คุณยาย ปลูกต้นไทร ผู้ยิ่งใหญ่แห่งรัฐกรณาฏกะ
ชาวฮินดูเชื่อกันว่า หากหญิงคนไหนแต่งงานแล้วไม่มีลูกสืบสกุล ถือว่าเป็นหญิงอาภัพและเป็นที่รังเกียจของสังคม ครั้นตายไปก็ต้องตกนรกหมกไหม้ ไม่ได้ผุดได้เกิด ปลูกต้นไทร
ด้วยเหตุนี้ ทิมมาก้า (Thimmakka) จึงเป็นกังวลเหลือเกิน ที่เธอไม่สามารถมีลูกกับ ชิกกันยา (Chikkanna) ได้ แม้ว่าทั้งสองจะแต่งงานอยู่กินกันมานานนับสิบปีแล้วก็ตาม ยิ่งได้ยินได้ฟังผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันมาว่า บาปนี้ไม่เพียงตกแก่หญิงผู้เป็นภรรยาเท่านั้น แต่ยังตกแก่ชายผู้เป็นสามีด้วย ทิมมาก้าก็ยิ่งเป็นกังวลมากขึ้น
วันหนึ่งทิมมาก้าจึงตัดสินใจบอกสามีตามตรงว่า “ฉันคงมีลูกให้เธอไม่ได้ เธอไปหาภรรยาใหม่เถอะนะ” ทันทีที่ได้ฟัง ชิกกันยาไม่เพียงปฏิเสธเท่านั้น หากแต่เขายังปลอบใจภรรยาว่า “ช่างเถอะถึงเราไม่มีลูกก็ไม่เป็นไร” ครั้นเวลาผ่านไปจนกระทั่งปีที่ 25 ของการแต่งงาน วันหนึ่งชิกกันยาก็เอ่ยปากกับภรรยาอย่างจริง ๆ จัง ๆ ว่า
“ในเมื่อเราไม่สามารถมีลูกได้ เรามาช่วยกันปลูกต้นไทรให้แผ่นดินแทนก็แล้วกัน”
แรกทีเดียวทิมมาก้าไม่เข้าใจสักนิดว่า “จะปลูกไปทำไม” สามีจึงพาภรรยาเดินไปดูต้นไทรตามแนวถนนของหมู่บ้านใกล้ ๆ ทิมมาก้าจึงเห็นว่าที่นี่มีต้นไทรมากกว่าหมู่บ้านของพวกเขาก็จริง แต่กว่าครึ่งอยู่ในสภาพยืนต้นตาย ส่วนที่เหลือก็ส่อเค้าว่าใกล้จะยืนต้นตายในไม่ช้า นั่นหมายความว่าอีกไม่นานหมู่บ้านแห่งนี้จะไม่มีต้นไทร ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำชาติของอินเดียหลงเหลืออยู่เลย!
“เราสองคนมาช่วยกันสร้างชีวิตใหม่ให้ต้นไทรที่นี่กันนะ ฉันจะเป็นพ่อ แล้วเธอก็เป็นแม่ไง…ดีไหม”
เพียงเท่านี้ทิมมาก้าก็เข้าใจทุกอย่าง เมื่อกลับถึงบ้านสองสามีภรรยาผู้ยากไร้ก็รีบหาเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับตอนกิ่ง ก่อนจะพากันไปเลือกหาต้นไทรขนาดใหญ่ในหมู่บ้าน จัดแจงตอนกิ่งทิ้งเอาไว้จากนั้นก็รอเวลาให้กิ่งตอนเหล่านั้นแตกรากออก ก่อนจะนำมาเพาะเลี้ยงเป็นกล้าไทรต่อไป
เมื่อกล้าไทรแข็งแรงมากพอ สองสามีภรรยาก็ช่วยกันนำไปปลูกทุกวัน วันละ 2 - 3 ต้น โดยไม่ลืมที่จะล้อมรั้วเล็ก ๆ เพื่อป้องกันสัตว์เข้าไปกัดกินหรือทำลายต้นไทรด้วย จากนั้นทุก ๆ เช้าทั้งสองคนก็จะเทินหม้อน้ำไปรดต้นไทรจนครบทุกต้น ก่อนจะออกไปทำงานรับจ้างประจำวัน ครั้นเลิกงานกลับมา สองสามีภรรยาก็จะทยอยตอนกิ่งไทรชุดใหม่ต่อเพื่อให้มีกล้าไทรไว้ปลูกอย่างไม่ขาดตอน…ปรากฏว่า ปีที่หนึ่งทั้งคู่ปลูกต้นไทรไปทั้งหมด 10 ต้น ปีที่สอง 15 ต้น ปีที่สาม20 ต้น และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทุกปี
ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี สองสามีภรรยาแห่งรัฐกรณาฏกะได้ปลูกต้นไทรมาแล้วเกือบ 300 ต้น ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่า “การปลูกต้นไทรมีความสุขไม่ต่างจากการเลี้ยงดูชีวิตน้อย ๆ เลย ยิ่งได้เห็นต้นไทรเติบโต ก็ยิ่งมีความสุขเราสองคนตั้งใจไว้ว่า จะปลูกต้นไทรไปจนกว่าลมหายใจสุดท้ายจะมาถึง”
ในปี ค.ศ. 1991 แม้ชิกกันยาจะเสียชีวิตลงด้วยโรคชรา แต่ทิมมาก้าซึ่งบัดนี้ใคร ๆ พากันเรียกเธอว่า “คุณยาย” ก็ยังคงมุ่งมั่นปลูกต้นไทรต่อไป…ดูเหมือนว่าวัยที่เพิ่มขึ้นและสังขารที่โรยราไม่ได้เป็นอุปสรรคในการปลูกต้นไทรสำหรับเธอเลย
หลายปีต่อมา ชาวกรณาฏกะได้พร้อมใจกันมอบคำว่า “Saalumarada” อันหมายถึง “ทิวแถวของต้นไม้” ให้เป็นคำนำหน้าชื่อของคุณยายทิมมาก้า เพื่อเป็นเกียรติให้กับความเพียรพยายามและความดีงามของเธอ
**Saalumarada Thimmakka ได้รับการเชิดชูจากอินเดียในฐานะพลเมืองผู้ทรงคุณค่าเมื่อ ค.ศ. 1995 และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากหน่วยงานและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกอีกไม่น้อยกว่า
เรื่อง ปาปิรัส