ปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร ตอบข้อสงสัยโดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ
การปฏิบัติธรรมในยุคปัจจุบันเป็นที่สนใจของคนในสังคมอย่างกว้างขวาง บางคนเคยไปปฏิบัติธรรมตามสำนักต่าง ๆ มาแล้วหลายครั้ง แต่อาจไม่ทราบว่า การปฏิบัติธรรมคืออะไร และ ปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร
การปฏิบัติธรรมก็คือการเอาธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ไปปฏิบัติ เพื่อให้เรารู้วิธี ครองตน (ดำรงตนอยู่ในคุณงามความดี) ครองคน (อยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยความสมานฉันท์มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไม่เบียดเบียนกัน) และครองงาน (ทำกิจการงานต่าง ๆ ให้สำเร็จด้วยดี มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ สร้างงานที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น)
เรามักจะเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมคือการไปเข้าอบรมกรรมฐานตามวัดหรือสำนักต่าง ๆ ที่เขาจัดอบรมกัน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คับแคบ เมื่อเป็นเช่นนี้หลายคน ไปปฏิบัติธรรม แต่ ไม่เอาธรรมไปปฏิบัติ พฤติกรรมในชีวิตประจำวันจึงไม่พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเท่าที่ควร
หากเป็นนักปฏิบัติธรรมจะต้องเอาธรรมมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน อย่างน้อยก็ทำทาน รักษา ศีล เจริญ ภาวนา
ทานและศีลเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น โดยทานนั้นจะช่วยขัดเกลาจิตให้เป็นผู้ที่มีเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการช่วยด้านการเงิน วัตถุสิ่งของหรือแรงกาย ซึ่งเรียกว่า วัตถุทาน อันจะช่วยขจัดความตระหนี่ถี่เหนียว ความเห็นแก่ตัวและการเอารัดเอาเปรียบกัน นอกจากนี้คนเราเมื่ออยู่ร่วมกันย่อมกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา จึงต้องรู้จักให้อภัยกันเพื่อรักษาความสามัคคีปรองดองกันไว้ ซึ่งเรียกว่า อภัยทาน ยิ่งไปกว่านั้นหากจะแนะนำตักเตือนกันก็ทำด้วยความรักความเมตตา เพื่อให้ผู้ที่กำลังคิดผิด พูดผิด ทำผิด กลับมาคิด พูด ทำในสิ่งที่ถูก อันเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาและผู้อื่น ก็เป็นทานอันมีค่า เรียกว่า ธรรมทาน
ส่วนการรักษาศีลนั้น ศีล 5 มีความสำคัญยิ่งที่จะช่วยให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ ไม่เบียดเบียนชีวิตกัน (ศีลข้อ 1)ไม่เบียดเบียนทรัพย์สินกัน (ศีลข้อ 2) ไม่ประพฤติผิดในกามอันจะทำให้ชีวิตการครองเรือนแตกร้าว (ศีลข้อ 3) ไม่พูดเท็จหรือพูดสิ่งที่ทำลายความเชื่อถือไว้วางใจกัน (ศีลข้อ 4) ไม่เสพสิ่งมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทขาดสติ เป็นเหตุให้ทำอันตรายชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นและของตน (ศีลข้อ 5) ศีลทั้ง 5 ข้อเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะรองรับการพัฒนาจิตให้สูงขึ้น ดังนั้นการจะเป็นอริยบุคคลได้จะต้องมีศีล 5 เป็นเครื่องรองรับ
ทานและศีลถือเป็นธรรมพื้นฐานที่ฆราวาสผู้ครองเรือนจะต้องประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ผู้ที่มีทานและศีลย่อมเป็นคนดีมีคนรัก เป็นที่ไว้วางใจของคนโดยทั่วไป จะทำการสิ่งใดก็จะมีผู้ให้การสนับสนุน เป็นเหตุให้งานสำเร็จด้วยดี อย่างไรก็ตาม ทานและศีลก็ยังไม่ใช่หลักประกันที่จะช่วยให้ชีวิตมีความสุขได้ ความสุขที่แท้จริงคือการเอาชนะกิเลสตัณหาซึ่งครอบงำจิตมาตั้งแต่เกิด และจะชักนำจิตให้ยึดมั่นสำคัญผิดในสิ่งที่ได้ มี และเป็น การยึดติดกับสิ่งใดก็จะทุกข์กับสิ่งนั้น ด้วยเหตุนี้จึงต้องเจริญ ภาวนา ควบคู่กันไปด้วย เพราะภาวนาจะเป็นกำลังสำคัญที่จะเอาชนะกิเลสตัณหาได้
ภาวนา ก็คือการพัฒนาจิตให้มีคุณภาพและคุณธรรมสูงขึ้น โดยการปฏิบัติ สมถภาวนาหรือสมถกรรมฐาน และ วิปัสสนาภาวนาหรือวิปัสสนากรรมฐาน
