ในวันที่ ทุ่งกุลา ไม่ร้องไห้ | เรื่องจริงของชายหนุ่มผู้จุดประกายความหวังให้พี่น้องชาวนา
ทุ่งกุลา ร้องไห้ซึ่งกินพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคอีสาน เคยเป็นภาพสัญลักษณ์ของความ
แห้งแล้ง ยากจน แต่วันนี้ทุ่งกุลาร้องไห้คือพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่มีรสชาติอร่อย
หวาน หอม นุ่มลิ้น ไม่มีที่ใดเหมือน
สมัยผมเป็นเด็ก ครอบครัวของเรายากจนมาก มากถึงขนาดไม่มีบ้านและที่นาเป็นของตัวเอง พ่อกับแม่ต้องต่อเพิงสังกะสีเล็ก ๆ ข้างยุ้งข้าวของปู่เป็นที่อาศัยของครอบครัวที่มีลูกอีก 5 คน ผมเป็นลูกคนสุดท้องและเป็นลูกหลง อายุห่างกับพี่คนโตหลายปี
หมู่บ้านที่ผมอยู่อาศัยเป็นหมู่บ้านกลางทุ่งกุลาร้องไห้ ทุกเช้าพี่ ๆ ของผมจะถือจอบถือไม้ออกไปขุดเขียดอีโม่ตามร่องดินที่แตกระแหงเพื่อนำกลับมาเป็นอาหารหลักของครอบครัว การกินอยู่ของพวกเราในยุคนั้นแร้นแค้นมาก มื้อหนึ่ง ๆ ของพวกเราวนเวียนอยู่แต่กับข้าวเหนียวปั้นโตกับเขียดปิ้งหนึ่งตัว หากวันไหนมีไข่ต้ม เรียกได้ว่าเป็นอาหารจากสวรรค์เลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ผมและเพื่อน ๆ ลูกชาวนาจึงเป็นโรคขาดสารอาหารและเป็นโรคพยาธิกันมาก
ในความทรงจำของผมมีแต่ภาพพ่อกับแม่ที่ตรากตรำทำงานหนัก แม้วันหนึ่งเรามีที่นาเป็นของตัวเอง 4 ไร่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอเลี้ยงลูก เพราะข้าวที่ขายราคาถูก เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ชาวนาเกี่ยวข้าวพร้อมกัน ทำให้พ่อค้าคนกลางกดราคาได้ตามสบาย ผมยังจำภาพของพ่อที่ยกมือท่วมหัวเพื่อขอให้นายท่าข้าวเพิ่มราคาซื้อขายข้าวขึ้นมาอีก 1 บาท และไม่ว่าจะอ้อนวอนร้องขอสักแค่ไหนก็ไม่สำเร็จ
เมื่อผมโตขึ้น ตั้งแต่เรียนชั้นประถมผมก็ช่วยแม่หารายได้ด้วยการเก็บพุทราและมะยมมาให้แม่เชื่อม แล้วนำไปเดินขายในโรงเรียน ทุกวันผมจะนำเงินที่ได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ใส่กระเป๋ากางเกงและมัดอย่างดีนำกลับไปให้แม่ทั้งหมด โดยไม่นำไปใช้แม้แต่บาทเดียว
ครอบครัวเราต่อสู้ชีวิตแบบวันต่อวันเมื่อลูกโตขึ้น ค่าใช้จ่ายก็มากขึ้น พ่อกับแม่จึงพาครอบครัวระเหเร่ร่อนเดินทางไปทำงานก่อสร้างราว 3 ปี ต่อมาก็พาครอบครัวไปปักหลักอยู่ที่จังหวัดระยอง พ่อทำอาชีพขายไอศกรีม แต่ทำได้ไม่นานก็ประสบอุบัติเหตุโดนรถชนบาดเจ็บสาหัส จนทำให้ขาข้างหนึ่งเกือบพิการ
