ปฐวี ธุระพันธ์

ปฐวี ธุระพันธ์ เจ้าของเพจโดนใจวัยรุ่น “บันทึกนึกขึ้นได้”

ปฐวี ธุระพันธ์ เจ้าของ เพจโดนใจวัยรุ่น “บันทึกนึกขึ้นได้”

“ง่วง” หรือ ปฐวี ธุระพันธ์ คือชายหนุ่มเจ้าของงานเขียนใน เพจโดนใจวัยรุ่น ซึ่งเป็นบันทึกความทรงจำจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ด้วยมุมมองและแง่คิดสะท้อนภาพสังคมในปัจจุบันที่โดนใจผู้อ่าน ทำให้มีผู้ติดตามเขาทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ “บันทึกนึกขึ้นได้” กว่า 450,000 คน

จากจุดเริ่มต้นของการเขียนไดอะรี่อย่างจริงจังตั้งแต่มัธยม แล้วขยับขยายไปเขียนออนไลน์ลงเว็บ diaryhub.com และ exteen.com จากนั้นจึงมาเปิดเพจในเฟซบุ๊ก เขามีผลงานพ็อกเก็ตบุ๊กมาแล้ว 3 เล่ม คือ Kyo/To/Kyo ปั่นเกียวโตโผล่โตเกียวว่าด้วยการไปปั่นจักรยานคนเดียวที่ญี่ปุ่น 10 วัน อีกสองเล่มคือบันทึกนึกขึ้นได้ และ คิดถึงตอนนั้นเหมือนกันนะ  ซึ่งเป็นการรวบรวมงานเขียนบันทึกความทรงจำที่มีแฟน ๆ ติดตามมากมาย

ปฐวี ธุระพันธ์

“ผมชอบจดบันทึก เขียนไดอะรี่ตั้งแต่ ม.5 เป็นเรื่องว่าวันนี้เราเจออะไร และมีวิธีจัดการกับความคิดของเราให้มันโอเคกับวันนั้นยังไง เขียนอย่างนี้จนเข้ามหาวิทยาลัย ตอนนั้นก็มีบล็อก exteen กับ diaryhub เราก็เขียนของเราไปเรื่อย จนวันหนึ่งมีความรู้สึกว่าอยากมีหนังสือของตัวเองบนชั้นหนังสือ เพราะชอบอ่านหนังสือ แต่กว่าจะถึงวันนั้นเราต้องทำยังไง ก็เลยคิดว่าเราต้องเขียนก่อน ต้องทำให้คนทั่วไปรู้จักกับตัวหนังสือของเราก่อน จึงทำเพจขึ้นมา

“ตอนแรกผมทำเพจเล็ก ๆ ในมหาวิทยาลัยชื่อ ข้างนอกสดใส ข้างในมอบู เขียนเกี่ยวกับชีวิตในมหาวิทยาลัย ต่อมาก็คิดว่าถ้าเราทำแค่ในมหาวิทยาลัย คนจะรู้จักเราแค่ไหน เราอยากให้ต้ัวหนังสือของเราเป็นที่รู้จัก ไม่ใช่แค่ในมหาวิทยาลัย จึงทำเพจบันทึกนึกขึ้นได้ ตอนแรกคนตามไม่เยอะแค่ 1 – 2 พัน จนมีบางบทความที่คนชอบมาก ทีนี้คนก็เริ่มไหลเข้ามาเรื่อย ๆ จนมีสำนักพิมพ์เริ่มติดต่อเข้ามา 2 – 3 แห่ง เราตัดสินใจพิมพ์กับ Springbooks เพราะสไตล์ของเราไปกันได้กับที่นี่”

สำหรับ “ง่วง” ตั้งแต่เริ่มแรกที่เขียนเขาถือว่าการเขียนคือการบรรเทาและเยียวยาความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ในใจ ให้รู้สึกดีกับสิ่งที่ได้พบเจอ เพราะฉะนั้นเมื่อเขียนจบแล้วก็ไม่ได้สนใจว่าจะมีผลอะไรกับชีวิตใครหรือเปล่า คิดเพียงว่าได้ทำหน้าที่ของผู้เขียนจบลงแล้ว

“หลังจากทำเพจมาก็มีคนส่งข้อความมาคุย มาปรึกษา ซึ่งเราจะบอกเขาตรง ๆ ว่าอยากให้ฟังหรืออยากได้คำปรึกษา ถ้าอยากให้ฟังก็จะฟัง พิมพ์มาเลย เพราะบางคนแค่อยากระบาย ถ้าอยากได้คำปรึกษา เราก็จะบอกว่า มันเป็นแค่มุมของเราคนเดียวนะ เราไม่รู้บริบทคนรอบข้างเป็นยังไง ก็ทำแบบนี้มาเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งผมไปงานเซ็นหนังสือ มีผู้ปกครองพาน้องคนหนึ่ง มาแล้วบอกว่า ลูกเขาเป็นโรคซึมเศร้า พอลูกเขามาอ่านหนังสือของเราก็พยายามทำตัวเองให้ดีขึ้น จนวันที่เขาหาย เขาก็เอาหนังสือมาให้เราเซ็น เราไม่รู้มาก่อนเลยว่าสิ่งที่เราทำเพื่อตัวเองมันมีผลกับคนอื่นได้ อาจไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็มีส่วนทำให้รู้สึกว่างานเรามีความหมายขึ้น มากกว่าแค่การระบายความรู้สึกตัวเอง”

