พระอุปคุต

เหตุใด พระอุปคุต จึงบิณฑบาตหลังเที่ยงคืน

เหตุใด พระอุปคุต จึงบิณฑบาตหลังเที่ยงคืน

เหตุใด พระอุปคุต จึงบิณฑบาตหลังเที่ยงคืน – วัดอุปคุต จังหวัดเชียงใหม่ มีตำนานเล่ากันว่า มีสามีภรรยายากจนคู่หนึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่นอกเมืองเชียงใหม่ มีอาชีพทำนา เมื่อว่างจากการทำนาก็จะหาผลไม้ในสวนไปขายในตัวเมืองเป็นประจำ

วันหนึ่งในฤดูหนาว สองสามีภรรยาตื่นตั้งแต่ดวงจันทร์ยังคงส่องแสงบนฟ้า (เช้ามืด) เพื่อเตรียมผลไม้ไปขายในตัวเมืองดั่งเคย ทั้งสองออกเดินทางไปได้สักพักก็เหลือบไปเห็นสามเณรน้อยรูปหนึ่ง ยืนอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่พอดี ทั้งสองเกิดศรัทธาสามเณรขึ้นจับใจ นึกอยากทำบุญเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็มีเพียงผลไม้ที่เตรียมไปขายเท่านั้น สองสามีภรรยาจึงบรรจงคัดสรรผลไม้หลายชนิดมาใส่บาตรของสามเณร จากนั้นสามเณรก็ให้พรแก่คนทั้งสองและเดินจากไป

หลังจากใส่บาตรเสร็จ สองสามีภรรยาก็อิ่มอกอิ่มใจอย่างบอกไม่ถูก และเดินทางไปขายผลไม้ต่อ ซึ่งปรากฏว่าวันนั้นทั้งสองสามีภรรยาสามารถขายผลไม้ที่เหลือได้หมดอย่างรวดเร็ว และยังขายดีเช่นนี้ทุกวัน ๆ จนกระทั่งฐานะของสองสามีภรรยาเริ่มดีขึ้น ๆ ตามลำดับ หยิบจับทำอะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปหมด

ในที่สุดทั้งคู่ก็กลายเป็นเศรษฐีของเมืองเชียงใหม่ แต่ถึงกระนั้นสองสามีภรรยาก็ยังไม่เคยลืมสามเณรน้อยที่ตนเคยได้ใส่บาตรเมื่อหลายปีก่อน ทั้งสองยังหมั่นกลับไปบริเวณต้นไม้ใหญ่ที่เคยใส่บาตรเสมอ เพื่อหวังจะได้ใส่บาตรหรือพบสามเณรน้อยอีกครั้ง แต่ก็ไม่พบอีกเลย

กระทั่งวันหนึ่งสองสามีภรรยาได้ไปทำบุญกับพระเถระผู้ใหญ่ พระรูปนั้นได้กล่าวกับสองสามีภรรยาว่า ความร่ำรวยที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอานิสงส์ที่ท่านได้ตักบาตร พระอุปคุต พระเถระซึ่งเข้าฌานสมาบัติอยู่ที่ท้องมหาสมุทร ครั้นถึงวันพระขึ้น 15 ค่ำ ท่านจะจำแลงมาในร่างของสามเณรน้อย ออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ บุคคลใดได้ตักบาตรพระอุปคุตถือว่า “โชคดี” มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นต่อมาในชีวิต ร่ำรวย” ท่านทั้งสองโชคดียิ่งนักที่ได้พบพระอุปคุต

เมื่อได้ยินดังนั้นสองสามีภรรยาจึงตกลงใจสร้างวัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงสามเณรน้อย ณ บริเวณที่พบสามเณรน้อยนั่นเอง พร้อมกันนี้ยังให้ช่างฝีมือมาหล่อพระอุปคุตประดิษฐานไว้ที่วัดแห่งนี้ พร้อมกับตั้งชื่อว่า วัดอุปคุต นั่นเอง

พระอุปคุต
ภาพ : http://thamma4me.blogspot.com

ตักบาตรเพ็งพุธ

พระครูพัทธนาธิมุต เจ้าอาวาสวัดอุปคุต จังหวัดเชียงใหม่ เล่าถึงที่มาของประเพณีตักบาตรเพ็งพุธ สืบเนื่องจากความเชื่อของชาวพม่าที่ว่า พระอุปคุตได้บรรลุสอุปาทิเสสนิพพาน สิ้นกิเลสแล้ว แต่ยังคงเข้าฌานสมาบัติ ณ ปราสาทแก้ว 7 ประการซึ่งตั้งอยู่ในท้องมหาสมุทร หลังจากเข้าฌานสมาบัติเป็นเวลาครบ 7 วันแล้วพระอุปคุตก็จะออกมาบิณฑบาตโปรดสัตว์โลกครั้งหนึ่ง หรือจะปรากฎกายขึ้นบนโลกก็ต่อเมื่อมีการอธิษฐานหรือนิมนต์ให้ท่านมาคุ้มครองดูแลความสงบเรียบร้อยในงานบุญต่าง ๆ

