แรงผลักข้ามอุปสรรค SB Furniture

แรงผลักข้ามอุปสรรค ของ พิเดช ชวาลดิฐ กรรมการบริหารกลุ่มบริษัท SB Furniture

แรงผลักข้ามอุปสรรค ของ พิเดช ชวาลดิฐ กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท SB Furniture

กว่าที่ช่างไม้คนหนึ่งจะสร้างบริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรม และดีไซน์ อันดับต้น ๆ ของเมืองไทยย่อมผ่านเรื่องราวมามากมาย คุณพิเดช ชวาลดิฐ น้องเล็กทายาทธุรกิจรุ่นสอง เล่าถึงเส้นทางธุรกิจกว่าครึ่งศตวรรษของเอสบี เฟอร์นิเจอร์ ว่า

“ธุรกิจเริ่มต้นจากคุณพ่อ (คุณสุรพล ชวาลดิฐ) ท่านเป็นช่างไม้ฝีมือดี ผลิตเฟอร์นิเจอร์ขายส่ง โดยมีโรงงานและหน้าร้านย่านบางโพชื่อ ชอว์บราเดอร์ส ซึ่งมาจากนามสกุลเดิมคือ แซ่ชอ เราก้าวสู่ธุรกิจค้าปลีกโดยจัดพิมพ์แคตตาล็อกเฟอร์นิเจอร์เป็นรายแรก พัฒนาการผลิตเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปแบบถอดประกอบได้ และเป็นเจ้าแรกในไทยที่นำเข้าพาร์ทิเคิลบอร์ดจากนิวซีแลนด์เพื่อทดแทนไม้จริงซึ่งหายากขึ้น เรานำเสนอสิ่งใหม่ ๆ สู่ผู้บริโภคมาโดยตลอด”

ธุรกิจค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในปี 2518 โรงงานที่เพิ่งตั้งหลักกลับต้องมอดไหม้ไปกับกองเพลิง

“คุณแม่ (คุณสรญา ชวาลดิฐ) เล่าเสมอว่าผมคือลูกคนเดียวที่ลืมไว้ในตึก เพราะตกใจมาก ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่พี่เลี้ยงอุ้มออกมา หลังไฟไหม้เราจึงย้ายโรงงานจากบางโพมาที่ปากเกร็ด แต่ไม่นานน้ำก็ท่วมโรงงานตอนนั้นผมยังเด็ก รู้สึกสนุก พายเรือเล่นน้ำไปตามประสา จนถึงเหตุการณ์ที่เป็นวิกฤติใหญ่ จำได้แม่นที่สุดเลยก็คือ จู่ ๆ คุณแม่ก็เรียกลูกชายทั้ง 4 คนมานั่งคุยกัน แล้วบอกว่า ถ้าแม่ไม่อยู่ ลูก ๆ จะอยู่กันอย่างไรตอนนั้นผมสะเทือนใจมาก เพราะคุณแม่มีอาการคล้ายเนื้องอกในสมอง อาจต้องผ่าตัดครั้งใหญ่

“โชคดีที่สุดท้ายคุณแม่ไม่เป็นอะไรแต่เหตุการณ์นั้นเป็นแรงผลักดันให้พี่น้องทุกคนทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้คุณพ่อคุณแม่เหนื่อยเพราะรู้ว่าท่านทำงานหนัก เราทุกคนจึงดูแลรับผิดชอบตัวเอง ผมนั่งรถเมล์ไปเรียนเองตั้งแต่ ป 4 พอโตขึ้นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากสานต่อธุรกิจ ผมเคยถามพี่ชายว่าเคยคิดอยากไปทำงานที่อื่นไหม เขาตอบเลยว่าไม่เคย มีแต่อยากทำให้ธุรกิจของครอบครัวดีขึ้น เรื่องนี้วนเวียนอยู่ในความคิดของเราพี่น้องมาตลอด และฝังอยู่ในชีวิตการทำงานของพวกเรา”