ปฐวี ธุระพันธ์

สิ่งที่ทำให้งานเขียนโดนใจคน อาจเป็นเพราะความละเอียดอ่อนและการมองโลกหลายมุมอย่างเปิดกว้างที่แตกต่างจากคนอื่น

“ผมไม่ใช่คนที่มองโลกแง่ดี ถ้าดีก็ดีเลย ร้ายก็ร้ายเลย แต่มองว่าความจริงคืออะไร ผมเป็นคนช่างสังเกต เก็บรายละเอียด คิดเยอะ บางทีแค่คำพูดที่มาสะกิดใจผมนิดเดียว ก็สามารถเก็บไปคิดต่อได้ว่าเรารู้สึกยังไงกับมัน แล้วก็เขียนออกมา เพราะถ้าไม่เขียนออกมาจะรู้สึกว่ามันล้นเต็มไปหมดเลย อึดอัด”

อย่างไรก็ตาม งานเขียนของเขาก็เคยมีฟีดแบ็คที่ไม่ดีกลับมาบ้างเหมือนกัน

“เคยมีคนบอกว่าสิ่งที่เราเขียนน่ะมันทำไม่ได้หรอก เราเป็นคนเขียนก็ไม่เคยบอกเลยว่าคุณต้องทำแบบนี้ เวลาเขียนคือเราคุยกับตัวเอง และเหมือนเราบอกตัวเองว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้สิ แต่เขาคิดว่าเราไปบอกคนอื่นว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้สิ ผมไม่เคยคิดว่าจะสอนใคร ผมเขียนแล้วก็จบ คนอ่านจะจบหรือไม่ก็เป็นเรื่องของคนอ่าน ผมก็เลยไม่รู้สึกว่าเวลามีฟีดแบ็คแย่ ๆ แล้วเราจะรู้สึกดาวน์จนเราเขียนไม่ได้”

นอกจากงานเขียนที่โดนใจคนแล้ว “ง่วง” ยังสนใจด้านการตลาดออนไลน์อีกด้วย

“ช่วงแรกที่ทำเพจไม่ได้สนใจว่าใครจะมาตามเพจ เพิ่งมาติดตามพวกเทรนด์การตลาดในช่วงหลัง ดูบุคลิกของผู้ใช้งาน ผู้ที่เข้ามาอ่าน เพราะหลัง ๆ เริ่มรู้สึกว่าบางโพสต์ไม่ Engage กับคน เราก็จะดูว่าโพสต์ไหนที่มัน Engage ลักษณะของคนที่เข้ามาดูเป็นอย่างไร ทำให้เราเริ่มศึกษามาร์เก็ตติ้งออนไลน์ และเรียนรู้ว่าการเขียนเปิดเรื่องแบบไหนที่สามารถดึงคนให้อ่านต่อได้ รวมทั้งช่วงเวลาที่พีค ซึ่งของเพจผมคือประมาณ 4 – 5 ทุ่ม”

ถึงแม้จะสนใจด้านมาร์เก็ตติ้งออนไลน์ แต่เขายังให้ความสำคัญกับงานเขียนมากกว่าการพยายามกระตุ้นยอดผู้ติดตามของเพจ

“ออนไลน์มาเร็วไปเร็ว ถ้าต้องการทำให้คนอื่นเห็นเราอยู่ตลอดเวลา ต้องโพสต์ทุกวันซึ่งเราก็จะเหนื่อย เราต้องหาจุดพอดีและเวลาที่ใช่สำหรับเรา ผมคิดว่าถ้าสิ่งที่เราอยากทำมันแค่การเขียน เพราะฉะนั้นไม่มีคนอ่านก็ได้ เขียนเสร็จแล้วก็จบ ถือว่าได้ทำตามที่ต้องการ จะมีคนเห็นหรือไม่เห็นเป็นเรื่องของคนอื่น แต่เราได้ทำสิ่งที่เราพอใจแล้ว คนจะรู้จักเราเพิ่มมากขึ้นไหม  เราจะหายไปหรือเปล่า ผมไม่ได้คิดตรงนั้น ตอนที่เราเกิดมาเราก็ไม่ได้คิดว่าคนจะต้องรู้จักเรา คิดว่าเราทำสิ่งที่เราอยากทำมากกว่า จึงไม่ได้คิดว่าคนต้องมาติดตามมากขึ้น เราอยากพัฒนางานเขียนให้ดีขึ้นมากกว่า

“ถ้างานเราดีจริงก็จะมีคนที่เห็นเอง”

 

ที่มา : นิตยสาร Secret  ฉบับที่ 233

เรื่อง : ชนาฉัตร

ภาพ : สรยุทธ พุ่มภักดี,   บันทึกนึกขึ้นได้

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

สาวน้อยมหัศจรรย์ ด.ญ. ณัฏฐนันท์ สนุ่นรัตน์ “น้องแพรพาเพลิน”

เที่ยวไปหลงไปกับ ว่านไฉ – อคิร วงษ์เซ็ง แห่งเพจ“อาสา พาไปหลง”

เฟื่องลดา สรานี สงวนเรือง นางฟ้าไอทีหน้าหวาน

ก้าวข้ามความขี้อาย ยูทูบเบอร์ ขวัญใจวัยรุ่น ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.