ช่วงนั้นครอบครัวของเราลำบากเป็นทวีคูณ เมื่อไม่มีพ่อหาเลี้ยงครอบครัว แม่ก็ไม่สามารถดูแลลูก ๆ ทั้งห้าคนได้ เราจึงตัดสินใจไปตั้งหลักที่บ้านเกิดอีกครั้ง พี่ของผมที่โตแล้วกระเสือกกระสนไปหางานทำที่กรุงเทพฯเพื่อส่งตัวเองเรียนและส่งเงินมาให้พ่อแม่ใช้จ่าย
ชีวิตครอบครัวที่เป็นอยู่ตอกย้ำลงในหัวใจของผมว่า วันหนึ่งผมจะต้องดูแลพวกเขาให้ได้ ตอนนั้นแม้จะอายุแค่ 7 ขวบ แต่ผมก็พยายามตั้งใจเรียนเพื่อให้ได้ทุนการศึกษา ซึ่งก็ได้ทุนเรียนฟรีตั้งแต่ประถมจนจบชั้นมัธยม และได้เงินประจำเดือนเดือนละ 1,000 บาทจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
สาเหตุที่ทำให้ผลการเรียนของผมค่อนข้างดี เพราะนอกจากขยันเรียนแล้วยังเกิดจากที่ผมเป็นคนรักการอ่าน ระหว่างพาวัวไปเลี้ยงกลางทุ่ง ผมนำนิตยสารแม็ค หนังสือติวข้อสอบที่คนกรุงเทพฯบริจาคมาให้ห้องสมุดของโรงเรียน ใส่ย่ามไปอ่านด้วยสงสัยเรื่องไหน ผมจะมาถามครูในเวลาเรียน
ต่อมาผมได้เป็นตัวแทนโรงเรียนตัวแทนจังหวัด และตัวแทนของภาคในการแข่งขันทักษะทางวิชาการ ทั้งวิชาวิทยาศาสตร์สังคม กฎหมาย โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษเคยได้รับรางวัลเหรียญทองแดงระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (English Talent)
ปณิธานของลูกชาวนา
หลังเรียนจบมัธยมปลาย ชะตาชีวิตของผมก็สู่วังวนเดิม คือพ่อแม่ยากจนเกินกว่าที่จะส่งลูกเรียนต่อได้ ผมร้องไห้ด้วยความเสียใจ เพราะฝันอยากเป็นหมอหรือไม่ก็วิศวกร ในความอับจนหนทางนั้น โชคดีที่มีเศรษฐีค้าปุ๋ยและวัสดุก่อสร้างประจำอำเภอเห็นความตั้งใจของผม ท่านเคยให้ทุนการศึกษาผมมาก่อน เมื่อรู้ว่าผมอยากเรียนต่อแต่ไม่มีทุน ท่านก็ยื่นมือมาช่วยโดยให้ค่าเทอมและค่าใช้จ่ายทั้งหมดแบบไม่คิดหวังผลตอบแทนใด ๆ
ผมสอบติดโควตาช้างเผือก สาขาวิศวกรรมเคมีที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หลังจากเรียนได้ 1 เทอม ผมก็ขอรับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นทุนต่อเนื่องครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดจนจบปริญญาตรี ทำให้ผมไม่ต้องรบกวนผู้มีอุปการคุณจากบ้านเกิดอีก
ในขณะที่เรียนปริญญาตรี ผมทำงานพิเศษหลังเลิกเรียนและในวันหยุดไปด้วยเพื่อเก็บเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่งให้พ่อแม่ใช้จ่ายผมคิดเสมอว่า ผมจะนำความรู้ที่ได้รับไปตอบแทนบุญคุณแผ่นดินบ้านเกิด ต้องทำประโยชน์ให้กับชาวนาและชุมชนที่ผมเติบโตมา แทนที่จะนำไปเป็นหลักประกันสร้างรายได้ให้ตัวเองเท่านั้น
กลับมาเป็นชาวนา (อีกครั้ง)
เมื่อเรียนจบ ผมมุ่งหน้ากลับบ้านเกิดทันที ตั้งใจนำความรู้ที่มีมาพัฒนาข้าวและบุกเบิกธุรกิจข้าวเพื่อสุขภาพในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเป็นต้นแบบของชาวนาในชุมชนในการปลูกข้าวอินทรีย์
