การทำความดีไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ใบ ปริญญา เรื่องจริงจากหนุ่มผู้ไม่รับปริญญา
ผมไม่เชื่อหรอกว่า ใบ ปริญญา จะสามารถวัดคุณค่าของคนได้จริง…อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่งละที่เชื่อแบบนี้
ผมเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง บ้านเราเช่าตึกแถวหนึ่งห้องสำหรับทำมาหากินและอยู่อาศัย ชั้นล่างแม่เปิดเป็นโรงงานเย็บผ้าขนาดย่อม โดยรับชิ้นส่วนผ้าที่ตัดเรียบร้อยแล้วมาเย็บเป็นชุด พร้อมกับชักชวนคนรู้จักในหมู่บ้านของแม่ที่เดินทางจากภาคอีสานมาหางานทำในกรุงเทพฯมาช่วยเป็นลูกมือราว 10 คน รวมถึงพ่อที่เมื่อก่อนเคยเป็นช่างไม้ก็ออกมาช่วยแม่ทำงานที่ร้านอย่างเต็มตัว ส่วนชั้นสองของบ้านนั้น ห้องหนึ่งครอบครัวเราใช้อยู่อาศัย ส่วนห้องที่เหลือก็ให้ลูกจ้างอยู่
พ่อแม่ของผมเรียนหนังสือไม่สูง แต่ก็สามารถส่งผมเข้าเรียนโรงเรียนเอกชนที่มีคุณภาพในกรุงเทพฯได้ ชีวิตครอบครัวเราเหมือนจะไปได้สวย แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เหมือนมาปล้นบรรยากาศดี ๆ ภายในครอบครัวของผมไป
สมัยนั้นผมยังเรียนอยู่ชั้น ป.5 แต่ก็โตพอจะรู้ว่าเศรษฐกิจช่วงนั้นไม่ค่อยดีนัก บรรดาลูกจ้างที่เคยช่วยงานในร้านพากันกลับไปสร้างเนื้อสร้างตัวที่ต่างจังหวัดหมด ทำให้กิจการของเราไปต่อไม่ได้ แม่ค่อย ๆ ทยอยขายจักรทิ้งไปทีละตัวเพื่อนำเงินมาหมุนเป็นค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ส่วนพ่อก็หันไปทำอาชีพเมสเซนเจอร์แทน
วิกฤติครั้งนี้ ภาระหนักทั้งหมดตกอยู่ที่พ่อ ท่านต้องคอยขับรถส่งของให้เหล่าคุณหญิงคุณนาย โดยนำมอเตอร์ไซค์บุโรทั่งคันเดียวที่มีในบ้านไปใช้ แต่เพราะงานของพ่อเป็นอาชีพอิสระ ทำให้รายได้ไม่ค่อยแน่นอน เราจึงต้องอยู่กันอย่างกระเบียดกระเสียร ไม่เพียงเท่านั้น ครอบครัวของเรายังมีสมาชิกตัวน้อยเพิ่มมาอีกหนึ่งคนด้วย
ทุกครั้งที่กลับถึงบ้านหลังโรงเรียนเลิก ผมจะมองลอดเข้าไปในประตูเหล็กยืดหน้าบ้าน ภาพที่เห็นซ้ำ ๆ จนชินตาคือ ภาพของแม่กำลังนอนแผ่หลาอยู่บนเสื่อน้ำมันท่ามกลางความมืดมิดภายในบ้าน ซึ่งนั่นเป็นเพราะแม่ไม่มีงานทำ และบ้านเราก็ไม่มีเงินพอแม้แต่จะจ่ายค่าไฟ
ทุกวันผมต้องเดินกำเงิน 20 บาทไปซื้อข้าวผัดมาหนึ่งกล่อง แล้วแบ่งกันกินกับแม่คนละครึ่ง เป็นเพราะบ้านเรามีเงินไม่พอแม้แต่จะซื้อข้าวมาหุง แม่มักถามผมเสมอว่า “กินอิ่มไหมลูก” ผมต้องจำใจกลืนคำว่า “ไม่อิ่ม” กลับลงคอไปเมื่อเห็นแววตาของแม่
