“สมหมาย ขายกางเกง ” ธุรกิจของวัยรุ่นหัวการค้า
ไม่มีทฤษฎีใดที่บ่งชี้ว่า การทำธุรกิจให้สำเร็จ ควรเริ่มต้นที่อายุเท่าไหร่ แม้จะยังเป็น “วัยรุ่น” ก็สามารถทำธุรกิจของตัวเองได้ดังเช่น น็อต – ชนะชัย พฤกษชัต นักศึกษาชั้นปี 2 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของกิจการ ขายกางเกง ออนไลน์ “สมหมาย ขายกางเกง” ที่ทั้งโดนใจวัยรุ่นและทำรายได้ไม่น้อย
“จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ คือ ตอนเรียนใกล้จบ ม.6 ผมต้องหากางเกง สำหรับใส่เล่นดนตรี งานปีใหม่ของโรงเรียน จึงเริ่มเดินหาตามร้านค้า ขายกางเกง และค้นหาในอินเทอร์เน็ต แต่ไม่มีของที่ถูกใจเลย ผมจึงเห็นช่องว่างทางการตลาดตรงนี้
“ปกติผมเป็นคนที่ชอบซื้อของออนไลน์อยู่แล้ว เรื่องธุรกิจผมก็ชอบศึกษาหาความรู้ จึงคิดว่าน่าจะขายของทางอินเทอร์เน็ตนี่แหละ ผมเริ่มลงทุนจากเงินเก็บ 1,600 บาท โดยนำมาซื้อกางเกงแบบที่ตัวเองชอบ และเป็นไซส์ตัวเองมา 6 ตัว เพราะถ้าขายไม่ได้ก็เอาไว้ใส่เอง แล้วใส่ถ่ายรูปเพื่อลงขายในเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นสื่อที่คนวัยผมเข้าถึงได้ง่ายที่สุด ส่วนราคาก็ตั้งไม่แพง กำไรไม่ถึงร้อย เพราะตั้งเป้าไว้ว่าแค่ว่า ถ้าขายได้วันละตัวสองตัว ก็ไม่ต้องขอเงินค่าขนมจากพ่อแล้ว
“อีกส่วนที่สำคัญคือ การตั้งชื่อแบรนด์ให้ติดหู ผมเริ่มจากตั้งคีย์เวิร์ดก่อนคือ ‘ขายกางเกง’ ที่ต้องตั้งให้ชัดเพื่อเวลาที่เสิร์ชในกูเกิลจะได้เจอง่าย จากนั้นก็หาคำที่คล้องจองติดหูให้คนจำได้แม่น จึงเป็นที่มาของ ‘สมหมายขายกางเกง’
“จากกางเกง 6 ตัวแรกในวันที่เปิดร้านยอดขายก็เติบโตมาตลอด มีออร์เดอร์ทุกวันผ่านไปสัก 5 เดือนก็เกิดปัญหาสินค้าไม่พอขายจึงเปลี่ยน จากสั่งสินค้าทีละน้อยมาเป็นการจ้างผลิต แต่พอถึงช่วงสอบมิดเทอมแรกของการเรียนปี 1 ก็เริ่มเกิดปัญหาแพ็คของส่งไม่ทัน จนผมคิดจะดร็อปเรียนสักสองสามวิชามาทำงาน พอดีมีคนมาเสนอบริการโกดังเก็บสินค้าและรับจ้างบรรจุของส่งให้ จึงแก้ปัญหาได้
“ต่อมาผมเห็นว่าต้องใช้บริการของโกดังนี้ไปเรื่อย ๆ จึงร่วมลงทุนเป็นหุ้นส่วนกับธุรกิจนี้เสียเลย เพราะเห็นเทรนด์ของตลาดขายของออนไลน์ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งยังเป็นการลดต้นทุนของเราเอง โดยการแบ่งให้ลูกค้ารายย่อย ๆ มาเช่า แล้วจ้างคนมาดูแลทั้งงานของเราและงานของลูกค้าด้วย
“เมื่อมีโกดังเก็บสินค้าและจ้างคนมาช่วยทำงานแล้ว ผมจึงลงโฆษณาสินค้าได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องเกรงใจตัวเองเหมือนเมื่อก่อนที่ว่า วันนี้มีเรียนตอนบ่าย ลงโฆษณานิดหน่อยแล้วกัน เพราะจะแพ็คของไม่ทัน หรือการสต๊อกสินค้า เพิ่มสี เพิ่มแบบก็ทำเรื่อย ๆ ไม่ต้องกลัวว่า จะไม่มีที่เก็บเหมือนเมื่อก่อน ที่เก็บไว้ในห้องนอนที่หอพัก
