อัล กอร์ เป็นผู้หนึ่งที่ปลุกให้เราหันมารับรู้ความจริงที่ยากจะยอมรับว่า “โลก” อันเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวในระบบสุริยจักรวาลที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ และเป็นบ้านของพวกเรานั้น กำลังจะตาย
ข้อมูลข้างต้นไม่ใช่ข้อมูลใหม่ล่าสุด เพราะตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง An Inconvenient Truth ซึ่งเขียนบทและกำกับโดยอัล กอร์ ออกฉายเมื่อปี 2005 ผู้คนทั่วโลกก็ได้รู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์เรือนกระจก ที่ทำให้โลกร้อนขึ้น ๆ อย่างน่าใจหาย ทำให้ภูเขาคิลิมันจาโรที่มีหิมะปกคลุมยอดเขาตลอดปีกลายเป็นภูเขาไร้หิมะ ทำให้แม่น้ำสายสำคัญแห้งขอด ทำให้สิ่งมีชีวิตหลายชนิดต้องสูญพันธุ์ และทำให้หมีขั้วโลกที่ว่ายน้ำเก่งสุดยอดต้องจมน้ำตาย!
อัล กอร์บอกเราว่า ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นมีผลมาจากการที่มนุษย์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากเกินไปจนถึงระดับที่เป็นอันตราย และถ้าเราไม่รีบแก้ไข เราจะต้องใช้ชีวิตอย่างลำบากจนถึงขั้นที่อาศัยอยู่บนโลกนี้ไม่ได้
ที่จริงแล้ว อัล กอร์เป็นคนที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงระดับโลก แต่ไม่มีงานไหนที่จะทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจมากไปกว่าการเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อกอบกู้โลกที่กำลังจะตายจากภาวะโลกร้อน
อัล กอร์ มีชื่อเต็มว่า อัลเบิร์ต อาร์โนลด์ กอร์ (Albert Arnold Gore) เกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1948 เขาเป็นบุตรชายคนที่สองของวุฒิสมาชิก อัล กอร์ ซีเนียร์
อัล กอร์เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วารด์ ในปี 1965 ตอนแรกเขาตั้งใจจะเลือกวิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาเอก เพราะอยากจะเป็นนักเขียนนวนิยาย แต่ต่อมาก็เปลี่ยนใจมาเรียนด้านการเมือง อย่างไรก็ตาม เขาใช้เวลาสองปีแรกในมหาวิทยาลัยไปกับการดูโทรทัศน์ เล่นพูล และสูบกัญชา แต่ได้หันกลับมาตั้งใจเรียนในปีที่สาม เมื่อได้เรียนวิชาสมุทรศาสตร์และทฤษฎีโลกร้อนกับ โรเจอร์ เรเวลล์ (Roger Revelle) นักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ทำการวัดปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ
การได้เรียนกับโรเจอร์คือจุดเริ่มต้นของความสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของอัล กอร์ อย่างจริงจังในเวลาต่อมา เขาจบปริญญาตรีจากฮาร์วาร์ดในปี 1969 ด้วยคะแนนเกียรตินิยม
ปี 1976 อัล กอร์ในฐานะตัวแทนพรรคเดโมแครตรัฐเทนเนสซีชนะการเลือกตั้ง และได้เป็นสมาชิกสภาคองเกรสในขณะที่มีอายุเพียง 28 ปี เขาครองตำแหน่งนี้ตั้งแต่ปี 1977 – 1985 จากนั้นจึงได้รับเลือกตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิกรัฐเทนเนสซีตั้งแต่ปี 1985 – 1993
อัล กอร์ ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม Atari Democrats หรือนักการเมืองที่ต้องการเอาชนะใจประชาชนด้วยนโยบายเกี่ยวกับการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างเช่น การผลักดันให้เกิดการสร้างพลังงานทดแทน เขาเป็นคนนำประเด็นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมเข้าสู่สภาคองเกรสตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้ยินคำว่า “ภาวะโลกร้อน” ด้วยซ้ำไป และแม้ว่าจะไม่ได้เป็นนักเขียนนวนิยายอย่างที่เคยใฝ่ฝัน แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม อัล กอร์จะสามารถเขียนได้ดีเสมอ ปี 1992 เขาได้เขียนหนังสือเรื่อง Earth in the Balance ซึ่งขายดีติดอันดับนิวยอรก์ ไทมส์ ปี 2006 เขียนเรื่อง An Inconvenient Truth : Planetary Emergency of Global Warming and What We Can Do About It และเขียนเรื่อง Our Choice ในปี 2009 สองเล่มหลังนี้ขึ้นแท่นเป็นหนังสือขายดี และที่น่าชื่นชมคือ อัล กอร์ได้นำยอดจำหน่ายหนังสือทั้งสองเล่มสมทบเข้าองค์กร Alliance for Climate Protection ที่เขาก่อตั้งขึ้น