ในที่สุดเราก็สู้ภาระค่าใช้จ่ายของบ้านหลังนี้ต่อไปไม่ไหว ครอบครัวมีหนี้มีสินท่วมหัว พ่อกับแม่จึงตัดสินใจย้ายหนีออกไปตั้งต้นชีวิตใหม่ที่บ้านหลังใหม่แถบชานเมือง ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างฉุกละหุก การย้ายบ้านถือเป็นเรื่องหนักหนาสำหรับเด็กวัยเพียง 11 ปี ตอนนั้นชีวิตผมเหมือนปลั๊กไฟที่ถูกดึงออกอย่างรวดเร็ว ทุกอย่างดับวูบ จากที่เคยมีเพื่อนสนิทวิ่งเล่นด้วยกันในละแวกบ้านเป็นประจำ แต่จู่ ๆ ทุกอย่างก็หายไป
ขณะนั่งอยู่บนรถสิบล้อที่ใช้ขนของย้ายบ้าน ผมเหลียวไปมองบ้านหลังเก่าที่ค่อย ๆ ห่างออกไปเรื่อย ๆ จนหายลับไปในที่สุด นาทีนั้นผมรู้สึกเคว้งคว้าง…บรรยายไม่ถูก ผมร้องไห้จนตัวโยน แต่ไม่มีใครสนใจ
ตอนที่อยู่บ้านเก่าผมเคยชอบเล่นทายปัญหากับเพื่อนในสมุดบันทึก แม้จะย้ายมาอยู่บ้านหลังใหม่แล้ว ผมก็ยังคงเขียนคำถามลงไปในสมุดเล่มนั้นด้วยความหวังว่า สักวันจะได้ย้ายกลับไปอยู่ที่เดิมแล้วเล่นทายปัญหากับเพื่อนอีกครั้ง สุดท้ายความหวังของผมก็ดับวูบลง เพราะผมต้องย้ายไปเรียน
ในโรงเรียนรัฐบาลใกล้บ้าน ที่นั่นผมกลายเป็นนักเรียนตัวอย่าง เพราะเรียนหนังสือได้ที่หนึ่ง มีความประพฤติเรียบร้อย เป็นที่รักของครู และสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนเสมอ แต่ถึงอย่างนั้นผมก็มีปมลึก ๆ ในใจ ทำให้กลายเป็นเด็กเก็บตัว ไม่ยอมพูดจากับใคร เพราะกลัวว่าหากสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนรักสักคน ผมอาจจะต้องพบเจอกับการพลัดพรากซ้ำอีก
เมื่อย้ายมาอยู่ที่ใหม่ แม่กลับมาเย็บผ้าอีกครั้งโดยไม่มีลูกจ้างช่วย ทำให้ผลิตชุดได้น้อยลง และแน่นอนว่าเงินที่ได้รับก็น้อยลงตามไปด้วย ส่วนพ่อก็ยังคงเป็นเมสเซนเจอร์อยู่หมือนเดิม ตอนนั้นบ้านเรามีรายได้แค่พอประทังชีวิต ไม่ได้ถึงกับเดือดร้อนอะไรมากนัก และเมื่อทุกอย่างเริ่มลงตัว แม่ก็มีน้องคนที่สามเมื่อผมเริ่มโตเป็นหนุ่ม ความเป็นจริงของชีวิตบีบบังคับให้ผมต้องดิ้นรนเอาตัวรอด ผมใช้เวลาหลังเลิกเรียนหางานพิเศษทำด้วยการรับปากกาและของเล่นชิ้นเล็ก ๆ มาแพ็คใส่ซองพลาสติก
แม้เดือนหนึ่ง ๆ จะได้เงินไม่กี่ร้อยบาท แต่นั่นก็ทำให้ผมรู้ซึ้งถึงหยาดเหงื่อของการทำงาน ผมทำทุกอย่างเท่าที่พอจะทำได้ ตั้งแต่ทำหนังสือทำมือไปขายเพื่อนในชั้นเรียน ไปจนถึงรับจ้างยืนแจกใบปลิวและปูผ้าขายของตามสะพานลอย โดยอาศัยรวบรวมซีดีเก่า ๆ ที่ขอมาจากเพื่อน ๆ แล้วนำไปขาย เพราะไม่มีแม้แต่เงินทุนจะไปซื้อของ ช่วงเปิดเทอม บางช่วงผมไปขายเสื้อยืดตามตลาดนัด อาศัยรับเสื้อมาจากโรงงานของคนรู้จักก่อน แล้วค่อยนำเงินที่ได้ไปจ่ายคืนให้เขาภายหลัง
