หัวใจแห่งการรับใช้เพื่อนมนุษย์

หัวใจแห่งการรับใช้เพื่อนมนุษย์ บทความธรรมะดี ๆ โดย ท่าน ว.วชิรเมธี

หัวใจแห่งการรับใช้เพื่อนมนุษย์  โดย ท่าน ว.วชิรเมธี

เราเคยสังเกตบ้างหรือไม่ว่า ทำไมคนอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ คนอย่าง แม่ชีเทเรซา คนอย่าง ทอมัส แอลวา เอดิสัน คนอย่าง เอบราแฮม ลิงคอล์น คนอย่าง พระพุทธเจ้าพระเยซู หรือคนอย่าง มหาตมาคานธี หรือ องค์ทะไลลามะจึงได้รับความรักความนับถือจากคนทั่วโลก

ชื่อของบุคคลที่กล่าวมานี้ ถูกเอ่ยอ้างถึงมาอย่างยาวนานและคงจะเป็นเช่นนั้นอยู่ตลอดไปในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้บุคคลที่กล่าวมากลายเป็นบุคคลสำคัญของโลก  หรือกลายเป็น “บุคคลผู้เป็นแรงบันดาลใจ” ให้กับคนร่วมยุคสมัยและคนรุ่นหลังมาอย่างต่อเนื่องยาวนานข้ามกาลเวลา

คำตอบ (ซึ่งมีได้หลายนัย) หนึ่งซึ่งขอนำเสนอไว้ในที่นี้ก็คือ การที่บุคคลดังกล่าวมาข้างต้นกลายเป็นบุคคลสำคัญของโลกที่ส่งอิทธิพลอย่างกว้างไกลไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์ นั่นเป็นเพราะว่าบุคคลเหล่านั้นล้วน “เบิกบานกับการรับใช้เพื่อนมนุษย์”โดยถือหลัก “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์มาก่อนประโยชน์ส่วนตัว” นั่นเอง

ไอน์สไตน์ เคยได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศอิสราเอลแต่เขาปฏิเสธ เพราะต้องการอุทิศตนให้กับการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์

แม่ชีเทเรซา เคยสอนอยู่ในโรงเรียนชั้นนำ แต่แล้วกลับทอดทิ้งความสะดวกสบายในรั้วโรงเรียนไปอยู่กับผู้ป่วยโรคเรื้อน

เอดิสัน ก็เคยถูกทอดทิ้ง เพราะเขาผิดหวังจากการวิจัยนับครั้งไม่ถ้วน แต่เขาไม่เคยล้มเลิกกลางคัน จนในที่สุดหลังการทดลองนับหมื่นครั้ง จึงค้นพบวิธีผลิตไส้หลอดไฟที่ให้แสงสว่างยาวนานอันเป็นต้นแบบของหลอดไฟทุกวันนี้ ในวันที่เขาเสียชีวิต บางรัฐในสหรัฐอเมริกาถึงกับปิดไฟทั้งเมืองเพื่อไว้อาลัยและให้เกียรติเขา

เอบราแฮม ลิงคอล์น ดำเนินนโยบายเลิกทาสเพื่อปลดแอกมนุษยชาติจากความอยุติธรรมทางสังคม แม้ในตอนปลายของชีวิตจะถูกลอบสังหาร แต่เขาก็นำสังคมอเมริกันก้าวสู่ยุคสว่างเรืองรอง ทำให้ทาสนับล้านคนได้รับอิสรภาพ และประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกาหยั่งรากลึกจนมั่นคงสืบมาถึงทุกวันนี้

พระพุทธเจ้า พระเยซู ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ทั้งสองพระองค์ที่มีทรงวางชีวิตลงเป็นเดิมพันเพื่อมอบแสงสว่างทางปัญญาและจิตวิญญาณให้กับมนุษยชาติ แม้จนนาทีสุดท้ายพระพุทธองค์ก็ยังทรงสอนศิษย์ที่มาขอฟังธรรม ส่วนพระเยซูเจ้านั้น แม้จะถูกตรึงอยู่บนกางเขน พระองค์ก็ยังทรงเทศนาเรื่องความรักอันไร้ขีดจำกัด การทรงสละพระองค์เองเพื่อปลุกมนุษยชาติให้ตื่นจากความหลับใหล นั่นแหละคือความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่มีต่อมนุษยชาติ    มหาตมาคานธี ก็สู้สละความสะดวกสบายส่วนตนทุกประการเพื่ออุทิศศักยภาพทั้งหมดให้กับการกู้เอกราชของอินเดีย