ปลายทศวรรษ 1990 อัล กอร์ได้ออกแรงสุดกำลังเพื่อผลักดันให้สหรัฐอเมริกาลงนามในสนธิสัญญาเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่กำหนดกฎเกณฑ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรก
ประเทศที่ลงนามจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัดมิฉะนั้นจะมีบทลงโทษ อย่างไรก็ดี การผลักดันของอัล กอร์ในครั้งนี้ไม่เป็นผล และยังถูกเพื่อนวุฒิสมาชิกด้วยกันกล่าวหาว่าเขามัวแต่กังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมจนทอดทิ้งระบบเศรษฐกิจของประเทศ
อัล กอร์เปิดเผยภายหลังว่า เขารู้สึกอับอายเหลือเกินที่ในจำนวนประเทศที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมหนัก 37 ประเทศ (หรือกลุ่ม Annex I Countries) มีเพียง 2 ประเทศคือสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียเท่านั้นที่ไม่ยอมลงนามรับรองสนธิสัญญาฉบับนี้ (สนธิสัญญาดังกล่าวหมดอายุลงในปี 2010 และมีการประชุมเพื่อต่ออายุสนธิสัญญาฉบับใหม่เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2010 ซึ่งครั้งนี้ประเทศที่เข้าร่วมประชุม 191 ประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาได้ยินยอมลงนามรับรองสนธิสัญญาฉบับใหม่นี้)
นอกจากจะโดดเด่นในเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว เขายังเป็นนักการเมืองคนสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้สหรัฐอเมริกาสามารถเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการสื่อสารจนถึงปัจจุบัน อัล กอร์เคยเป็นรองประธานาธิบดีในสมัยของประธานาธิบดีบิล คลินตัน ซึ่งเป็นยุคที่สหรัฐอเมริกาเฟื่องฟูที่สุดติดต่อกันถึงสองสมัย แต่เมื่อลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เขากลับต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ทั้งที่ได้รับคะแนนป๊อปปูลาร์โหวต (ประชาชน 1 คนเลือกประธานาธิบดี 1 คน) มากกว่าจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช ถึง 500,000 คะแนน
เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนั้นชนะกันอย่างฉิวเฉียด และมีปัญหาการนับคะแนนที่รัฐฟลอริดา พรรคเดโมแครตจึงได้อุทธรณ์ต่อศาลเพื่อขอให้จัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ศาลมีมติ 5 – 4 ไม่อนุมัติ แม้ว่าอัล กอร์ จะไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาล แต่เขาก็ได้ออกแถลงการณ์ขอยุติการต่อสู้ โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อเห็นแก่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวอเมริกัน และความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย ผมขอยอมเป็นฝ่ายถอย”
อัล กอร์ตัดสินใจไม่ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งครั้งต่อมา คือในปี 2004 และ 2008 ทั้งที่ได้รับการทาบทามทั้งสองครั้ง เพราะสนามที่เขาต้องการแข่งขันมากกว่า คือการต่อสู้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยความทุ่มเทเพื่อสิ่งแวดล้อมมาตลอดหลายสิบปี คณะกรรมการรางวัลโนเบลจึงได้ตัดสินใจมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2007 ให้กับอัล กอร์ โดยเขาได้รับรางวัลร่วมกับคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC
แม้ว่าขณะนี้ข้อมูลบางแหล่งจะบอกว่า ต่อให้คนทั้งโลกหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็ยังสายเกินไปที่จะกอบกู้สิ่งที่หายไปให้กลับคืนมา แต่ภารกิจของอัล กอร์ ยังดำเนินต่อไป เพราะเขาเชื่อว่า ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่ายุคสมัยใดที่ผ่านมา ดังนั้นขอเพียงคนบนโลกมีจิตใจที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงและเริ่มต้นลงมือทำ แม้แต่ “ความเป็นไปไม่ได้” ก็อาจต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง Violet
ภาพ axios.com, Washington Times
บทความน่าสนใจ