บางช่วงที่สามารถเก็บสะสมเงินได้จำนวนหนึ่ง ผมก็นำไปเป็นทุนซื้อพวงกุญแจไหมพรมไปวางขายควบคู่กัน ผมนั่งสูดดมฝุ่นละอองตลอดวัน และยังต้องคอยระวังเทศกิจอยู่บ่อย ๆ แต่ก็ไม่วายถูกจับไปตักเตือนอยู่หลายครั้ง
ช่วงที่ผมกำลังจะขึ้นชั้น ม.6 เส้นทางชีวิตดูเหมือนจะกลับมาราบรื่นอีกครั้ง แต่แล้วไม่นาน ทุกอย่างก็พังครืนลงมาอีก เมื่อจู่ ๆ พ่อก็ชักตัวเกร็งแล้วล้มพับลง ไม่มีใครรู้ว่าพ่อเป็นอะไร พวกเรารีบพาพ่อไปส่งโรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ใกล้บ้าน ภายในห้องฉุกเฉินมีคนไข้นอนรอรับการรักษาอยู่ราว 20 เตียง และหมอก็ต้องตรวจเรียงตามคิว…ทีละเตียง ๆ ซ้ำร้ายหมอและพยาบาลก็มีเพียงแค่ชุดเดียวเท่านั้น ดังนั้นเมื่อถึงคิวของพ่อ…จึงไม่ทันเสียแล้ว อาการเส้นเลือดในสมองแตกได้ขโมยชีวิตพ่อของผมไปต่อหน้าต่อตา
เมื่อพ่อจากไป ลำพังเงินที่แม่ได้จากการเย็บผ้าเพียงเดือนละ 2,000 บาทเท่านั้น ผมจึงต้องหาเงินให้ได้มากขึ้น และยังต้องรับบทหนักในการดูแลน้อง ๆ ทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ผมจะรับจ้างล้างรถในตอนเช้า ก่อนจะออกไปขายเสื้อในตอนบ่าย บางครั้งก็ไปเป็นพนักงานร้านอาหาร หรือแม้แต่รับจ้างตัดหญ้าและขัดห้องน้ำที่บ้านคุณครู ผมก็ทำได้โดยไม่เกี่ยงงอน
ตอนนั้นพวกเราต้องย้ายมาเช่าห้องพักขนาดเล็กใกล้บ้านแทน เป็นห้องสี่เหลี่ยมที่ทั้งเล็กและแคบ พวกเรา 4 คนต้องนอนเบียดเสียดกันจนแทบขยับตัวไม่ได้ แต่โชคยังดีที่ความขยันเรียนของผมช่วยให้แม่คลายทุกข์ลงไปได้บ้าง และในที่สุดผมก็สามารถสอบเอนทรานซ์ติดมหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศได้
หลายคนเข้ามาห้อมล้อมชื่นชมยินดีกับผม แต่ตัวผมเองกลับมีคำถามหนึ่งผุดขึ้นมาในใจว่า ทำไมคนถึงให้ค่ากับชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยถึงเพียงนี้ หากว่าผมสอบไม่ติดที่นี่ แสดงว่าชีวิตของผมคงจะไร้ค่ามากอย่างนั้นหรือ
ผมรู้สึกต่อต้านค่านิยมนี้ของสังคม จึงใช้ชีวิตเหมือนคนไร้จุดหมาย ไม่ตั้งใจเรียน ไม่เข้าเรียน และไม่เข้าสอบ ในช่วงเวลาแห่งความสับสน ผมออกมาตั้งหลักด้วยการเริ่มสอนพิเศษให้เด็กมัธยมในละแวกบ้านที่มีฐานะไม่ค่อยดีนัก โดยคิดค่าสอนเพียงแค่น้อยนิด ผมหวังเพียงอยากให้เด็กเหล่านั้นได้รับโอกาสดี ๆ ในชีวิตและประสบความสำเร็จอย่างที่พวกเขามุ่งหวัง ผมจึงทุ่มเทให้เด็กเหล่านั้นมากกว่าจำนวนเงินที่ได้รับหลายเท่าตัว
