลีด้วยคัมภีร์ธรรมบท

“ หลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์ตั้งแต่เปรียญ 1- 9 ก็จะเรียนคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่แตกต่างกันไป แต่คัมภีร์ธรรมบทเป็นคัมภีร์ที่ชาวพุทธรู้จักมากที่สุดมีทั้งหมด 8 ภาค และใช้เรียนในระดับเปรียญ 1-4 ความสำคัญของคัมภีร์นี้คือถ้าใครศึกษาจะเข้าใจเรื่องราวในพระไตรปิฎกเกือบทั้งหมดพอสมควร เข้าใจเรื่องประวัติของพระพุทธเจ้า และพระสาวกในสมัยพุทธกาล อาตมาจึงมาเน้นเรื่องธรรมบท และจัดทำเป็นพจนานุกรมบาลี-ไทย ธรรมบทภาค1-4 และภาค 5-8 ขึ้นมา เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้เรียนบาลีระดับเปรียญ 1-4 ”

 

 

พจนานุกรมบาลีที่ควรมีไว้ในทุกห้องพระ

“ อาตมามองว่าการทำพจนานุกรมบาลี-ไทย ธรรมบท มีประโยชน์ และตอนนี้ก็มีพระภิกษุและสามเณรที่เรียนบาลีชั้นเปรียญ 1-5 อยู่ประมาณห้าหมื่นรูป ทางเราต้องการเจ้าภาพที่ร่วมทำบุญประมาณห้าหมื่นเล่ม มูลค่าอยู่เล่มละ 500 บาท ใครที่ทำ 500 เล่มขึ้นไป จะจารึกชื่อ และเอารูปถ่ายของท่าน หรือผู้วายชนม์ ใส่ไว้ในเล่มเพื่อให้พระภิกษุหรือสามเณรที่ใช้ได้อธิษฐานจิตระลึกถึงตลอดเวลาที่เล่าเรียน หรือร่วมบุญเนื่องในวันเกิดหรือโอกาสสำคัญก็ได้ อาตมาคิดว่าถ้าเราร่วมบุญกันอย่างนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก อาตมาอยากให้พจนานุกรมเล่มนี้กระจายไปอยู่ทุกห้องพระ เวลาสวดมนต์ติดขัดอะไรก็เปิดพจนานุกรมขึ้นมาดูเลย เห็นไหมว่าถ้ามีพจนานุกรมเล่มนี้ติดไว้ ห้องพระนั้นจะมีคุณค่าขนาดไหน  

“ อยากเชิญชวนทุกท่านเป็นเจ้าภาพสร้างพจนานุกรมบาลี-ไทย และเรียนภาษาบาลีด้วยเพื่อที่จะได้สืบสานพระพุทธศาสนา อย่าปล่อยให้เป็นภาระของพระภิกษุ-สามเณร ขอให้คิดว่านี่เป็นภาระที่ต้องช่วยกันศึกษาพระปริยัติธรรม และปฏิบัติศีล สมาธิ ภาวนา เพื่อให้ได้ผลคือปฏิเวธตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ดีแล้ว เพื่อให้สังคมของเรามีความร่มเย็นเป็นสุข และเพื่อให้สถาบันพระพุทธศาสนาของเรามีพระภิกษุ-สามเณรที่ดี มีคนคอยพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนาที่ดี ไม่ใช่แค่สร้างแต่ถาวรวัตถุที่สวยงามเพียงอย่างเดียว และสุดท้ายกลับรกร้างว่างเปล่า เราก็จะกลายเป็นครอบครัวชาวพุทธที่มีคุณภาพ วัดก็กลายเป็นวัดที่มีคุณภาพ พระภิกษุที่อยู่ตามวัดวาต่าง ๆ ก็เป็นหลักใจทางจิตวิญญาณของผู้คนในสังคม เหมือนกับอดีตที่ผ่านมา พระคือเสาหลักของหมู่บ้าน ชุมชน ตำบลนั้น ๆ เรียกได้ว่าเป็นปราชญ์ประจำหมู่บ้านเลยก็ว่าได้ ฉะนั้นอาตมาอยากให้ญาติโยมทั้งหลายได้หันกลับมาศึกษาพระไตรปิฎกกันอย่างจริงจังผ่านการเรียนภาษาบาลี เพราะนี่คือความรู้ที่จะทำให้เกิดความอ่อนโยน

“ ความรู้ทางโลกเปรียบเหมือนดาบที่แหลมคม ความรู้ทางธรรมเปรียบเหมือนฝักดาบ ดาบที่ไร้ฝักก็เหมือนคนที่มีความรู้ดีแต่ไร้ศีลธรรม การเรียนพระไตรปิฎกผ่านภาษาบาลีก็คือการเรียนที่เหมือนเก็บดาบไว้ในฝัก ถึงเวลาจำเป็นค่อยชักออกมาใช้นั่นเอง

 

สามารถสอบถามรายละเอียดร่วมบุญสร้างพจนานุกรมบาลี-ไทย ธรรมบท ภาค1-4 ได้ที่ คุณสิว์ญาณ์ สิงหเสนี (คุณลูกแก้ว)  0896816654

 

เรื่อง : พระราชญาณกวี

เรียบเรียง : ชนินทร์ ผ่องสวัสดิ์

ภาพ : จักรพงษ์ นุตาลัย

 

สามารถส่งเรื่องราวดี  ๆและปัญหาธรรมมาได้ที่ >>> www.facebook.com/SecretThaiMag


บทความน่าสนใจ

เกรซ พัชร์สิตา นางฟ้าจิตอาสา ช่วยปฐมพยาบาลน้องที่ประสบอุบัติเหตุ ระหว่างเดินทางไปจันทบุรี

แชร์ประสบการณ์คนไทยเพียงหนึ่งเดียวเป็นจิตอาสาช่วย ฮากีบิส

วงดนตรีจิตอาสา “ปันฮัก” ใช้ดนตรีเป็นสะพานบุญ ตั้งกล่องรับบริจาคตามตลาดนัด

จิตอาสาของ เมลินดา เกตส์

เจ เจตริน ช่วยเหลือนักร้องชายตาบอด แฟนเพลงเจตัวจริง


 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.