ไตรลักษณ์ ประตูสู่หนทางแห่งความหลุดพ้น
ไตรลักษณ์ คือ ลักษณะสามประการที่พระพุทธเจ้าทรงสังเกตการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ หลักธรรมนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นกฎแห่งธรรมชาติ
ผู้พิจารณา อนิจจัง ควรน้อมจิตที่สงบไปดูอารมณ์ที่ปรากฎชัดขณะนั้น ผู้ที่เห็นลมหายใจเข้า-ออกได้ชัดเจนก็จับลมหายใจเป็นสิ่งพิจารณา ส่วนผู้เห็นนามธรรมอื่น ๆ ได้ชัดเจนก็จับลมหายใจเป็นสิ่งพิจารณา ส่วนผู้เห็นนามธรรมอื่น ๆ ได้ชัดก็จับนามธรรมชนิดนั้น ๆ ขึ้นพิจารณา
เคยพูดมาแล้วว่า ผู้สำเร็จอานาปานสติจะเป็นผู้มีกำลังจิตมาก มีกำลังความสงบสูง เรียกว่า “สมถยานิก” ผู้ปฏิบัติกลุ่มนี้จะพิจารณาเห็นนามธรรมได้ชัดเจน
ควรเริ่มจับนามธรรมที่ปรากฏชัดขณะนั้น มองดูอาการเปลี่ยนแปลงและอาการเกิด-ดับของนามธรรมชนิดนั้น ๆ เช่น เกิดความรู้สึกเอิบอิ่ม เบากาย เบาใจ อย่าปล่อยให้จิตหลงเตลิดไปกับความรู้สึกเอิบอิ่ม ทรงจิตเป็นกลาง ๆ มองดูอาการเอิบอิ่มขณะนั้นอย่างมีสติและปัญญา จะเห็นอาการเอิบอิ่มตามเป็นจริง คือ อาการเปลี่ยนแปลงและเกิด-ดับ เหมือนกระแสน้ำหรือกระแสลม
เมื่อเข้าใจธรรมชาติความเอิบอิ่มตามที่เป็นแล้ว ก็จะเข้าใจอารมณ์ต่าง ๆ เหมือนกัน ไม่ว่าอารมณ์ความรู้สึกนั้นจะดีวิเศษขนาดไหนก็มีธรรมชาติเหมือนกัน อดีต – ปัจจุบัน – อนาคตก็เป็นอย่างเดียวกัน พระพุทธองค์จะทรงอุบัติหรือไม่ก็ตาม ธรรมชาติรูปและนามทั้งหมดก็เป็นอย่างนี้คือ
อนิจจัง ไม่แน่นอน เกิดขึ้นแล้วก็แตกดับไปทันที ผู้ปฏิบัติที่พิจารณาอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกก็จะสงสัย ไม่สงสัยในรูปและนามทั้งหมด ยอมรับด้วยใจอย่างบริสุทธิ์ว่า สรรพสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดกาล มันเป็นอย่างนี้ของมันเอง
ส่วนผู้ที่พิจารณา “ทุกขัง” คือพิจารณาให้เห็นว่า อาการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก เหตุปัจจัยเหล่านี้บีบบังคับและรุมเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแตกสลายไปที่นี่และเดี่ยวนี่ทันที ไม่ได้เกิดด้วยตัวมันเอง หรือไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย
เช่น ลมหายใจ-ออกแต่ละครั้งเกิดเพราะเหตุปัจจัยหลายอย่างประกอบกันเข้า เช่น อุณหภูมิข้างนอกหนาวหรือร้อน ธาตุต่าง ๆ ในกายทำงานอยางปกติหรือไม่ หรือจิตผู้ปฏิบัติสงบนิ่งหรือฟุ้งซ่าน เหตุปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของลมหายใจแต่ละครั้ง
นามธรรมทั้งหมดก็เช่นกัน ล้วนเปลี่ยนแปลงและแตกดับไปตามเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่ประกอบกันเข้าในขณะนั้น จะหานามธรรมที่คงทนเป็นอมตะไม่มี
“อนัตตา” คือ ธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติควรพิจารณา เมื่อรูปและนามทั้งหมดเปลี่ยนแปลงและแตกสลายไปตามเหตุปัจจัยต่าง ๆ อย่างนี้ ใครก็ไม่มีอำนาจสั่งมันได้ เราจะจัดการอะไรกับมันได้ จะเอาความคิดและความรู้สึกเราไปบีบบังคับให้เป็นอย่างที่ต้องการก็ไม่ได้ เมื่อไม่มีใครทำอะไรมันได้ เข้าไปแทรกแซงมันไม่ได้ แสดงว่าแท้ที่จริงแล้วมันไม่ได้เป็นของใคร มันเป็นอย่างนั้นของมันเอง ว่างเปล่าจากตัวกู-ของกูตลอด
“อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา” หรือเรียกว่า “ไตรลักษณ์” คือสิ่งที่ผู้ปฏิบัติควรพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้เกิดปัญญา
ที่มา อานาปานสติ…ลึกแต่ไม่ลับ โดย ส.ชิโนรส
บทความน่าสนใจ
รับรู้แต่ไม่ยึดติด ไม่ว่าอารมณ์บวกหรืออารมณ์ลบ
ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : การดูจิตในการปฏิบัติธรรมคืออะไร
ภพภูมิหลังความตาย ที่สัตว์โลกทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิด
การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ แท้จริงแล้วเร่าร้อนและ น่ากลัวยิ่งกว่าขุมนรก