“สิ่งที่ลูกค้าติดใจสมหมายขายกางเกงคงเป็นเรื่องของ ‘การบริการ’ ซึ่งผมเน้นเรื่องนี้มากจากการที่เคยซื้อของออนไลน์มา สิ่งไหนที่เจอแล้วคิดว่าดี ก็เก็บมาใช้กับร้านของตัวเองเช่น การตอบลูกค้าทางไลน์หรือเฟซบุ๊ก จะมีอีโมติคอนหน้ายิ้มต่อท้ายทุกครั้ง หรือถ้าลูกค้าเห็นรูปนายแบบของเรา แต่เกิดชอบรองเท้าที่นายแบบใส่แล้วถามมา ผมก็ติดต่อกับทางตัวแทนจำหน่ายของรองเท้าให้ แม้ว่าเราไม่ได้ขายเอง แต่ก็ยินดีบริการ
“ผมไม่คิดว่าการทำธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อยจะเสียเปรียบผู้ใหญ่ ผมว่ามีข้อดีมากกว่าเสียอีก เพราะส่วนมากคนจะเอ็นดูว่า เด็กคนนี้ขยันนะ น่าสนับสนุน หรืออยากช่วยข้อเสียเปรียบของผมคือ การไม่มีประสบการณ์มาก่อน แล้วไม่รู้จะไปถามใคร สิ่งที่ช่วยได้คือต้องอ่านหนังสือเยอะ ๆ เพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น มีช่วงหนึ่งผมเคยเปิดรับตัวแทนจำหน่าย เพราะอยากขยายธุรกิจ แต่กลับกลายเป็นว่า ตัวแทนจำหน่ายกลับนำรูปของร้านไปใช้ โดยที่ไม่ขายของให้เราเรื่องนี้ ก็สอนให้ผมต้องรอบคอบมากขึ้น
“เคล็ดลับการทำธุรกิจของผม คือ ความซื่อสัตย์ วันแรกที่เปิดร้าน ผมใช้คำที่ว่า ‘คัดมาขายเหมือนใส่เอง’ เพราะคิดเทียบกับตัวเองว่า เราอยากได้ของดีแบบไหน ลูกค้าก็ควรได้รับแบบนั้น ถ้าขายของไม่ดีผมก็ไม่สบายใจ เช่น ของบางล็อตมีตำหนินิดหนึ่งก็ไม่อยากขายแล้ว หรือถ้าขายก็ต้องบอกลูกค้าตรง ๆ ไปเลยตั้งแต่ต้น ถ้าลูกค้ารับได้ก็จบ เราก็สบายใจ ผมอยากขายของดี ๆ ให้ลูกค้า แต่ก็ไม่อยากขึ้นราคา ทุกวันนี้กำไรไม่มาก แต่เน้นความสนุกที่ได้ขายของมากกว่า
“ผมว่าความรวยเป็นเรื่องที่ไม่ต้องรีบรวยเมื่อไหร่ก็รวยได้ เพราะพอทำธุรกิจมาระยะหนึ่ง ผมเริ่มคิดว่าผมไม่ได้อยากมีเงินเยอะ ๆ แล้ว เป้าหมายในชีวิตตอนนี้ คือ ใช้ชีวิตตามช่วงวัยอย่างที่ควรจะเป็น เพราะช่วงเรียนปี 1 ผมแทบไม่มีเพื่อนเลย เรียนเสร็จก็รีบกลับไปแพ็คของส่งลูกค้า ตอนนี้จึงเริ่มจัดสมดุลชีวิตให้ดีระหว่างงาน เรียนและการใช้ชีวิต
“ถึงวันนี้ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จ หรือมาไกลกว่าคนอื่น ผมไม่ได้ยึดว่า นี่คือความสำเร็จ ผมแค่โชคดีที่ธุรกิจไปได้ดี
“ผมคิดอย่างเดียวว่า ถ้าวันหนึ่งล้มเหลวจนไม่เหลืออะไร ก็แค่กลับไปเป็นเด็กคนหนึ่งเท่านั้นเอง ที่ผ่านมาก็ได้กำไร ได้ประสบการณ์ชีวิต จากการทำธุรกิจนี้มาเยอะแล้ว”
เรื่อง เชิญพร คงมา ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี สไตลิสต์ ณัฏฐิตา เกษตระชนม์
บทความน่าสนใจ
“ความสำเร็จ” วัดได้จาก “ความสุข” วรวิทย์ ศิริพากย์ เจ้าของแบรนด์เครื่องหอมปัญญ์ปุริ
กชพรรณ วิรุฬห์รักษ์สกุล จากแม่ค้าเร่สู้ชีวิต สู่เศรษฐีร้อยล้าน
ทนง ลี้อิสสระนุกูล นักธุรกิจหมื่นล้าน ผู้บริหารธุรกิจตามรอยพระยุคลบาท