โรคกายหรือโรคใจ เป็นอย่างไหนกันแน่นะ
“อโรคยา ปรมาลาภา” การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เป็นประโยคที่หลายคนคงคุ้นเคยกันดี โรคที่ว่านี้ไม่ใช่แค่อาการเจ็บไข้ได้ป่วยที่แสดงออกทางร่ายกายเท่านั้น แต่ยังรวมอาการแฝงอีกอย่างหนึ่งซึ่งก็คือโรคใจเข้าไปด้วย แล้วเราเป็น โรคกายหรือโรคใจ ชนิดไหนกันแน่นะ
โรคทางกาย คือความเจ็บป่วยต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย อาจป้องกันและรักษาให้หายได้ด้วยยา ส่วนโรคอีกประเภท คือ โรคทางใจเป็นอาการที่จิตใจแปรปรวนไปตามอำนาจกิเลส ดังมีหลักฐานในคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต โรคสูตร ว่า “คนที่ไม่มีโรคทางกายอายุตั้งแต่ 1 – 100 ปียังพอหาได้ แต่คนที่ไม่มีโรคทางใจแม้เพียงครู่เดียวนั้นหาได้ยาก เว้นแต่ท่านเป็นผู้หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์”
โรคทางใจ มีสมมติฐานที่เกิดจากกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง เมื่อกิเลส 3 ตัวนี้เกิดขึ้นทำให้ผู้นั้นมีความนึกคิดไปในทางไม่ดี หรือที่เรียกว่า “อกุศลวิตก”
ความเจ็บป่วยไม่ว่าทางกายหรือทางใจเมื่อเกิดขึ้นทำให้เป็นทุกข์ สำหรับวิธีแก้ทุกข์ยามเจ็บป่วย พระเดชพระคุณพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.9, ราชบัณฑิต) แนะนำว่า
“ให้ตัดความทุกข์ที่ไม่จำเป็นลงเสียบ้าง คือ บางครั้งตัวทุกข์นั้นมีอย่างเดียว แต่คนก็ไปเพิ่มทุกข์ที่ไม่จำเป็นเข้ามาอีกมากมาย ทำให้เพิ่มขึ้น เช่น เจ็บป่วยขึ้นมา ทุกข์ตัวจริงคือการป่วย แต่บางคนก็คิดต่อไปว่า หมอไม่เอาใจใส่ ยาไม่ดีทำให้หายช้า พยาบาลไม่ดูแล ญาติพี่น้องไม่มีใครสนใจ คิดฟุ้งซ่านไปจนเลยเถิด
ความจริงทุกข์มีอยู่อย่างเดียวคือป่วย นอกจากนั้นเป็นทุกข์นอกรายการที่เจ้าตัวเชิญมาทั้งนั้น เป็นทุกข์โดยที่ไม่จำเป็น ทุกข์ประเภทหลังนี้หมอก็รักษาไม่ได้ เจ้าตัวต้องจัดการเชิญออกไปเอง”
จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นโรคทางกายหรือโรคทางใจ อย่างไหนก็รักษาได้หากเรารู้เท่าทัน
ที่มา หนังสือโพชฌังคปริตร พุทธฤทธิ์ พิชิตโรค
บทความที่น่าสนใจ
สร้างพลังใจ ให้ เข้มแข็ง ฟันฝ่า ปัญหาใจ
1 วินาทีที่ ใจลืมป่วย “If Only for a Second”
เหตุผล ที่คนทุกข์ ไม่ควรหา เพื่อนคลายทุกข์ บทความดีๆ จาก ท่านปิยโสภณ
ธรรมะ เยียวยาใจ เมื่อต้อง พรากจาก สิ่งอันเป็นที่รัก
ธรรม โอสถ ช่วยคลาย ความผิดหวัง