“คิดดีแล้วเหรอ ธุรกิจนี้คู่แข่งเยอะนะ” “วงการนี้ช้ำแล้ว ไม่มีหวังหรอก” “อย่าทำเลย มีคนทำเต็มไปหมดแล้ว” (ถ้าคุณวิ่งเร็วกว่าคนอื่น)
คำพูดที่หวังดีเหล่านี้บางครั้งก็ออกมาจากปากคนรอบข้างเรา แต่หลายครั้งก็เป็นคำพูดที่วนอยู่ในสมองของเราเอง ซึ่งคอยหยุดยั้งไม่ให้เราเริ่มต้นใหม่ ไม่ให้เราก้าวต่อหรือไม่ให้เราประสบความสำเร็จอย่างที่ใฝ่ฝัน ฟังดูผิวเผินก็น่าจะจริง เพราะใคร ๆ ก็รู้ว่าในธุรกิจสายงานหรือวงการใดก็ตามที่มีคนทำเยอะอยู่แล้วย่อมมีคู่แข่งมาก ทำให้เรา“เกิดและโตยาก” ฉะนั้นคนฉลาดจะเลือกแข่งในสนามที่มีคู่แข่งน้อยเสมอจริงไหม
ไม่จริงครับ!
หากคุณเลือกจะทำธุรกิจหรืออาชีพที่ไม่เหมือนใคร ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร และยังรู้สึกชื่นชมในความกล้าหาญของคุณด้วยซ้ำ แต่ความจริงที่หลายคนไม่ทราบก็คือ ยิ่งวงการไหนมีคู่แข่งเยอะ บางครั้งกลับยิ่งดี! เพราะนั่นคือเครื่องบ่งบอกว่าในสายงานหรือธุรกิจนั้นมี “Demand” (ความต้องการของผู้บริโภค) มาก ฉะนั้นคุณแทบไม่ต้องห่วงเลยว่าจะไม่มีลูกค้า แต่ข้อแม้สำคัญก็คือ คุณต้องหาทาง “ตอบโจทย์” ผู้บริโภคให้ดีกว่าคนอื่นก็เท่านั้นเอง
คุณจำได้ไหมว่า Facebook มาทีหลัง Hi5, Friendster และ myspace ตั้งหลายปี ส่วน Google ก็มาทีหลัง Yahoo, AltaVista และ “เว็บไซต์ค้นหา” (Search Engine) อีกเกือบ 10 เว็บไซต์ เมื่อพูดถึง Alibaba คุณคงยังไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้ก็มี ebay และ Amazon ที่ครองตลาดเป็นสุดยอดยักษ์ใหญ่อยู่แล้ว และก่อนหน้า Starbucks ก็มีแบรนด์ร้านกาแฟตั้งมากมาย แต่สุดท้ายแบรนด์นี้ก็ขึ้นมาครองตลาด และคุณรู้หรือไม่ว่า เครื่องเล่นเพลง Sony Walkman ที่เคยขายดิบขายดีจนสร้างกำไรให้บริษัทโซนี่นับพันล้านดอลลาร์ ก็ไม่ใช่เครื่องเล่นเพลงแบบพกพาเครื่องแรกของโลก มีหลายบริษัทที่ผลิตเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาออกมาก่อนหน้านั้น แต่สินค้ารุ่นแรก ๆ ไม่ “ตอบโจทย์” ลูกค้า สุดท้าย สตีฟ จ็อบส์ ก็ผลิต iPod ออกมาสู้ Sony Walkman จนชนะไปอย่างขาดลอยอีก เพราะ iPod สามารถ “ใส่เพลงหนึ่งพันเพลงลงไปในกระเป๋าของคุณได้” แต่ถามว่า สตีฟ จ็อบส์ เป็นคนแรกที่ผลิตเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาขึ้นมาหรือเปล่า
คำตอบคือ “เปล่าเลย”
จำไว้ว่า คุณทำสิ่งที่คนอื่นเขาทำอยู่ได้ครับ แต่คุณต้องทำสิ่งนั้นให้ไม่เหมือนคนอื่น ทำให้โดดเด่นกว่า ดีกว่า และตอบโจทย์มากกว่า ยกตัวอย่างเช่นหนังสือของผม ตอนแรกมีคนแนะนำให้ผมใช้หน้าตัวเองเป็นปกหนังสือ “ขุนเขาเกาสมอง” เพราะถ้าผมมีคนรู้จักแล้วก็จะช่วยให้คนที่คุ้นหน้าผมมีโอกาสหยิบหนังสือขึ้นมาดู อย่างไรก็ตาม บางคนก็แนะนำในสิ่งที่ตรงข้าม แล้วบอกว่าผมไม่ควรทำเพราะสมัยนี้มีนักเขียนเอาหน้าตัวเองลงปกเยอะมาก ทำแล้วจะไม่โดดเด่นเนื่องจากมี “คู่แข่ง” เยอะ