วันแรกที่เล่าความตั้งใจนี้ให้ครอบครัวฟัง ไม่มีใครเห็นด้วยกับผมแม้แต่คนเดียวทุกคนคัดค้านเพราะเสียดายความรู้ด้านวิศวะเคมีที่ผมร่ำเรียนมา โดยเฉพาะแม่ที่ไม่อยากเห็นลูกต้องมาลำบากตรากตรำทำนาเหมือนตนท่านจึงคัดค้านด้วยน้ำตาว่า
“ตระกูลของแม่ทำนามาตั้งแต่ต้นตระกูล ไม่เคยมีใครได้เป็นเถ้าแก่หรือเจ้าคนนายคน ถ้ามึงจะกลับบ้านมาทำนาก็ไม่ต้องมาเรียกข้าว่าแม่อีก”
ผมยิ้มรับและก้มกราบเท้าแม่ พร้อมบอกว่า
“ความเป็นลูกของผมนั้นตัดขาดจากแม่ไม่ได้ ผมยังคงผูกพันกตัญญูกับแม่เสมอความตั้งใจนี้เป็นความตั้งใจสุจริตที่จะไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร ขอให้แม่มั่นใจว่าผมจะทำในสิ่งที่ดี”
ผมเชื่อว่าวันหนึ่งแม่คงจะเข้าใจ และโชคดีที่พ่อคอยอยู่เคียงข้างผมมาโดยตลอด
บุกเบิกฝ่าฟันเพื่อข้าวอินทรีย์
การจะทำข้าวอินทรีย์ต้องมีเงินทุนซึ่งผมไม่มีเลย จึงสอบทำงานเป็นวิศวกรแต่กว่าบริษัทจะเรียกตัวก็นานนับเดือน ผมต้องรับเป็นติวเตอร์ สะพายกล่องโฟมขายแซนด์วิชตามป้ายรถเมล์และในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ตกค่ำก็ไปทำธุรกิจขายตรง เก็บหอมรอมริบทุกบาททุกสตางค์เพื่อใช้เป็นเงินทุน หลังจากนั้นก็นำเงินที่รวบรวมได้กับเงินส่วนหนึ่งที่ยืมมาจากพี่สาว ไปเช่าเครื่องมือและสถานที่ของคณะวิศวกรรมอาหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผลิตข้าวกล้องออร์แกนิกเนเจอร์ฟู้ด ข้าวจากนาของชุมชนเราเองออกจำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรง
ตอนนั้นมีเงินทุนไม่มาก จึงต้องทำเองทุกอย่าง ทั้งแบกข้าวสาร แพ็คข้าวรวมถึงนำไปขาย หาตลาด ตลอดจนวิจัยผลิตภัณฑ์ ผมเลิกเช่าหอพัก แต่ไปนอนที่ห้องเก็บของในหอพักของมหาวิทยาลัยแทน เดินทางไปไหนมาไหนก็อาศัยรถไฟฟรีจากลาดกระบังเข้ามาในกรุงเทพฯ
ในที่สุดความพยายามของผมก็ประสบผล ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวออร์แกนิกจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมอาหารที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้เป็นข้าว Vegi -Mix Organic และข้าวหุ่นเพรียว Smart Diet Rice และล่าสุดข้าวในชุมชนของผมก็ได้รับเลือกให้จัดจำหน่ายในแบรนด์ “นายอินทร์” ซึ่งวางขายในร้านนายอินทร์อีกด้วย
