พระนางสามาวดี

พระนางสามาวดี นางผู้ถูกเผาทั้งเป็นด้วยกรรมเก่า

พระนางสามาวดี นางผู้ถูกเผาทั้งเป็นด้วย กรรมเก่า

พระนางสามาวดี สตรีนางนี้แม้จะอยู่ในวรรณะกษัตริย์ ได้รับการยกย่องให้เป็นเอตทัคคะผู้อยู่ด้วยเมตตา แต่นางก็ไม่อาจหลีกเลี่ยง กรรมเก่า ในอดีตชาติได้

 

ธิดาเศรษฐีแห่งเมืองภัททวดีย์

นางสามาวดีเป็นธิดารูปงามของภัททวดีย์เศรษฐีแห่งเมืองภัททวดีย์ เมื่อครั้งเกิดโรคอหิวาต์ระบาดอย่างหนัก ผู้คนในเมืองล้มตายเป็นจำนวนมาก ภัททวดีย์เศรษฐีจึงตัดสินใจพาบุตรสาวและภรรยาหนีไปตายดาบหน้า หวังพึ่พิงโฆสกเศรษฐีแห่งเมืองโกสัมพีผู้เป็นสหาย

ทว่าโชคชะตากลับเล่นตลก เพียงเพราะความกตัญญูอย่างสูงต่อบิดามารดา นางสามาวดียอมสละอาหารในส่วนของนางให้ท่านทั้งสองได้กินอย่างเต็มที่ ผลจากการบริโภคเกินพอดีทำให้ร่างกายย่อยอาหารไม่ทัน บิดาและมารดาจึงเสียชีวิตในที่สุด ทิ้งให้บุตรสาวกลายเป็นกำพร้าไป ภายหลังเมื่อโฆสกเศรษฐีทราบเรื่องที่เกิดกับภัททวดีย์เศรษฐีผู้เป็นสหาย ด้วยความสงสารและเอ็นดูนางสามาวดียิ่งนัก จึงขอรับนางสามาวดีเป็นบุตรบุญธรรม พร้อมทั้งมอบหญิงบริวารให้อีก500คน

 

ก้าวสู่ตำแหน่งพระอัครมเหสีพระเจ้าอุเทน

วันหนึ่งนางสามาวดีพร้อมบริวารพากันไปเที่ยวงานเทศกาลรื่นเริงของเมืองโกสัมพี ความงามของนางทำให้พระเจ้าอุเทนเจ้าผู้ครองนครโกสัมพีถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับด้วยความเสน่หา เพียงรุ่งเช้าก็มีพระราชสาสน์ไปสู่ขอนางสามาวดีกับโฆสกเศรษฐี ซึ่งนางก็มิได้ขัดข้อง ด้วยถือเป็นการแทนคุณบิดาบุญธรรม ด้วยเหตุนี้พระเจ้าอุเทนจึงแต่งตั้งให้นางเป็นพระนางสามาวดีพระอัครมเหสีแห่งนครโกสัมพี

 

พระนางสามาวดี
นางขุชชุตตราถ่ายทอดธรรมะที่ฟังมาจากพระพุทธเจ้าให้พระนางสามาวดีสดับ

 

สดับธรรมพระตถาคตผ่านนางค่อมขุชตตรา

วันหนึ่งพระนางสามาวดีได้ทราบความอัศจรรย์ของพระธรรมเทศนาที่ทำให้นางขุชชุตตรา หญิงรับใช้ร่างอัปลักษณ์กลับตัวกลับใจจากการทำบาป พระนางจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธองค์ยิ่งนัก ถึงกับร้องขอให้นางขุชชุตตราแสดงธรรมตามที่ฟังมาให้นางฟังบ้าง ในทันทีที่นางขุชชุตตรามาถึง พระนางได้ยกพระแท่นให้นางขุชชุตตรานั่งประทานผ้านุ่ง แพรพรรณให้ใหม่ เพื่อเป็นการแสดงคารวะอย่างสูง และเมื่อพระนางสามาวดีและสาวใช้บริวารทั้ง500คน ได้ฟังธรรมจบ ทั้งหมดก็บรรลุโสดาบันพร้อมกัน

