ประธานวงศ์ พรประภา

ก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ประธานวงศ์ พรประภา ทายาทรุ่นที่ 3 ของสยามกลการอุตสาหกรรม

การเข้ามารับช่วงในการบริหารธุรกิจที่ดำเนินกิจการมานานกว่า 2 ทศวรรษไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ ประธานวงศ์ พรประภา ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงวัย 34 ปี กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของบริษัทสยามกลการอุตสาหกรรม จำกัด ผู้แทนจำหน่ายรถฟอร์คลิฟต์และรถเคลื่อนย้ายสินค้าอุตสาหกรรมภายใต้แบรนด์ยูนิแคริเออร์ (UniCarriers) กลับมองว่าเป็นเรื่องท้าทาย และพร้อมขับเคลื่อนให้ธุรกิจก้าวไปแข่งขันในโลกธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

“ตอนแรกผมดูแลงานโรงแรม Siam@Siam ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือของครอบครัว ต่อมาคุณพ่อ (คุณพรพินิจ พรประภา) ชวนให้มาดูแลงานที่บริษัทสยามกลการอุตสาหกรรม จำกัด ผมตอบตกลง เพราะอยากได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ธุรกิจนี้แตกต่างจากธุรกิจโรงแรมอย่างสิ้นเชิง เพราะธุรกิจรถฟอร์คลิฟท์เป็นธุรกิจใหญ่ มีบริษัทในเครืออีกหลายบริษัท

“ช่วงแรกที่ผมเข้ามาทำงาน ยังไม่ได้เข้ามาดูแลทั้งหมด แต่ค่อย ๆ ดึงส่วนที่คิดว่าตัวเองสามารถทำได้ดีมาก่อน ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้ส่วนอื่น ๆ ไปด้วย ทำอย่างนี้อยู่สองปีกว่าจึงมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งตอนนี้ก็ดูแลบริษัทในเครืออีก 4 บริษัทด้วย

“ผมเข้ามาเปลี่ยนแปลงบริษัทค่อนข้างเยอะ เรียกว่าเปลี่ยนจนแทบไม่เหมือนเดิมเลย ทั้งการปรับโครงสร้างองค์กรและการปรับแนวคิดของพนักงาน ก็มีแรงกดดันว่าพนักงานจะรับได้ไหม จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เร็วไปหรือไม่ แต่สุดท้ายผมมองว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเราต้องก้าวไปข้างหน้าและต้องพัฒนาต่อเนื่อง ยิ่งมีการเปิด AEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) ก็หมายถึงว่าเราไม่ได้แข่งกับบริษัทภายในประเทศไทยอย่างเดียวแล้ว”

“ผมยอมรับว่าการปรับโครงสร้างบริษัททำให้สำเร็จภายในครั้งเดียวไม่ได้ ปกติผมเป็นคนใจร้อน ก็ต้องบอกตัวเองเสมอว่าเรื่องนี้ต้องใจเย็น เพราะสิ่งที่ยากที่สุดไม่ใช่ระบบ แต่เป็นแนวคิดของผู้ทำงานมากกว่า เช่นเมื่อก่อนเขาอาจทำงานแบบทุกอย่างผู้บริหารข้างบนตัดสินใจหมด ผู้บริหารระดับผู้จัดการอาจไม่มีอำนาจการตัดสินใจมากนัก อยู่ ๆ จะปรับโครงสร้างโดยให้อำนาจเขาไปตูมเดียว เขาคงทำตัวไม่ถูก ต้องค่อย ๆ ทำให้เขาเข้าใจหน้าที่ เห็นประโยชน์จากการบริหารงานด้วยตนเอง และค่อย ๆ พัฒนาไป

“ในการบริหารธุรกิจ ผมถือว่า ‘การคิดนอกกรอบ’ เป็นสิ่งที่สำคัญ เราต้องมองหาช่องว่างในตลาดอย่างสร้างสรรค์ เพราะปกติผมไม่ชอบการแข่งขันแบบชนกันสักเท่าไหร่ จริงอยู่ว่าถ้าตรงไหนคนเข้าไปทำการตลาดกันเยอะ ธุรกิจนั้นก็จะโต ถ้าเห็นแบบนี้ผมไม่ค่อยอยากเข้าไปต่อสู้ แต่จะมองหาช่องโหว่ที่คนอื่นมองไม่เห็นมากกว่า พยายามวิเคราะห์และหากลยุทธ์ที่เราจะสนองตอบความต้องการใหม่ ๆ และตัดคู่แข่งออกไปได้ แล้วก็ลุยเข้าไป ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อองค์กร ดีต่อลูกค้าและวงการด้วย การคิดพัฒนาไปเรื่อย ๆ แบบไม่มีวันสิ้นสุดถือเป็นความท้าทายในฐานะผู้บริหารด้วย

“อีกสิ่งหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือการบริหารบุคลากร ผมเชื่อว่า ถ้า ‘คน’ มีความสุขกับการทำงาน เขาจะมีแรงกระตุ้นให้ทำงานได้ดี เพราะฉะนั้นการมอบหมายงานต้องมองเห็นภาระงานที่เขามีอยู่ด้วย ไม่ใช่โยนงานให้เขาอย่างเดียว ผู้บังคับบัญชาต้องเป็นโค้ชที่ดี คิดถึงใจเขาใจเรากับลูกน้องด้วย ส่งเสริมให้พนักงานมีความรู้สึกภาคภูมิใจและมีส่วนร่วมในความสำเร็จของบริษัท มีความรักในองค์กร ทำให้เขาอุ่นใจว่าที่นี่เป็นบ้านหลังที่สองที่เขาพึ่งพาได้ ท้ายที่สุดประสิทธิภาพการทำงานของเขาก็จะดีขึ้น ตัวผมเองเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาปรึกษาได้ตลอด ถึงเราจะปรับให้บริษัทมีระบบมากขึ้น แต่ก็ยังเน้นความรู้สึกว่าเราเป็นครอบครัวใหญ่ มีอะไรก็ช่วยเหลือกันตลอด

“โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบคำว่า ‘ความสำเร็จ’ สักเท่าไหร่ เพราะหากคิดว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว เราจะหยุดและมีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองได้รับ ผมกลับมองว่าความอยากที่จะสำเร็จเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้เราไม่หยุดพัฒนา ดังนั้นเป้าหมายความสำเร็จในชีวิตไม่ได้มีแค่ครั้งเดียว และอาจวัดกันไม่ได้ เพราะเมื่อทำเป้าหมายนี้สำเร็จ ก็ยังต้องตั้งเป้าหมายใหม่และทำต่อไป ทำให้ชีวิตเราสนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ไปเรื่อย ๆ ด้วย

“สิ่งที่ท้าทายที่สุดของผมในตอนนี้ก็คือ การค่อย ๆ เห็นบริษัทปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ผมว่าแรงกดดันคงอยู่ที่เราจะผ่านกระบวนการนี้ไปได้อย่างไร โดยมีจุดหมายเพื่อรองรับวิถีใหม่และความต้องการของลูกค้าในอนาคต เมื่อปรับโครงสร้างแล้วก็คงไม่ได้อยู่แบบนี้ไปตลอด ทุกสิ่งทุกอย่างคงไม่จบแค่นี้ ยังคงต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัยตลอดเวลา”

นับเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ และพร้อมจะนำพาธุรกิจให้ก้าวไกลไปกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง

 

ที่มา  นิตยสาร Secret ฉบับที่ 174

เรื่อง  กองบรรณาธิการ

ภาพ  ฝ่ายภาพ อมรินทร์พริ้นติ้งฯ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.