การที่คนเราจะรู้ถึงความต้องการจริงๆ ในชีวิตของตัวเองนั้นจะต้องเริ่มจาก “รู้จักตัวเอง” ก่อน หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่าทำไมเราต้องทำความรู้จักกับตัวของเราเองอีก ในเมื่อตัวเราก็ย่อมต้องรู้จักตัวเอง ดีอยู่แล้ว แต่ที่จริงแล้วอาจไม่ใช่แบบนั้น หากคุณเองยังไม่สามารถตอบคำถามถึงความต้องการที่แท้จริงในชีวิตของคุณได้ นั่นย่อมหมายความว่า คุณยังไม่รู้จักตัวเองดีพอ!
ตัวอย่างคำถามที่บางคนยังไม่สามารถตอบเกี่ยวกับความต้องการของตัวเองได้ก็เช่น คุณไม่สามารถตอบได้ว่าการตัดสินใจเลือกที่จะย้ายที่ทำงานเป็นการกระทำที่ถูกต้องจริงแล้วหรือไม่ หรือคุณไม่สามารถจะตอบได้ว่าคุณมีความสุขกับงานที่กำลังทำอยู่อย่างแท้จริงหรือเปล่า แม้กระทั่งบางครั้งคุณก็ไม่สามารถจะตอบได้ว่าทำไมถึงเลือกที่จะเดินมาทางซ้าย แทนที่จะเดินไปทางขวา หรือทำไมถึงรู้สึกว่าเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งดูเป็นมิตรมากกว่าอีกคนหนึ่ง เป็นต้น
เชื่อว่ามีหลายคนที่ยังไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ด้วยความมั่นอกมั่นใจและเต็มปากเต็มคำนัก การจะเข้าถึงและรู้จักกับตัวตนของตัวเองนั้นแบ่งได้ง่ายๆ เป็นสองทาง คือ การเข้าถึงทางกาย กับการเข้าถึงทางใจหรือที่เรียกกันว่าการเข้าใจนั่นเองค่ะ ในที่นี่เราอยากจะเปรียบจิตใจคนเรากับภูเขาน้ำแข็งเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น คือ อุปนิสัยและการกระทำต่างๆ ที่แสดงออกมาให้คนภายนอกได้เห็นและให้ตัวเราเองได้รับรู้นั้นเป็นเสมือนยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ และถือเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อย เทียบกันไม่ได้เลยกับส่วนที่มหึมาอื่นๆ ของภูเขาน้ำแข็งที่จมซ่อนอยู่ใต้น้ำที่เป็นเสมือนตัวแทนของจิตใต้สำนึกของคุณนั่นเอง มันเป็นจิตใต้สำนึกที่หากคุณอยากจะทำความรู้จัก ก็ต้องพยายามดำลงไปสำรวจดู ซึ่งการสำรวจหรือถามหาจิตใต้สำนึก หรือความรู้สึกจริงๆ ของคุณนั้น บางครั้งก็ต้องอาศัยคำถามกับตัวเอง ด้วยการอาศัยการสังเกตตัวเองยังไงล่ะคะ
อย่างแรกที่ต้องสังเกตในการค้นหาตัวเองคือ อุปนิสัยและอารมณ์ของคุณเองในขณะทำสิ่งต่างๆ ลองมองสำรวจความแตกต่างทางอารมณ์ของคุณระหว่างที่ทำกิจกรรมต่างๆ ดู ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ในด้านไหนก็ตาม ที่เราอยากให้ลองเริ่มจากการสังเกตอารมณ์ของตัวเองนั้นก็เพราะว่าอารมณ์เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบกับจิตใจของคนเรามากที่สุด เราจะสามารถรับรู้ และรู้สึกถึงอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว เพราะอารมณ์เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดเรื่องราวต่างๆ มากมาย ก่อให้เกิดความต้องการกระทำสิ่งต่างๆ เพื่อตอบสนองอารมณ์นั้นๆ ของเรา เช่น เราจะหัวเราะออกมาเมื่อดีใจ ร้องไห้ออกมาเมื่อรู้สึกเสียใจ หรืออาจลงมือชกต่อยคนอื่นเมื่อรู้สึกโกรธ เพื่อสนองอารมณ์ และที่ควรสังเกตที่สุดคือความรู้สึกพอใจต่างๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อคุณได้ทำในสิ่งที่คุณต้องการแล้วนั่นเอง
การที่เราต้องให้คุณสังเกตอารมณ์ของตัวเองก็เพื่อสังเกตต้นกำเนิดของอารมณ์ หรือก็คือเหตุผล ที่ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกใดๆ ขึ้นมา เมื่อคุณลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไปสักอย่าง เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ในจิตใจ ย่อมจะเป็นเพราะมีเหตุผลบางอย่างที่ส่งผลให้จิตใจคุณตอบสนองออกมาเป็นอารมณ์นั้นๆ เช่น หากคุณจะรักใครสักคนก็ต้องเป็นเพราะคนๆ นั้นทำดีกับคุณ ทำให้คุณถูกใจ หรือจะเกลียดใครก็เป็นเพราะอีกฝ่ายทำไม่ดีกับคุณ เป็นต้น
ดังนั้นจึงต้องเริ่มค้นจากต้นเหตุของอารมณ์ก่อนที่จะสรุปความต้องการของตน เพื่อให้ได้รู้ว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่คุณชอบ หรือไม่ชอบ หรือเพียงแค่เฉยๆ เช่น การที่คุณพบว่าตัวเองมีความสุขมากกับการเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วประเทศ และเชื่อมาตลอดว่าสิ่งที่คุณชอบคือการท่องเที่ยว แต่หากคุณลองค้นหาลงไปจริงๆ แล้ว อาจจะพบว่าที่คุณมีความสุขกับการเดินทางไปทั่วประเทศนั้น เกิดจากการที่แค่เพราะคุณได้เดินทางไปกับเพื่อนสนิท หรือคนรู้ใจของคุณก็เป็นได้
คุณอาจจะพบว่าคุณมีความสุขมากที่สุดเมื่อคุณยกกล้องขึ้นถ่ายรูปเก็บความประทับใจ และเมื่อกลับมาแล้วยังอวดรูปให้คนอื่นๆ ดูอย่างภาคภูมิใจมากที่สุด นั่นอาจจะหมายถึงส่วนที่คุณชอบคือการถ่ายภาพ ไม่ใช่การเดินทางเพียงอย่างเดียว
หรือแม้กระทั่งพบว่าคุณมีความสุขที่สุดหลังจากการเดินทางกลับมาแล้ว และกำลังนั่งลงถ่ายทอดเรื่องราวการเดินทางและสิ่งที่พบเจอระหว่างการท่องเที่ยวออกไปให้คนอื่นๆ ได้รับรู้ ทั้งๆ ที่คุณอาจจะรู้สึกหรือไม่รู้สึกชอบการเดินทางครั้งนี้เลยก็ได้ นั่นก็คือคุณชอบที่จะถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ออกไปสู่ผู้อื่น