คนเห็นแก่ตัว

3 วิธี รับมือกับ ” คนเห็นแก่ตัว ” ในที่ทำงาน

3 วิธี รับมือกับ ” คนเห็นแก่ตัว “

ซีเคร็ตเข้าใจดีว่า การต้องอยู่ร่วมกับ คนเห็นแก่ตัว โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานที่ต้องเจอหน้ากันทุกวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นเรื่องน่าอึดอัดทรมานใจไม่น้อย เราจึงมีเคล็ดวิธีรับมือกับคนเหล่านี้มาฝากค่ะ

แบบนี้สิคนเห็นแก่ตัวของจริง!!

1.       ชอบตักตวงผลประโยชน์เข้าตัว มากกว่านึกถึงผลประโยชน์ส่วนรวม

2.       ยกยอตัวเอง เน้น “รับแต่ความชอบ” ไม่รับความผิด ความผิดคนอื่นเท่าภูเขา ความผิดเราเท่าเส้นผม

3.       เอาตัวรอดเป็นยอดคน ถึงเวลาเจอปัญหา ใครๆ ก็ผิดพลาดทั้งนั้น ยกเว้นตัวฉันคนเดียว

 

Step 1 เลิกรับบทนางเอก เราไม่ได้กำลังจะบอกคุณว่า คุณต้องทำตัวเป็นนางมารร้าย ใครร้ายมา ให้ร้ายกลับ แต่เรากำลังจะบอกว่า คุณไม่ควรยอมเขาไปหมดเสียทุกอย่าง เช่น เมื่องานผิดพลาด คุณรู้ดีว่าทั้งคุณและเขาต่างมีส่วนทำให้งานชิ้นนี้ผิดพลาดด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่เขากลับไปฟ้องเจ้านายว่า งานนี้เขาไม่มีส่วนผิด พร้อมงัดคำอธิบายสารพัดมาบรรยายว่า ความผิดพลาดครั้งนี้เป็นเพราะคุณแต่เพียงผู้เดียว

วิธีรับมือ

เมื่อเจออย่างนี้ อย่าไปยอมเด็ดขาด ความจริงคือความจริง คุณควรอธิบายเหตุผลทุกอย่างออกมาให้เจ้านายฟัง ด้วยวาจาท่าที่สุภาพอ่อนน้อม แต่หากเจ้านายไม่เชื่อ ก็อย่าเพิ่งท้อใจ ขอให้คุณอดทนเข้าไว้ และใช้กาลเวลาเป็นตัวพิสูจน์ทุกอย่าง พยายามแสดงความสามารถออกมาให้เต็มที่ อย่างไรเสีย ความจริงก็ไม่มีวันตาย สักวันเจ้านายจะรู้ได้เองว่า ใครเป็นคนอย่างไร

 

Step 2 ว่ากันไปตามเนื้อผ้า มีคนบางประเภทที่มักจะมองแต่ผลประโยชน์ของตัวเองตลอดเวลา เรื่องคิดถึงคนอื่นไม่เคยมีในหัว ส่วนรวมหรือใครจะเดือดร้อนอย่างไรก็ช่าง เพราะผลประโยชน์เท่านั้นคือสิ่งที่ฉันต้องการ คนประเภทนี้จึงน่าสงสาร เพราะไร้ความสุขที่แท้จริง มีแต่ความฉาบฉวยเท่านั้น ส่งผลให้ไม่สามารถประสบความสำเร็จในโลกการทำงานได้

วิธีรับมือ

ถ้าต้องอยู่กับคนประเภทนี้ขอให้พยายามแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน ต่างคนต่างรับผิดชอบ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยืดหยุ่นให้กันไม่ได้แถมยังคอยจิกกัดเราอีก ก็ต้องทำงานกันอย่างตรงไปตรงมา ว่ากันไปตามเนื้อผ้า ขณะเดียวกันก็พยายามแสดงให้เขาเห็นว่า ในโลกนี้ “การรับ” ไม่สำคัญเท่ากับ “การให้” ผลประโยชน์อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับความสบายใจที่ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง

 

Step 3 พิสูจน์ว่าคุณก็ทำได้ คนบางประเภทชอบคิดว่าคนอื่นทำได้ไม่ดีเท่าเรา ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ขอเสนอตัวเหมาทำไว้ก่อน ด้วยข้ออ้างว่า “เพื่อภาพรวมของงาน”  ร้ายกว่านั้นบางรายยังอาจมีลูกชิ่งถึงเพื่อนๆ ว่า “ที่ฉันต้องทำอย่างนี้ก็เพราะจนใจต่างหาก ดูๆ ไปคงไม่มีใครถนัดเรื่องนี้มากกว่าฉันอีกแล้ว” สรุปว่า คนประเภทนี้นอกจากตัวเองแล้ว เขาจะมองว่าคนอื่นแย่หมด ไม่มีใครดีหรือเจ๋งกว่าตัวเอง

วิธีรับมือ

ดูเผินๆ เหมือนจะสบายถ้าได้เจอเพื่อนร่วมงานที่ชอบเหมางานไปทำหมดแต่ในไม่ช้าจะเป็นคุณเองที่เสียเครดิต เพราะเจ้านายไม่มีโอกาสรู้ว่าคุณถูกแย่งงาน ถูกบดบังพื้นที่แสดงความสามารถจนมิดไปแบบเนียนๆ

ว่ากันตามตรง คุณคงไปเปลี่ยนแปลงคนประเภทนี้ไม่ได้ เพราะพวกเขามีความมั่นใจเกินร้อย ไม่ฟังใคร ดังนั้นต้องเป็นตัวคุณเองที่ต้องหัด “ใจกล้า”ขึ้นมาบ้าง ฮึดสู้ทวงพื้นที่ของคุณคืนมาให้ได้ อย่างน้อยก็ในส่วนความรับผิดชอบของคุณ จากนั้นก็โชว์ให้นายเห็นไปเลยว่า เรารักงาน เราเต็มที่ และทำได้ดีมากแค่ไหน

สุดท้ายแล้วหากยังหาวิธี “รับมือ”ที่เหมาะสมไม่ได้ ก็คงต้องยอมรับและเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น เพราะมิฉะนั้นแล้ว คุณเองนั่นแหละที่จะเป็นฝ่ายทุกข์และไม่มีความสุขกับการทำงาน

 

ที่มา :

ส่วนหนึ่งจากคอลัมน์ Life management นิตยสาร Secret เขียนโดย วรลักษณ์  ผ่องสุขสวัสดิ์

ภาพ :

https://pixabay.com


บทความน่าสนใจ

กรรมของ คนเห็นแก่ตัว คืออะไร เรามีคำตอบมาฝาก

Dhamma Daily : ทำอย่างไรดีเมื่อต้องทำงานกับ คนที่เห็นแก่ตัว

โต๊ะทำงานที่โล่งสบายตาคือ เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ ในการทำงาน ที่คนส่วนใหญ่มองข้าม  

สมาธิภาวนาในขณะทำงาน แนวทางการปฏิบัติของหลวงพ่อชา สุภทฺโท

ฉันทะในการทำงาน โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.