 ด้วยความอิ่มเอิบใจและเลื่อมใสในพระธรรม นับแต่นั้นมาพระนางสามาวดีและเหล่าบริวารทั้ง500นาง จึงพร้อมใจกันถือศีลปฏิบัติธรรม นอกจากนี้พระนางสามาวดียังได้มอบหมายให้นางขุชชุตตราไปฟังธรรมทุกวัน เพื่อกลับมาแสดงธรรมให้พระนางและบริวารฟังด้วย

 

พระสามาวดี
พระนางสามาวดีเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

 

พระนางมาคันทิยา ผู้ถูกผลาญเผาตนเองด้วยเพลิงริษยา

ต่อมาพระเจ้าอุเทนได้แต่งตั้งพระนางวาสุลทัตตาเป็นมเหสีองค์ที่สอง และพระนางมาคันทิยาเป็นมเหสีองค์ที่สามทว่า พระมเหสีองค์หลังมีความอาฆาตแค้นในพระพุทธองค์มาก่อน เมื่อรู้ว่าพระนางสามาวดีมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธองค์ก็เกิดความไม่พอใจ คิดหาอุบายกำจัดพระนางสามาวดี กุเรื่องขึ้นใส่ความหลายครั้ง จนถึงขั้นใส่ร้ายว่าพระนางสามาวดีมีใจฝักใฝ่ในพระพุทธองค์และคิดจะปลงพระชนม์พระเจ้าอุเทน

ท้ายที่สุดพระเจ้าอุเทนทรงคล้อยตาม และมีรับสั่งให้ประหารชีวิตพระนางสามาวดีพร้อมบริวารด้วยพระองค์เอง ทว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่เพียงแค่ง้างศรออก พระองค์กลับสัมผัสถึงความดีงามของพระนางสามาวดี จึงก้มลงกราบขอโทษพระนางแทบพระบาทและปวารณาตนเข้าสู่บวรพุทธศาสนา รักษาศีล ฟังธรรม เช่นพระนางสามาวดี

 

พระนางสามาวดี
ครั้งหนึ่งบิดาเคยยกพระนางมาคันทิยาถวายแด่พระพุทธเจ้า

 

พระนางมาคันทิยาก่อเพลิงเผาพระตำหนักพระนางสามาวดี

ความเปลี่ยนแปลงนี้ได้เพิ่มความเคียดแค้นให้พระนางมาคันทิยามากยิ่งขึ้น จนวันหนึ่งนางได้วางแผนเผาพระนางสามาวดีพร้อมบริวารทั้งเป็น พระนางสามาวดีนั้นแม้จะเห็นเปลวเพลิงกำลังลุกลามเข้ามาใกล้ก็มิได้ทรงหวั่นไหว กลับรับสั่งให้เหล่าบริวารตั้งจิตเจริญเมตตา แม้ท้ายที่สุดทั้งหมดจะจบชีวิตลงในกองไฟ…แต่ก็ต่างบรรลุธรรมขั้นสูงไปตามๆกัน

เหตุแห่งการตายของพระนางสามาวดีนี้สืบเนื่องด้วยกรรมเก่าเมื่อครั้งอดีตกาลที่พระนางและเหล่าบริวารทั้ง500คนพากันสุมไฟขึ้นเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ครั้นพอไฟมอดลงจึงทราบว่านางได้เผาพระปัจเจกพุทธะซึ่งกำลังเข้าสมาธิอยู่ในพงหญ้าไปด้วยพระองค์หนึ่ง และด้วยความหวาดกลัว พวกนางจึงช่วยกันสุมไฟอีกครั้งให้แรงยิ่งขึ้นเพื่อจะได้ทำลายหลักฐานให้สิ้นซาก ก่อนจะพากันกลับเข้าเมือง

ผลกรรมในครั้งนั้นทำให้พระนางสามาวดีและบริวาร500คน ต้องถูกไฟนรกเผาไหม้อยู่หลายพันปีและเมื่อพ้นจากนรกก็ยังต้องถูกเผาทั้งเป็นอีก100ชาติ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือจุดจบกลางกองเพลิงด้วยน้ำมือของพระนางมาคันทิยา…ดังความที่เล่ามานี้

 เรื่อง วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์

ภาพ : http://www.dhammajak.net

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.