องค์ทะไลลามะ ทรงเดินทางไปกล่าวสุนทรพจน์ทั่วโลก เพื่อป่าวประกาศให้โลกรู้ว่าประชาชนในประเทศของพระองค์ถูก “กระทำ”อย่างไร้มนุษยธรรมจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร แม้จะต้องทรงเดินทางตลอดชีวิตเหนื่อยหนักหนาสาหัสแค่ไหน พระองค์ก็ยังไม่ยอมหยุดภารกิจที่ทรงถือปฏิบัติตลอดมา ในฐานะที่ทรงเป็น “กระบอกเสียงของผู้ทุกข์ยาก” นับแสนนับล้าน

การเป็นคนของโลกไม่ได้เกิดจากโชคช่วย แต่เป็นเพราะบุคคลเหล่านั้นล้วนอุทิศตนช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์อย่างบริสุทธิ์ใจ อย่างต่อเนื่องและอย่างยาวนาน

โลกของเราดีขึ้น น่าอยู่ขึ้น ก็เพราะบุคคลที่ทอดตนลงเป็นสะพานให้เพื่อนมนุษย์ได้ก้าวข้ามไป

เราทุกคนก็สามารถเป็นคนของโลกได้ขอเพียงแค่เราถือคติ “ส่วนไหน ๆ ก็ไม่ยิ่งใหญ่เท่าส่วนรวม”

ส่วนในทางปฏิบัติ ขอเพียงเราถือคติ “ขอให้เธอเบิกบานกับการรับใช้เพื่อนมนุษย์”เพียงถือปฏิบัติตามหลักสองประการนี้เท่านั้นเราก็กำลังดำเนินอยู่บนหนทางของมหาบุรุษแล้ว

ชีวิตของเราทุกคนล้วนดำรงอยู่ได้เพราะอิงอาศัยคนอื่นสิ่งอื่นอย่างมากมายนับไม่ถ้วนชีวิตที่เราได้มา บ้านที่เราอาศัย เสื้อผ้าอาภรณ์ที่เรานุ่งห่ม อาหารที่เรารับประทาน อากาศที่เราหายใจ ความรู้ที่เราได้รับ เก้าอี้ที่เราได้นั่ง โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ที่เราได้ใช้ ฯลฯ หากปราศจากการช่วยเหลือเกื้อกูลของคนอื่นหากปราศจากความลำบากตรากตรำของคนอื่นอีกนับหมื่นนับแสนนับล้าน ไหนเลยเราจะมีชีวิตที่สะดวกสบายเหมือนทุกวันนี้

ชีวิตของเราล้วนเชื่อมโยงกับคนอื่นสิ่งอื่นมากมายในลักษณะ “สรรพสิ่งล้วนอิงอาศัยกัน” ดังกวีนิพนธ์ที่ว่า “เราต่างมีกันและกันในสรรพ์สิ่ง เราต่างอิงองค์อื่นอีกหมื่นหมายเราต่างถ้อยธำรงจึงทรงกายเราต่างคล้ายเป็นส่วนหนึ่งที่ถึงกัน…”

คนอื่นให้เรามามากมาย สิ่งอื่นให้เรามานับไม่ถ้วน แล้วเราเล่าจะให้คืนกับคนอื่นสิ่งอื่นได้อย่างไร หรือเราเกิดมาเพียงเพื่อ “ประโยชน์ของตัวเอง” ล้วน ๆ แล้วก็จากไปเท่านั้น ในหนังสือรวมกวีนิพนธ์ จักรวาลในถ้วยชา

เราแต่ละคนได้รับอะไรต่อมิอะไรมามากแล้ว เราควรจะถามตัวเองว่า เราจะคืนให้กับโลกนี้ได้อย่างไร เราจะเป็นผู้ให้แก่สังคมได้อย่างไร อย่ารอให้ตัวเองถึงพร้อมจึงจะเป็นผู้ให้ เราควรจะให้เท่าที่เราทำได้ตั้งแต่วันนี้ เหมือนพระโพธิสัตว์ยินดีช่วยเหลือคนโดยไม่ต้องรอให้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียก่อน เพราะหากเรารอให้ตัวเองสมบูรณ์เสียก่อน แต่วันนั้นกลับมาไม่ถึง เราก็คงไม่ได้คืนอะไรให้กับสังคมและโลกนี้เลย

ทุกครั้งทุกขณะที่เราได้รับอะไรมาสักอย่างหนึ่ง เราควรถามตัวเองว่า เราจะคืนให้กับผู้ที่ให้เราได้อย่างไร

 

เรื่อง ท่าน ว.วชิรเมธี 

photo by Ben_Kerckx on pixabay

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.