อนึ่ง วันเวลาที่พระอุปคุตจะกลับขึ้นมาบิณฑบาตนั้นคือ คืนวันเพ็ญ (ขึ้น 15 ค่ำ) ที่ตรงกับวันพุธ เรียกเป็นภาษาเหนือว่า “วันเพ็งพุธ” หรือจะเรียกว่า ก่อนเวลารุ่งอรุณของวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ ก็ได้ ทั้งนี้ไม่เจาะจงว่าจะเป็นวันพุธเดือนใดของปี ซึ่งบางปีอาจไม่มีเลยก็ได้

น่าสนใจว่า แม้การตักบาตรเพ็งพุธจะพบแต่ในภาคเหนือของไทย และตอนเหนือของประเทศพม่าเท่านั้น แต่กระนั้นการนับช่วงเวลาการตักบาตรเพ็งพุธก็ยังมีความแตกต่างกันไปอีก

จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงรายจะตักบาตรหลังเที่ยงคืนของวันอังคารเป็นต้นไป ซึ่งถือเป็นช่วงย่างเข้าสู่วันเพ็งพุธ เรียกว่า เป็นการตักบาตร “รับอรุณ” ส่วนที่จังหวัดลำปางและแม่ฮ่องสอนนั้น จะตักบาตรกันหลังเที่ยงคืนของวันพุธ หรือล่วงเข้าสู่วันเพ็งพุธไปแล้ว

พระอุปคุต
ภาพ : siripimblog.wordpress.com

ความเชื่อในการตักบาตรเพ็งพุธ

หากผู้ใดมีโอกาสได้ใส่บาตรพระอุปคุตซึ่งเชื่อว่าจะจำแลงกายมาในร่างของเณรน้อยแล้ว บุคคลนั้นย่อมจะมีแต่ความโชคดี เจริญรุ่งเรืองด้วยโภคทรัพย์ เงินทองไหลมาเทมาทั้งใสนภพนี้และภพหน้า

ด้วยเหตุนี้ชาวล้านนาจึงยังคงรักษาประเพณีตักบาตรเพ็งพุธไว้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดอุปคุต จังหวัดเชียงใหม่ ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านานไม่ต่ำกว่า 250 ปีมาแล้ว

ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ตักบาตรพระอุปคุตได้เหมือนกัน

แม้ไม่มีโอกาสได้ไปตักบาตรเพ็งพุธถึงภาคเหนือ แต่ไม่ว่าอยู่ที่ไหนของเมืองไทยคุณก็สามารถตักบาตรพระอุปคุตได้เหมือนกัน เพียงแค่ในคืนก่อนที่ย่างเข้าสู่วันเพ็งพุธนั้น (คืนวันอังคารขึ้น 14 ค่ำ) ขอให้ทำใจให้บริสุทธิ์ แล้วจึงตั้งจิตอธิษฐานขอให้พระอุปคุตมารับบาตรในวันรุ่งขึ้น

เชื่อกันว่าพระอุปคุตน่าจะมีฤทธิ์เช่นเดียวกับ พระจุลลบันถกเถระ พระอรหันตสาวกครั้งพุทธกาล ซึ่งได้ฌานด้วยมโนมยิทธิ สามารถเนรมิตกายจากคนเดียวให้กลายเป็นหลาย ๆ คนได้ และได้มากนับพัน ๆ รูป

ด้วยเหตุนี้หากตั้งจิตอธิษฐานถึงพระอุปคุตโดยความเคารพและศรัทธาอย่างแท้จริงแล้ว ไม่ว่าอยู่ที่ใดในเมืองไทยก็มีโอกาสได้ตักบาตรพระอุปคุตเช่นกัน

 

ที่มา : พระอุปคุต อรหันตสาวกผู้ยังมีชีวิตอยู่ ณ ท้องมหาสมุทร – วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

ขอบคุณภาพจาก thairath, fotobug.net

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

6 พระสูตร ที่เทวดาฟังแล้วบรรลุธรรมมากที่สุด

© COPYRIGHT 2025 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.