ผมคิดว่า สิ่งที่ผมทำเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่จุดประกายความหวังให้กับพี่น้องชาวนาได้บ้างสองปีที่ผ่านมา แม้ว่าธุรกิจข้าวเพื่อชุมชนจะไม่เจริญเติบโตมากนัก แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้คนในชุมชนเห็นว่า อาชีพชาวนาเป็นอาชีพที่มั่นคงเลี้ยงตัวเองได้ โดยไม่ต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ทิ้งลูกทิ้งเมียมาใช้แรงงานในเมืองใหญ่
แม้หนทางข้างหน้าจะเต็มไปด้วยขวากหนามแค่ไหน แต่ผมมีจุดหมายเดียวคือ จะกตัญญูต่อแผ่นดินเกิดและทำให้ชุมชนที่ผมอยู่มีความสุข ผมจะขอเป็นก้อนอิฐก้อนแรกเพื่อต่อเติมกำแพงนี้ให้สมบูรณ์ครับ
ความเห็นจากพระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ
คนบางคนเกิดมาเพื่อทำร้ายทำลายตน คนบางคนเกิดมาเพื่อทำร้ายทำลายตนและสังคม คนบางคนเกิดมาเพื่อพัฒนาตนคนบางคนเกิดมาเพื่อพัฒนาตนและสังคม
เมื่อแรกเกิด ทุกคนมีชนกกรรมอันเป็นกรรมเก่านำมาเกิด จะเกิดในครอบครัวใด อยู่ในสถานะใด เป็นหญิงหรือชาย รูปร่างสมประกอบหรือพิการ เกิดในถิ่นฐานใด เป็นผลมาจากกรรมเก่าในอดีตชาติส่งมาทั้งสิ้น เมื่อเกิดมาแล้วกรรมดีที่เคยทำไว้ก็ส่งผลเกื้อกูลในทางที่เป็นคุณ เช่นเดียวกับกรรมชั่วที่เคยทำไว้ก็ส่งผลในทางที่เป็นโทษ เป็นเช่นนี้เหมือนกันหมดทุกคน
แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากรรมในชาติปัจจุบันที่แต่ละคนทำให้กับตัวเอง ซึ่งสามารถพลิกผันชีวิตของตนได้ ทั้งในทางร้ายและดี ผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในความเห็นถูกมีศรัทธาที่จะทำความดีให้เกิดขึ้นทั้งต่อตนเองและผู้อื่น มุ่งมั่นไม่ท้อถอยแม้จะเผชิญกับความทุกข์ยากและอุปสรรคนานัปการ หากไม่ทิ้งปณิธานและความเพียรแล้ว ความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นได้
การพลิกฟื้นทุ่งกุลาร้องไห้ ดินแดนที่แห้งแล้งกันดารให้กลับเป็นแผ่นดินที่มีคุณค่า เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิ ข้าวออร์แกนิกอันเลิศด้วยรสและสุขอนามัย เป็นนวัตกรรมอันล้ำเลิศที่ยังประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเหลือคณานับ
สังคมต้องการคนเช่น คุณมานพแก้วโกย วีรบุรุษแห่งทุ่งกุลาร้องไห้
ความดีที่ทำย่อมนำผล ดีเพื่อตนชื่นชมเพียงลมผ่าน
ดีเกื้อกูลมหาชนคนจดจาร กล่าวขานกว้างไกลไปทั่วแดน
เรื่อง มานพ แก้วโกย
เรียบเรียง เสาวลักษณ์ ศรีสุวรรณ
ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี
ที่มา : นิตยสาร Secret ฉบับที่ 158
บทความที่น่าสนใจ
พิการเพียงกายแต่ใจไม่พิการ เรื่องจริงของคนไม่สมบูรณ์พร้อม แต่ไม่ขอยอมแพ้
ป่วยกายแต่ไม่ป่วยใจ เรื่องจริงของสุดยอดคุณแม่ ผู้พิชิตมะเร็งเต้านม