ทว่าทุกครั้งที่ผมได้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ ผมกลับมองเห็นคุณค่าในตัวเองชัดเจนมากยิ่งขึ้น…คุณค่าจริงๆ ที่ไม่ต้องอาศัยชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยมาประกาศความสามารถ เมื่อจบปีหนึ่งเทอมแรก ผมตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยเดิม แล้วเริ่มต้นเส้นทางชีวิตใหม่ด้วยการสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง ที่มีอุดมการณ์สอดคล้องกับความคิดของผมมากกว่า
ช่วงเวลาในรั้วมหาวิทยาลัย นอกจากผมจะเรียนอย่างตั้งใจใคร่รู้แล้ว ผมยังเอาจริงเอาจังกับการสอนพิเศษจนกลายเป็นงานหลักอีกอย่างหนึ่งไปด้วย เวลานั้นผมค้นพบความสุขจากทุก ๆ นาทีที่ได้ทำประโยชน์เพื่อคนอื่น แม้สิ่งนั้นจะไม่ได้ช่วยยกฐานะผมขึ้นมาก็ตาม
ในที่สุดผมก็จบมหาวิทยาลัยแห่งนี้ โดยปฏิเสธที่จะเข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรเหมือนกับเพื่อนคนอื่น ๆ เพราะสำหรับผมแล้ว ใบปริญญาไม่ได้มีความหมายอะไรนักเมื่อเทียบกับสิ่งที่ผมได้ทำมาตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้
ทุกวันนี้ผมสามารถเปิดโรงเรียนสอนพิเศษเป็นของตัวเองได้แล้ว เพราะมีคนใจดีเห็นความตั้งใจของผม จึงหยิบยื่นเงินให้ก้อนหนึ่งเพื่อให้ผมได้ทำตามความฝัน โรงเรียนสอนพิเศษของผมมีอุปกรณ์ทุกอย่างที่โรงเรียนสอนพิเศษเขามีกัน และที่สำคัญคือ มีเด็กนักเรียนมาเรียนอย่างล้นหลาม แต่ถึงอย่างนั้นผมยังคงคิดค่าสอนถูกอยู่เหมือนเดิม และบางครั้งผมก็สอนโดยไม่คิดเงิน
แม้ผมจะคิดว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็มีบางคนที่เห็นต่างหลายคนเสียดสีผมว่า อุดมการณ์มันกินไม่อิ่มท้อง บ้างก็ดูแคลนผมว่า หากยังรั้นทำแบบนี้ ต่อไปชาตินี้ทั้งชาติคงไม่มีวันร่ำรวยอย่างใครเขา แต่ผมไม่สนใจ อาจเป็นเพราะผมไม่เคยนึกฝันว่าจะต้องเก็บเงินสร้างอนาคตเพื่อจะได้ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี เป็นเจ้าคนนายคน หรือมีชื่อเสียงโด่งดัง แค่วันนี้ผมสามารถจุนเจือครอบครัวได้ด้วยฝันเล็ก ๆ นี้และสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ได้เจอหน้าแม่และน้องทุกวัน ได้ทำประโยชน์เพื่อคนอื่น แม้ประโยชน์นั้นจะเกิดแค่กับคนคนเดียว…ผมก็อิ่มใจและยินดีที่จะทำ