สุดท้าย ผมคิดว่าในเมื่อมีคนที่มีชื่อเสียงทำสิ่งนี้เยอะก็แสดงว่ามันต้องได้ผล แต่ผมจะทำออกมาให้ไม่เหมือนคนอื่นโดยการใช้กราฟิกปรับหน้าตัวเองให้เป็นภาพลวงตาซึ่งมองได้สองมุม เห็นแล้วสะดุดตาและน่าหยิบในหมู่หนังสือที่มีปกเป็นใบหน้าคนแบบธรรมดา ๆ ซึ่งก็ได้ผลอย่างดีเยี่ยม เพราะตั้งแต่วางแผงมาจนถึงบัดนี้ (ในเวลานั้น) หนังสือ “ขุนเขาเกาสมอง” ก็ยังคงติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ในร้านหนังสือชั้นนำอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็มีหนังสือที่นักเขียนใช้ใบหน้าตัวเองเป็นจุดขายวางแผงอยู่แล้วนับไม่ถ้วน
สตีฟ จ็อบส์ บอกว่า คุณทำสิ่งที่คนอื่นเขาทำอยู่แล้วได้ แต่คุณจะต้องรักงานนั้นมากกว่าคนอื่น ส่วนมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็แนะนำว่า คุณไม่จำเป็นต้องมีทรัพยากรเยอะกว่า หรือมีเส้นสายมากกว่าใคร แต่คุณต้องใส่ใจในสิ่งที่ทำอยู่ให้มากกว่าคนอื่น นี่แหละจะทำให้คุณประสบความสำเร็จได้แม้ตลาดของคุณจะมี “คู่แข่ง” อยู่มากมายแล้วก็ตาม
ข้อคิดสุดท้ายที่ผมอยากจะฝากไว้มาจากนักเขียนเรื่องธุรกิจชื่ออดัม แกรนต์ (Adam Grant) เขาทำวิจัยแล้วพบว่า คนที่เริ่มบุกเบิกธุรกิจแปลกใหม่มีโอกาสล้มเหลวถึง 47% แต่คนที่เลือกจะ “พัฒนา” ในสิ่งที่คนอื่นทำไว้อยู่แล้วมีโอกาสล้มเหลวเพียง 8% เท่านั้น ฉะนั้น หากคุณต้องการประสบความสำเร็จ คุณอาจไม่จำเป็นต้อง “ริเริ่ม” ทำสิ่งใหม่โดยสิ้นเชิง แต่คุณต้องรู้จักเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่น แล้วปรับสิ่งที่คุณทำให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การไม่เริ่มต้นเพราะคิดว่ามีคู่แข่งเยอะนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิดก็จริง แต่อย่าลืมว่าความเข้าใจผิดขั้นที่สองซึ่งร้ายกาจพอ ๆ กันคือ การลงมือทำสิ่งที่เหมือนคนอื่นแบบแยกไม่ออก ทำให้คุณไม่มีความโดดเด่นและส่งผลให้สิ่งที่คุณทำนั้นไม่เจริญก้าวหน้า
ฉะนั้น ถ้าคุณปรารถนาชัยชนะก็อย่าอ้างว่ามีคู่แข่งเยอะ ขณะเดียวกันก็อย่าลงไป “วิ่งตามก้นฝูงชน” จนไม่มีใครมองเห็น แต่จงนั่งศึกษาเรียนรู้จากการล้มของคนอื่นแล้วค่อยลงไปวิ่งแบบมีชั้นเชิง ถ้าทำแบบนั้นได้ ไม่ว่าจะมีคู่แข่งเยอะแค่ไหนก็ย่อมไม่ใช่ปัญหา เพราะว่าคุณวิ่งเร็วกว่าคนอื่น!
(ถ้าคุณวิ่งเร็วกว่าคนอื่น)
ที่มา คอลัมน์ Key to Success นิตยสาร Secret
เรื่อง ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร
บทความน่าสนใจ
งามแท้ เพราะ “ไม่แน่นอน” ปรัชญาธรรมจากแดนอาทิตย์อุทัย โดย ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร
ความจริงของ “ความเจ็บ” โดย ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร
ดับไฟในใจลูก ด้วยเส้นประสาทกระจกเงา โดย ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร