ฤกษ์ยาม

ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : พระพุทธเจ้าตรัสถึงเรื่อง “ฤกษ์ยาม” ไว้อย่างไร

“ ฤกษ์ยาม ” ในทางพุทธศาสนาหมายความว่าอะไร สำคัญอย่างไรกันแน่?

ถาม : พระพุทธเจ้าตรัสถึงฤกษ์ยามไว้อย่างไรคะ

พระอาจารย์ ดร.พระมหาบวรวิทย์ รตนโชโต ตอบปัญหานี้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสถึง ฤกษ์ยาม ไว้ในสุปุพพัณหสูตรไว้ดังนี้

“ภิกษุ ทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเช้า เวลาเช้าก็เป็นเวลาเช้าที่ดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเที่ยง เวลาเที่ยงก็เป็นเวลาเที่ยงที่ดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกายประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเย็น เวลาเย็นก็เป็นเวลาเย็นที่ดีของสัตว์เหล่านั้น”

ดังนั้น ฤกษ์ยามคือช่วงเวลาที่เหมาะสม สะดวก และมีความพร้อม ในการประกอบกิจการงานนั้น ๆ นั่นเองส่วนการหาฤกษ์ยามในการมุ่งประโยชน์นั้น ให้มองไปที่กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม คือ ทำดี พูดดี คิดดี หากมีครบทั้งสามอย่างเมื่อใดก็ถือว่าเป็นฤกษ์อันเป็นมงคล เป็นฤกษ์แห่งความเจริญรุ่งเรืองหากประวิงเวลาในการทำดีก็จะพลาดฤกษ์ยามอันดี คือประโยชน์อันจะพึงมีพึงได้ไปได้

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในนักขัตตชาดกว่า “ประโยชน์ได้ล่วงเลย คนโง่เขลาผู้มัวคอยฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวจักทำอะไรได้” หากใครปรารถนาจะให้ชีวิตของตนมีแต่ความเป็นมงคลก็ต้องปฏิบัติตามมงคลนั้นๆ นั่นเอง

หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่

นิตยสาร Secret คอลัมน์ Dhamma Daily หรือ dhammadaily2015@gmail.com


บทความน่าสนใจ

Q: บวชหรือสึก ฤกษ์ยามจำเป็นหรือเปล่า

Q: ดูดวงกับพระผิดหรือไม่

5 ตำนานและความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัด

ความเชื่อและความจริง พระราชญาณกวี

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.