สำหรับผม “ความดี” ทำที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยใบปริญญามาเป็นเครื่องการันตี ขอเพียงแค่มีใจอยากจะทำเท่านั้นพอ
แง่คิดจากพระมหาวีระพันธ์ ชุติปัญโญ (นามปากกาชุติปัญโญ) วัดป่าอกาลิโก จังหวัดกาฬสินธุ์
ชีวิตที่มีคุณค่า คือชีวิตที่ดำรงอยู่อย่างมีความหมาย ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น มิใช่เป็นชีวิตที่เกิดมาแล้วกอบโกยผลประโยชน์เพื่อให้ตัวเองสุขสบายเพียงฝ่ายเดียว และสิ่งที่ทำให้คนเราแตกต่างกันในด้านคุณค่าแห่งการมีชีวิตอยู่ก็คือ “การรู้จักให้หรือแบ่งปันแก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะมากน้อยเพียงใดก็ตาม”
การให้มิใช่แค่เป็นการช่วยเหลือผู้อื่นให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยเปลี่ยนแปลงตัวเราให้ก้าวไปสู่ชีวิตที่มีความงามในตัวเอง ยิ่งเป็นการให้ที่ไร้เงื่อนไขด้วยแล้ว ยิ่งช่วยปลดปล่อยพันธนาการของใจที่เคยเห็นแก่ตัวให้เบาบางลง เป็นการสร้างพื้นที่ชีวิตให้มีอิสระในการรองรับความสุขที่จะพึงเกิดขึ้นอย่างไม่มีประมาณ ดั่งมหาสมุทรที่เปิดกว้างและพร้อมจะรองรับหยาดน้ำที่ไหลมาจากทิศต่าง ๆ โดยไม่เคยเอ่ยถามว่าสายธาราเหล่านั้นไหลบ่ามาจากทิศทางใด
การให้ที่มาจากใจที่ปรารถนาดีจึงเป็นดั่งมหานทีแห่งความดี ที่พร้อมจะมอบความฉ่ำเย็นเพื่อหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตให้ดำรงอยู่อย่างมีความหวัง และมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายเสมอ ที่สำคัญการให้ที่มาจากใจที่บริสุทธิ์ย่อมนำพาความสุขแท้มาโอบกอดใจเราให้รู้สึกอบอุ่นอยู่เป็นนิจ ไม่ว่าห้วงแห่งเวลานั้นจะหมุนเปลี่ยนไปสู่ฤดูกาลเช่นใด
ที่มา : นิตยสารซีเคร็ต
ภาพ : แบบและเหตุการณ์จำลอง
บทความน่าสนใจ
สาวปริญญาตรี กวาดถนน อาชีพสุจริต ไม่แคร์ระดับความรู้
ผมเชื่อว่าความลำบากทำให้เรา “เติบโต” เฟิสท์ - เอกพงศ์ จงเกษกรณ์
ไข่มุก ชุติมา ดุรงค์เดช กล้าที่จะ”ฝัน”และทำมันให้เป็น “จริง”
ชีวิตนี้มีแต่ “ให้” ของ ติ๊ก ชิโร่ มนัสวิน นันทเสน (1)
ชีวิตนี้มีแต่ “ให้” ของ ติ๊ก ชิโร่ มนัสวิน นันทเสน (จบ)
7 เรื่องราวที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับบิล เกตส์
มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก มหาเศรษฐีที่เห็นคุณค่าของคนมากกว่าเงินทอง