สมถกรรมฐาน คือการทำสมาธิเพื่อให้จิตตั้งมั่นอยู่ในความสงบ อันจะช่วยให้จิตมีพลัง มีความอิ่มเอิบเบิกบานและมีความสุขคลายจากความเครียด การปฏิบัติสมถกรรมฐานจึงเป็นที่นิยมและสอนกันอยู่โดยทั่วไป
วิธีปฏิบัติสมถกรรมฐานคือการเจริญสติและสมาธิ สติคือการรู้ตัวในสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายและจิต สมาธิก็คือการที่จิตจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ลมหายใจที่เข้า - ออก หรือหน้าท้องที่พอง - ยุบ หากจดจ่ออยู่กับลมหายใจ ตัวที่รู้ว่าลมหายใจกำลังเข้า - ออก คือ สติ จิตที่จดจ่ออยู่กับลมหายใจคือ สมาธิ ถ้าจิตจดจ่อได้ชั่วครู่แล้วเผลอไปคิดถึงเรื่องอื่นก็เป็นสมาธิช่วงสั้น ๆ เรียกว่า ขณิกสมาธิ แต่ถ้าอดทนฝึกต่อไป จิตก็จะจดจ่อรับรู้ลมหายใจอย่างต่อเนื่องได้นานพอควร ก็เป็นสมาธิระดับกลาง เรียกว่า อุปจารสมาธิ หากมีความเพียรฝึกต่อไปอีก จิตก็จะตั้งมั่นไม่หวั่นไหว จดจ่ออยู่กับลมหายใจได้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนจิตมีความอิ่มเอิบเบิกบานมีความสงบสุข เรียกว่า อัปปนาสมาธิ อันเป็นสมาธิระดับ ฌาน
การทำสมาธิให้เข้าถึงความสงบนั้นจะต้องอาศัยความเพียรและการปฏิบัติที่ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับฆราวาสผู้ครองเรือน แม้จะฝึกได้ถึงขั้นจิตสงบ ก็ยากที่จะรักษาไว้ได้ เพราะฆราวาสมีอาชีพการงานและเรื่องในครอบครัวมากระทบจิตอยู่มากมายในแต่ละวัน นอกจากนี้สมาธิแม้จะฝึกได้ถึงขั้นฌานก็ยังไม่สามารถถอดถอนกิเลสออกจากจิตได้หมด เพียงแต่ข่มกิเลสไว้ได้ชั่วคราวในยามที่จิตสงบจึงต้องฝึกวิปัสสนากรรมฐานด้วย
วิปัสสนากรรมฐานคือการพัฒนาจิตให้เกิดปัญญา เข้าใจความเป็นจริงว่าสิ่งทั้งหลายมีเพียง รูป กับ นาม รูป ได้แก่ รูปร่างของคน สัตว์ และรูปลักษณะของสิ่งต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ เครื่องใช้ไม้สอยที่สร้างกันขึ้นมา รูปนั้นมีโครงสร้างประกอบด้วยธาตุ 4 อันมีดิน น้ำ ลม ไฟ ส่วนนามคือจิตที่เข้าไปอาศัยอยู่ในรูป เกิดเป็นชีวิตหนึ่ง ๆ ขึ้นมา
ธรรมชาติของรูปและนามเกิดดับอยู่ทุกขณะ มีความเปลี่ยนแปลงไป ไม่คงที่เรียกว่า อนิจจัง ไม่สามารถคงทนอยู่ในสภาวะเดิมได้ เกิดจากการปรุงแต่งขึ้นมาไม่มีความสมบูรณ์ มีความขัดแย้งกดดันกันอยู่ในตัว เรียกว่า ทุกขัง เกิดจากส่วนประกอบย่อย ๆ ที่มารวมตัวกัน ไม่เป็นของใครจริงบังคับไม่ได้ดังปรารถนา เรียกว่า อนัตตา ทั้ง 3 สิ่งนี้เรียกว่า ไตรลักษณ์ อันเป็นความจริงที่ครอบงำสิ่งทั้งหลายในโลกทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพื่อให้เข้าใจความเป็นจริงในเรื่องรูป นาม และกฎไตรลักษณ์ ต้องอาศัยสมาธิของสมถกรรมฐานเป็นตัวช่วย หากมีสมาธิในระดับความสงบจะช่วยให้จิตเห็นหรือพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้น และเข้าใจสิ่งนั้นตามธรรมชาติความเป็นจริงของมันว่า สักแต่เป็นรูป - นาม ตกอยู่ใต้กฎไตรลักษณ์ มีธรรมชาติ เป็นเช่นนั้นเอง เพื่อให้เราถอดถอนจากความยึดมั่นสำคัญผิดในความเห็นที่ว่าเป็น ตัวเรา และ ของของเรา
ความทุกข์ทั้งหลายของคนในโลกนี้มีสาเหตุมาจากความยึดมั่นว่าเป็นตัวเราและของของเรา หากเป็นของคนอื่นหรือสิ่งอื่นที่วิบัติพลัดพรากไป เราไม่เห็นทุกข์ แต่ถ้าเป็นตัวเราหรือของของเรา เราก็จะทุกข์ทันที
การปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานควรจะต้องมีครูบาอาจารย์หรือผู้รู้เป็นผู้แนะนำสั่งสอน เพราะมีวิธีการและรายละเอียดปลีกย่อยมากมายเกินกว่าที่จะนำมากล่าว ณ ที่นี้
มีแต่การปฏิบัติธรรมเท่านั้นที่จะช่วยพัฒนาจิตให้มีความเห็นถูก ซึ่งจะนำพาชีวิตไปในทางที่ถูก นำความสุขและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ชีวิตอย่างแท้จริง
ที่มา: นิตยสาร Secret
Photo by Dingzeyu Li on Unsplash
บทความน่าสนใจ
สงบใจด้วย 15 สถานปฏิบัติธรรมแนะนำ จาก Secret
DhammaDaily :ทำไม ปฏิบัติธรรม แล้วยังเอารัดเอาเปรียบและพูดจาว่าร้ายคนอื่น
Dhamma Daily: ทำอย่างไร เมื่อพ่อแม่ ไม่เห็นด้วยที่ไปปฏิบัติธรรม
Dhamma Daily : ต้องปฏิบัติธรรมมากแค่ไหน ผลกรรมชั่ว ในอดีตจึงจะตามไม่ทัน