6 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ พระสังฆราช
1.ความเป็นมาของตำแหน่งสมเด็จ พระสังฆราช
คำว่า “สังฆราช” ปรากฏเป็นหลักฐานครั้งแรกในศิลาจารึกหลักที่ 1 จารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า “ราชทินนามและสมณศักดิ์พระสงฆ์ที่ปรากฏในจารึกแต่ครั้งสมัยสุโขทัย เช่น สังฆราช ปู่ครู น่าจะเป็นแบบแผนจากลัทธิสงฆ์ของลังกาทวีป”
สมัยกรุงศรีอยุธยามีการเพิ่มคำว่า “สมเด็จ” อันเป็นคำยืมภาษาเขมรลงไป จึงได้เป็นคำว่า “สมเด็จพระสังฆราช” ใช้เป็นสมณศักดิ์สูงสุดของพระสงฆ์ไทยสืบเนื่องมาแต่บัดนั้น
2.ราชทินนามพิเศษ
ราชทินนาม “สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” เป็นราชทินนามพิเศษ ที่สถาปนาขึ้นเพื่อเป็นพระเกียรติคุณทางวิปัสสนาธุระของสมเด็จพระสังฆราช โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกที่มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ แต่กลับได้รับพระราชทานสถาปนาในราชทินนามพิเศษนี้ ต่างจากสมเด็จพระสังฆราชพระองค์อื่นๆ ที่ล้วนได้รับพระราชทานสถาปนาในราชทินนามสำหรับตำแหน่งว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” เหมือนกันทุกพระองค์
3.พระสังฆราชกับวัดมหาธาตุ
ในอดีตหากพระสงฆ์รูปใดได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชจะต้องแห่มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ ซึ่งในขณะนั้นมีชื่อว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสมัยของสมเด็จพระสังฆราช (นาค) องค์ที่ 6 ซึ่งพระองค์มิได้สถิต ณ วัดมหาธาตุตามธรรมเนียมปฏิบัติ เนื่องจากขณะนั้นวัดมหาธาตุอยู่ระหว่างการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่พระสังฆราช (นาค) จึงสถิต ณ วัดราชบุรณะจนถึงสิ้นพระชนม์ ธรรมเนียมการแห่สมเด็จพระสังฆราชมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ จึงยกเลิกไป นับแต่นั้นมา หากสมเด็จพระสังฆราชเคยสถิตอยู่พระอารามใด ครั้งที่ยังไม่ได้รับสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช ก็ให้สถิต ณ พระอารามนั้นต่อไป
4.ความสงบเสงี่ยมของสมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ทรงเป็นพระเถระที่สงบเสงี่ยม สำรวมระวัง ตรัสน้อย และไม่ชอบแสดงตน บางครั้งมีผู้กล่าวถึง พระองค์ว่า เป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทราบจะทรงแนะว่า ไม่ควรกล่าวเช่นนั้น เพราะ “ใคร ๆ ไม่ควรที่จะอวดอ้างตนว่าเป็นครูอาจารย์ของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทุกคนมีหน้าที่ ต้องถวายงานสนองพระราชประสงค์เท่านั้น”
5.พระจริยวัตรและปฏิปทาที่เป็นแบบอย่างของสมเด็จพระญาณสังวร
พระ ดร.อนิล ธมฺมสากิโย (ศากยะ) ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กล่าวว่า
“กิจวัตรประจำวันของพระองค์ท่านคือ ตื่นบรรทมตอนตีสามครึ่งทำวัตรเช้าแล้วออกบิณฑบาต อาตมาเองเคยตั้งใจจะตื่นให้ทันตามเสด็จถึงขนาดนอนกั้นหน้าประตู แต่ก็ไม่เคยตื่นทันพระองค์เลย เพราะทรงไม่กล้าปลุกด้วยความเกรงใจ ทุกวันนี้อาตมายังไม่รู้เลยว่าพระองค์ทรงเดินเลี่ยงอาตมาไปได้อย่างไร
“ในแต่ละวันภารกิจของพระองค์ล้วนเป็นไปเพื่อส่วนรวมทั้งสิ้น บางวันมีหมายกำหนดงานยาวเหยียด แต่พระองค์ก็พยายามไปให้ได้ครบทุกงาน โปรดให้ญาติโยมเข้าเฝ้าจนครบ…จึงเป็นอันแล้วเสร็จกิจในวันหนึ่ง
“อาตมาเคยทูลถามเจ้าพระคุณสมเด็จฯว่า ทำไมต้องรับงานมากขนาดนี้ ท่านรับสั่งกลับมาเพียงสั้นๆ ว่า ‘ที่นี่ (อาตมา) เป็นพระของประชาชน’ เมื่อเขาต้องการความช่วยเหลือจากเรา เราก็ต้องช่วย บางวันกลับจากปฏิบัติภารกิจ อาตมาเคยเห็นท่านนั่งหมดแรง แต่ก็ไม่เคยมีเสียงบ่นหรืออะไรเลย กลับเป็นห่วงเราเสียอีก
“อาตมาถือว่า ‘เรามีบุญมากที่สุด’ เพราะการได้รับใช้พระองค์อย่างใกล้ชิดทำให้อาตมาได้เรียนรู้ข้อธรรม วัตรปฏิบัติอันเคร่งครัดตามพระธรรมวินัย ซึ่งต้องบอกว่า ‘นี่คือวิถีปฏิบัติสงฆ์อย่างเป็นธรรมชาติจริงๆ’”
6.พระกรณียกิจครั้งสำคัญของสมเด็จพระญาณสังวร
เจ้าพระคุณสมเด็จฯทรงได้รับเลือกจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ให้เป็นพระอภิบาลของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในระหว่างที่ทรงพระผนวชอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหารในปี พ.ศ. 2499
ติดตามอ่านเรื่องราวของพระสังฆราชทั้ง 19 พระองค์ พร้อมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระสังฆราชได้จากนิตยสาร Secret ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2558
บทความน่าสนใจ
สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระโอวาท “อาชชวธรรม” วันวิสาขบูชาโลก