สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

เรื่องเล่าน่ารู้! สาเหตุที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) บุกเบิกเส้นทางพุทธศาสนาในต่างแดน

เรื่องเล่าน่ารู้! สาเหตุที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) บุกเบิกเส้นทางพุทธศาสนาในต่างแดน

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ได้เริ่มต้นงานด้านวิชาการและการบริหารคณะสงฆ์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 จากนั้นได้เข้าร่วมเดินทางเพื่อศาสนสัมพันธ์อีกในหลายประเทศ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2525 ได้รับตำแหน่งรองประธานสภาสงฆ์แห่งโลก

กว่า 2,000 ปีก่อน พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระเถระผู้ทรงภูมิธรรมออกไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ ด้วยมุ่งหวังจะเผยแผ่พุทธศาสนาให้กว้างไกลออกไป โดยแบ่งเป็น 9 สายด้วยกัน สำหรับสายที่ 8 และสายที่ 9 นั้นมีพระโสณะและพระอุตตระได้รับคัดเลือกให้เป็นพระสมณทูตมาเผยแผ่ศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ และวางรากฐานให้พุทธศาสนาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน

หลายศตวรรษผ่านล่วงมา ด้วยอุดมการณ์เดียวกันนั้นยังผลให้พระภิกษุเถรวาทจำนวน 3 รูปเดินทางไปยังประเทศแถบตะวันตกอันห่างไกล เพื่อนำเอาหลักธรรมคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าไปแสดงให้ชาวต่างประเทศได้ประจักษ์ในคุณงามความดีของพุทธศาสนา

การจาริกตามรอยบุญพระสมณทูตนับแต่ครั้งบรรพกาลนั้น เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจเล็ก ๆ ที่ได้ยินฝรั่งคนหนึ่งเปรยกับพระอาจารย์ของเขาว่า

“ทำไมบาทหลวงเดินทางมาเผยแผ่คำสอนให้คนไทย ขณะที่พระสงฆ์ไทยไม่คิดจะไปเผยแผ่คำสอนของพระพุทธศาสนาให้ฝรั่งในต่างประเทศบ้าง”

คำพูดนี้เองที่จุดประกายให้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เกิดความมุ่งมั่นฝึกฝนภาษาอังกฤษเพื่อสานต่อคำพูดของนายฝรั่งให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาให้ได้ พระพรหมสิทธิ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ได้เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานั้นไว้ว่า…

“นอกจากคำพูดของนายฝรั่งแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่จุดประกายเรื่องสร้างวัดในต่างประเทศให้ท่านคือ เวลาไปต่างประเทศท่านได้พบคนไทยที่อยู่ที่นั่น ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่กันอย่างสบาย พอได้เจอพระก็ร้องไห้ดีใจ  เพราะแต่ละคนขาดความอบอุ่นทางด้านจิตใจกันมาก แค่หนังสือพิมพ์ภาษาไทยสักฉบับ หรือผลไม้ไทยสักผลก็ถือว่ามีคุณค่าทางจิตใจมาก ๆ แล้ว พอได้พบพระก็มักจะเล่าเรื่องความทุกข์ให้ฟัง หรือตอนกลับก็มากอดขาร้องไห้ ไม่ยอมให้ไปหรือไม่ก็พร่ำแต่ว่า ‘ไปแล้วต้องกลับมานะ ๆ’

“หลังจากได้พบภาพเช่นนั้น ท่านก็คิดตลอดเวลาว่า จะทำอย่างไรให้มีวัดมีพระสงฆ์อยู่ร่วมกับพวกเขา แต่ก็ยังมองไม่เห็นทาง วิธีที่พอทำได้ในเวลานั้นคือ คนไทยที่อยู่แต่ละที่รวมเงินกันเป็นค่าที่พัก แล้วนิมนต์พระไปแสดงธรรมเป็นครั้งคราวไป”

อย่างไรก็ตาม แนวคิดของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยง่ายเนื่องจากเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นที่แปลกใหม่มากสำหรับสังคมไทยในเวลานั้น ดังที่พระพรหมสิทธิอธิบายว่า

“การทำงานในช่วงแรกเมื่อ 40 กว่าปีก่อนนั้นมีอุปสรรคมากมายจากความไม่เข้าใจทั้งของพระและของฆราวาสที่ต่างก็เห็นว่าการที่พระเดินทางไปเมืองนอกนั้นไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม เอาแค่ไปสนามบินดอนเมืองก็ถือว่าขาดจากความเป็นพระแล้ว ด้วยอุปสรรคเหล่านั้นทำให้ท่านต้องพยายามเป็นอย่างมากเพื่อให้แนวคิดนี้บรรลุผลสำเร็จ”

จวบจนปี พ.ศ. 2507 ความตั้งใจเรื่องการเผยแผ่พุทธศาสนาในต่างประเทศของสมเด็จพระพุฒาจารย์ก็เป็นจริงขึ้นมา เมื่อท่านได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และได้เดินไปประกอบศาสนกิจในประเทศแถบยุโรปหนึ่งในปลายทางของการจาริกครั้งนั้นคือประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้กลายเป็นสถานที่ที่กำเนิดวัดไทยในต่างประเทศแห่งแรกขึ้น คือ “วัดพุทธาราม” ก่อนจะมีวัดไทยในประเทศต่าง ๆ เกิดขึ้นตามมาเป็นลำดับ

