บรรพชนผู้รักสันติกล่าวไว้ว่า ต่อให้ชีวิตต้องเผชิญกับความทุกข์ยากหรือความรุนแรงมากมายเพียงใด ขอให้เราใช้ “ความอดทน” เป็นอาวุธฟันฝ่าไปให้ได้ เพราะนี่เป็นหนทางเพียงเส้นเดียวที่จะนําไปสู่ชัยชนะที่แท้จริง คุณหมอผู้ยึดมั่นในความดี
แต่ทว่าการสงบนิ่งท่ามกลางความสูญเสียไม่ใช่สิ่งที่ทําได้ง่ายนัก
นายแพทย์เอซเซลดีน อาบู อัลออิช (Dr. Ezzeldeen Abual-Aish) เป็นแพทย์ซึ่งจบการศึกษาด้านสูตินรีแพทย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) แม้ว่าคุณหมอจะเป็นชาวปาเลสไตน์และนับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็ได้เรียนภาษาฮีบรูจากแรบไบ (พระในศาสนายูดาห์) จนสามารถสื่อสารภาษาฮีบรูได้อย่างคล่องแคล่ว คุณหมอทํางานในโรงพยาบาลทั้งในประเทศอิสราเอลและฉนวนกาซา อันเป็นเหมือนกันชนระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล
แม้พื้นที่เสี่ยงต่อภัยสงครามอย่างฉนวนกาซาจะไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะต่อการอยู่อาศัยด้วยประการทั้งปวง แต่คุณหมออาบู อัลออิชก็ยังอาศัยอยู่ที่นี่เพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยโดยไม่เลือกเชื้อชาติ
ครอบครัวของคุณหมอเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ภรรยาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งไปเมื่อปี 2008 ทําให้คุณหมอวัย 55 ปี (ในเวลานั้น) ต้องดูแลลูกๆ ทั้งแปดคนตามลําพัง คุณหมอเลี้ยงดูลูกๆ ในพื้นที่อันตรายแห่งนี้มาโดยตลอด เพราะเชื่อว่าความดีจะช่วยปกป้องครอบครัวของเขาได้
“ผมเลี้ยงลูกๆ ให้ทํางานเป็นและเติบโตขึ้นเป็นทหารเพื่อสันติภาพ ผมเชื่อว่ายาจะสามารถเป็นสะพานมิตรภาพเชื่อมระหว่างชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์ได้”
แต่ในช่วงต้นเดือนมกราคมปี 2009 ขณะที่ดินแดนแถบอื่นยังเฉลิมฉลองศักราชใหม่ ความรุนแรงในฉนวนกาซาได้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง กองทัพอิสราเอลเคลื่อนพลเข้าประชิดฉนวนกาซาเพื่อกวาดล้างกลุ่มกบฏฮามาส เสียงปืนดังขึ้นทั้งกลางวันและกลางคืน แม้แต่ตอนหยุดยิงหูก็ยังแว่วได้ยินเสียงปุ…ปุ…ปุ ก้องอยู่ในโสตประสาท
สงครามขนาดย่อมดําเนินไปถึง 21 วัน และแล้วในวันที่ 16 มกราคมซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสงคราม คุณหมอเข้าไปกล่าวราตรีสวัสดิ์กับลูกสาว หลังจากที่เขาปิดประตูและเดินจากมาได้เพียง 2-3 ก้าว เสียงกัมปนาทก็ดังขึ้น มันดังมาจากภายในบ้านของเขาเอง บ้าน…ที่เคยเป็นคลินิกฉุกเฉินมาแล้วนับร้อยๆ ครั้ง…
ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นคือ เขารู้ทันทีว่า เสียงที่ได้ยินดังมาจากห้องนอนของลูกๆ ที่เขาเพิ่งเดินจากมา!
คืนนั้น มือที่เคยมอบชีวิตให้แก่เด็กทารกทั้งชาวปาเลสไตน์และชาวอิสราเอล กลับต้องรวบรวมร่างที่แหลกเหลวของลูกสาวทั้งสามคนและหลานสาวแทน ได้แก่ บิซาน (Bisan) วัย 22 ปี มายาร์ (Mayar) วัย 15 ปี อายาร์ (Ayar) วัย 14 ปี และ นูร์ (Noor) หลานสาววัย 14 ปีอีกหนึ่งคน
ตามปกติ ด้วยความที่คุณหมอเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและอยู่ในพื้นที่ที่เกิดสงคราม สถานีโทรทัศน์ช่อง 10 ของอิสราเอลจะติดต่อกับคุณหมอทางโทรศัพท์ เพื่อให้คุณหมอช่วยรายงานสถานการณ์ความเป็นไปในแต่ละวัน แต่คืนนั้น ทุกคนในห้องส่งต้องรู้สึกสะเทือนใจ เพราะเสียงของคุณหมอเต็มไปด้วยเสียงสะอื้นไห้และความทุกข์ระทม
“เราไปทําอะไรให้พวกเขา… ทําไม… ทําไมลูกสาวผมจึงถูกยิง ลูกๆ ผมตายเสียแล้ว”
ภายหลังกองทัพอิสราเอลได้จัดการสืบสวนหาสาเหตุของการยิงปืนใหญ่ในครั้งนี้ แต่ผลสรุปออกมาว่า “เป็นความผิดพลาดที่ไม่ได้ตั้งใจ” และยังอ้างว่าได้มีการเตือนให้คุณหมออพยพแล้วก่อนหน้านั้น
สงครามที่ยืดเยื้อ ความสูญเสียที่ทับทวีขึ้น ทําให้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการเผชิญหน้าแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่อาจสั่นคลอนความศรัทธาของคุณหมอได้ เขายังคงยืนหยัดที่จะทํางานต่อไป และจะสนับสนุนการสร้างความร่วมมือระหว่างสองชนชาติดังเช่นที่เคยทํามาตลอดหลายสิบปี
“การปฏิบัติการทางทหารไม่มีประโยชน์ในการแก้ปัญหาระหว่างประชาชน หนทางการแก้ไขที่แท้จริงคือ ทุกฝ่ายต้องรับฟังกันและกันอย่างจริงจัง”
จากความกล้าหาญครั้งนี้ รัฐบาลประเทศสวีเดนได้มอบสิทธิความเป็นพลเมืองแก่คุณหมอ และเสนอชื่อของคุณหมอเอซเซลดีนอาบู อัลออิช เป็นหนึ่งในรายชื่อผู้เข้ารอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจําปี 2009
ถ้าสันติภาพคือจุดหมายบนเส้นทางสู่ชัยชนะ การเดินบนเส้นทางนี้ให้ได้ตลอดรอดฝั่งก็จําเป็นจะต้องมีหัวใจที่ยิ่งใหญ่อย่างนายแพทย์อาบู อัลออิช ผู้นี้เท่านั้น
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง Violet
ภาพ haaretz.com