ในปี 2554 บริษัทพบวิกฤติครั้งใหญ่อีกครั้งจากเหตุการณ์น้ำท่วม คุณพิเดชในฐานะผู้บริหารเอสบีดูแลรับผิดชอบในสายงานผลิตเล่าว่า

“จำได้ว่าเราเพิ่งฉลองเปิดตัวเอสบี ดีไซน์สแควร์ แห่งใหม่ที่บางนา แต่โรงงานผลิตทั้ง3 แห่งของเราน้ำท่วมหมด ตอนนั้นผมอยู่ในโรงงานกับพนักงานตลอด คอยเอากระสอบทรายมากั้นน้ำเหมือนเล่นเกม จนกระทั่งน้ำทะลักท่วมเข้าไปจนเต็มพื้นที่ ผมกับพนักงานที่เหลืออยู่ช่วยกันกู้เครื่องจักรทีละตัว และไปที่คลังสินค้าเพื่อจัดเตรียมสินค้าที่เหลืออยู่ให้ฝ่ายขาย ซึ่งทุลักทุเลมาก เพราะสินค้าที่อยู่ชั้นล่างถูกน้ำท่วมเสียหายหมดแล้วเหลือเพียงสินค้าที่อยู่ชั้นบน ตอนนั้นเราถ่ายรูป

ถ่ายคลิปบรรยากาศในโรงงานส่งไปให้ฝ่ายขายดู ทุกคนให้กำลังใจกัน สู้ไปด้วยกัน จำได้ว่าตอนน้ำท่วมฝ่ายผลิตยังฝ่าน้ำท่วมเพื่อส่งสินค้าไปให้ฝ่ายขายอยู่เลย ความร่วมมือในองค์กรแบบนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า เราช่วยกันทำงานโดยผ่านประสบการณ์เลวร้ายมาด้วยกัน

“หลังวิกฤติบริษัทต้องทำงานหนัก เราต้องปรับองค์กรโดยไม่คิดว่าต้องเลย์ออฟใครถึงวันนี้พนักงานรุ่นคุณพ่อที่ร่วมฝ่าฟันกันมาตั้งแต่วิกฤติไฟไหม้ก็ยังอยู่ด้วยกัน ทุกคนพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองไปตามเทรนด์ของผู้บริโภคที่มีความต้องการมากขึ้นตัดสินใจเร็วขึ้น ในขณะที่มีตัวเลือกมากขึ้น”

สำหรับเป้าหมายในการทำธุรกิจและเป้าหมายในชีวิต เขาบอกว่า

“เป้าหมายของเอสบีคือ แบรนด์อะแวร์เนส เราต้องการให้ลูกค้ารู้จักแบรนด์และเข้าใจเอสบีในแบบที่เราเป็น นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ เราสร้างกลยุทธ์การขายโดยมองความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก เรามีจิตวิญญาณในการทำงานโดยไม่จำเป็นต้องรีบโต เพราะเชื่อว่าเรายังมีลูกค้าและยังมีพนักงานที่พร้อมจะเติบโตไปด้วยกัน

“ส่วนเป้าหมายในชีวิตของผมก็คือการทำให้คุณแม่มีความสุข เพราะท่านคือแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของผม คุณแม่ก็เหมือนพระในบ้าน นี่คือบุญกุศลที่ดีที่สุดแล้ว

“ผมเชื่อว่าการพอใจในสิ่งที่เรามี การทำดีกับคนรอบข้าง ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็เป็นการใช้ธรรมะในชีวิตอย่างหนึ่ง”

 

เรื่อง อุราณี ทับทอง ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี

ที่มา : VIP TALK นิตยสารซีเคร็ต ฉบับเดือนมิถุนายน 2559

 

 

บทความน่าสนใจ

เอาชนะอุปสรรค เพิ่มโอกาสความสำเร็จ

อะรูนิมา ซินฮา ผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ ด้วยหัวใจ

อะรูนิมา ซินฮา ผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ ด้วยหัวใจ

พัฒนาตนเอง ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม เลิกเป็นคน “คิดแล้วไม่ทำ”

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.