สำหรับการจาริกเพื่อเผยแผ่ธรรมในประเทศตะวันตกครั้งสำคัญ คือ ครั้งที่ท่านเดินทางไปสหรัฐอเมริกา ในปี 2515 ตามคำนิมนต์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ครั้งนั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์เดินทางไปพร้อมพระมหารัชมังคลาจารย์ และ เจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อพบปะนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึงคนไทยที่อาศัยอยู่ที่นั่น

 

อ่านหน้าถัดไป

อย่างไรก็ตาม สมัยนั้นมีคนไทยไปอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาไม่มากนักขณะเดียวกันก็อยู่แบบผิดกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ การเดินทางหรือการหาสถานที่พักจึงไม่ใช่เรื่องสะดวก

“ตอนที่หลวงพ่อสมเด็จฯไปสหรัฐอเมริกาครั้งแรกนั้น ความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก คือนอกจากไปอยู่ในสถานทูตไทยหรือบ้านพักของคนไทยที่นั่นแล้ว บางครั้งบางเมืองก็ต้องไปนอนในห้องเล็ก ๆ ทั้งสามรูปหรือนอนในโรงรถท่านก็ยอม เพื่อให้ได้พบคนไทย” พระพรหมสิทธิกล่าว

ถึงแม้ว่าจะต้องพบอุปสรรคนานาประการแต่ยิ่งได้สัมผัสกับคนไทยที่นั่นที่ยังมีชีวิตยากลำบากและโหยหาที่พึ่งทางใจ สมเด็จพระพุฒาจารย์ก็ยิ่งมุ่งมั่นในการสร้างวัดในสหรัฐอเมริกาให้จงได้ ดังที่ท่านได้บันทึกเอาไว้ว่า

“หลวงพ่อไปสหรัฐอเมริกาทีแรกยังไม่มีวัด แต่ก็คิดในทันทีที่ไปแต่ละที่แหละว่า ‘ต้องตั้งวัดที่นี่ให้ได้’ เพราะมีคนไทยอยู่ ก็เลยคุยกับพวกเขาว่า ที่นั่นมีสมาคมหรือเปล่า ก็ทราบว่ามีสมาคมอีสานสมาคมทักษิณ สมาคมเหนือ สมาคมนักศึกษา แหม! ดีเลย เอาสมาคมมาตั้งวัดปัจจัยที่ได้มาก็มอบให้สมาคมเป็นทุนในการตั้งวัด ไปรัฐไหนก็ทำอย่างนั้น จึงเกิดเป็นวัดในต่างประเทศขึ้นมา”

การเดินทางไปยังดินแดนแห่งเสรีภาพครั้งนั้น ได้ผลลัพธ์เป็นวัดไทยในสหรัฐอเมริกา  ซึ่งในเวลาต่อมามีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ไม่ว่าจะเป็นวัดไทยในลอสแอนเจลิสวัดป่าชิคาโก วัดวอชิงตันพุทธวนารามเป็นอาทิ รวมถึงในประเทศต่าง ๆ ที่เดิมไม่มีใครคาดคิดว่าจะสามารถสร้างวัดได้ เช่นประเทศทางยุโรป โดยเฉพาะประเทศในแถบที่มีสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศค่อนข้างเหน็บหนาว ถูกปกคลุมไปด้วยหิมะเกือบตลอดทั้งปี

อย่างไรก็ตาม แม้ต้องอยู่ท่ามกลางสภาพภูมิอากาศอันหนาวเหน็บ แต่จิตใจของคนในแถบนี้กลับอ่อนโยน ท่านจึงเชื่อมั่นว่า พระพุทธศาสนาน่าจะเจริญขึ้นได้ในสแกนดิเนเวีย ท่านจึงชักธงธรรมจักรขึ้นเหนือหน้าต่างคอนโดที่พัก เป็นสัญลักษณ์ว่า พระพุทธศาสนาเริ่มหยั่งรากฝังลึกลงบนดินแดนแห่งนี้แล้ว และทำให้เกิดวัดไทยขึ้นอีกมากมายในเวลาต่อมา เช่นวัดไทยเนเธอร์แลนด์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ วัดพุทธาราม กรุงสตอกโฮล์ม และวัดพุทธาราม เฟรดริกา ประเทศสวีเดน วัดไทยนอร์เวย์ ประเทศนอร์เวย์ วัดไทยเดนมาร์ก กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก  ฯลฯ

ทั้งหมดส่งผลให้พุทธศาสนาในดินแดนตะวันตกมีความเจริญเข้มแข็งเรื่อยมา…จวบจนวันนี้ นับเป็นคุโณปการที่พุทธศาสนิกชนมิอาจลืมเลือน

 

 


Secret Box

เราจะใช้ความสามารถของตนอย่างเต็มที่ในการรักษาสังฆมณฑล

และทำความสำคัญของสังฆมณฑลในประเทศไทยให้ออกไปสู่สายตาโลก

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยวอุปเสโณ)


เรื่อง ภัทรภี พุทธวัณณ ภาพปก วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ภาพ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร, วรวุฒิ วิชาธร

 

บทความที่น่าสนใจ

เล่าเรื่องหลวงพ่อชา โดย พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ

ปฏิภาณในการเทศน์ของ สมเด็จโต พรหมรังสี เรื่องเล่าที่หลายคนยังไม่เคยได้ยิน

Secret คือแรงบันดาลใจ
สั่งซื้อนิตยสารหรือสมัครสมาชิก Secret ได้ที่ 0-2423-9889
ทาง Naiin.com : https://www.naiin.com/magazines/title/SC/

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.